รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีวางเสาหลักเมือง

21 เมษายน พุทธศักราช 2325 : รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีวางเสาหลักเมือง

ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 1144 ปีขาล จัตวาศก หรือวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จเข้าพระนครปราบดาภิเศก แล้วมีพระราชโองการให้ตั้งกรุงเทพมหานครยังฝั่งบุรพทิศจากนั้นจึงได้มีพระราชดำรัสสั่งให้ พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก ได้ตั้งพิธียก “เสาหลักเมือง” ณ วันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ

อาจารย์เทพ สาริกบุตร ผู้รู้ได้เล่าถึงขั้นตอนงานพระราชพิธีนี้อย่างละเอียด โดยตอนหนึ่งได้กล่าวว่า ในการฝัง “เสาหลักเมือง” ซึ่งได้กระทำในวันที่ 21 เมษายน พุทธศักราช 2325 นั้น การประกอบพิธีหาใช่จะเป็นไปโดยเรียบร้อยไม่ ด้วยปรากฏว่า เมื่อโหราฯ ย่ำฆ้องบอกกำหนดพระฤกษ์ ชีพ่อพราหมณ์เป่ามหาสังข์แกว่งบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมดุริยางค์ แตรสังข์และพิณพาทย์ เจ้าหน้าที่ประจำปืนใหญ่เป็นมหาพิชัยฤกษ์เริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงสู่หลุม โดยวางไว้บนแผ่นศิลายันต์

 

ทันใดนั้นก็ได้เกิดเหตุมหัศจรรย์ขึ้น เมื่อได้พบงูตัวเล็กๆ 4 ตัวลงไปอยู่ในหลุม ขณะเลื่อนเสาลงหลุม ทั้งๆ ที่ก่อนเริ่มพิธีมิได้มีผู้ใดพบเห็น ทำให้สายเกินจะแก้ได้ งูทั้งสี่จึงถูกฝังไปพร้อมกันในคราวนั้นเอง

 

เหตุดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเรียกประชุมเหล่าราชบัณฑิตโหราจารย์ พระราชาคณะและผู้รู้ทั้งปวงซึ่งที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์นี้เป็นอวมงคลนิมิต แต่มิอาจบอกได้ว่าจะปรากฏผลออกมาอย่างใด นอกจากจะลงความเห็นว่า งูเล็กทั้งสี่จะเป็นมูลเหตุนำความเสื่อมมาสู่


                 “พิธีตั้งเสาหลักเมือง” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบพระราชพิธีสะเดาะห์เคราะห์ ประกอบกับเวลานั้นบังเกิดมีศึกใหญ่กับพม่าที่เรียกว่าสงคราม 9 ทัพ อีก 7 ปี ต่อมาเมื่อเกิดฟ้าผ่าไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำรัสว่า สิ้นพระเคราะห์เมืองแล้ว และจะถาวรลำดับกษัตริย์ถึง 150 ปี คือถึงปี พ.ศ. 2475

เรื่องนี้ คุณฟองสนาน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโหราศาสตร์ได้กล่าวในงาน สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา ประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 “เปิดฟ้าอ่านดาว สืบสาวตำนานดวงเมือง” ไว้ว่า

“ดวงเมืองคอดกิ่ว 7 ปี 7 เดือน คือดวงเมืองตอนตั้งเสาหลักเมือง ดวงเมืองตก 7 ปี 7 เดือน หลังจากนั้นจะลำดับถาวรกษัตริย์ไปอีก 150 ปี ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงเถียง ทรงบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ได้เลยว่าคนไทยเขียนผิด 150 นี่มัน 500 ปี เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะแค่ 150 ปี ปรากฏว่า 150 ปี 2475 แม่นยิ่งกว่าตาเห็น ทรงแม่นยิ่งกว่าตาเห็น…”

ต่อมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้บรรจุดวงชะตาพระนครอีกครั้ง ด้วยเหตุที่หลักเมืองเก่าชำรุด โดยมิได้ระบุว่ามีเหตุผลอื่นประกอบด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดีหากจะทรงแก้ไขดวงชะตาพระนครใหม่ก็เป็นไปด้วยทรงพระปรีชาสามารถในทางโหราศาสตร์ยิ่งของพระองค์

ทั้งนี้ ดวงชะตาพระนครที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงทำขึ้นใหม่นี้ไม่เป็นที่ปรากฏแพร่หลายทั่วไป การทำนายดวงเมืองจากอดีตถึงปัจจุบันก็ยังยึดตามดวงชะตาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 ทรงวางไว้เดิมนั่นเอง


อ่านเพิ่มเติม :
กระทรวงวัฒนธรรม ฉลองใหญ่ “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” 21-25 เม.ย. นี้7
ผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ กับกำเนิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
ถนนแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : ถนนเก้าสายสั้นๆ ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน
“สวนลุมพินี” สวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ กับที่มาของชื่อ “ลุมพินี"
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 เมษายน 2560


ขอบคุณที่มา : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_8473 

Visitors: 197,946