หลักชัย แกนเมือง ตามตำราพิไชยสงคราม ในรัชกาลที่ 1
การสร้าง “หลักชัย แกนเมือง” ตาม “ตำราพิไชยสงคราม” ในรัชกาลที่ 1
หลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ คือสัญลักษณ์แห่งการตั้งเมืองใหม่ โดยมีนัยยะเพื่อให้เมืองมีความมั่นคง มีชัยและรุ่งเรืองสืบต่อไป การตั้งหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเป็นการ “ตั้งเสาหลักของเมือง” ณ บริเวณที่มีชื่อเดิมว่า “บางกอก” “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” และ “กรุงธนบุรี” ตามลำดับ โดยมีการตั้งหลักเมืองอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
การใช้ตำราพิไชยสงครามในการประกอบการย้ายเมืองหลวง และพิจารณาเพื่อหาพิกัดองค์ประกอบของศูนย์กลางเมือง และให้ตั้งเสาหลักของเมืองนี้ พระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 ได้ให้มีการย้ายศูนย์กลางเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาไปฝั่งตะวันออก และโปรดให้มีการตั้งหลักเมืองใหม่ด้วยนั้น เป็นการตั้งหลักเมืองตาม ตำราพิไชยสงคราม
ทั้งนี้เนื่องจากรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้านความมั่นคงมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า และมีตำแหน่งเป็น “แม่ทัพ” เมื่อครั้งสมัยกรุงธนบุรี ทำให้ทรงเชี่ยวชาญการศึก และเข้าใจตำราพิไชยสงคราม การตั้งหลักเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงมีการอ้างอิงการตั้งทัพหรือแต่งทัพ ที่สอดคล้องกับภูมิประเทศและสภาพแวดล้อม โดยพิจารณาลักษณะของการตั้งทัพตามตำราของนามทั้งแปด คือ
ครุฑนาม คือ สถานที่อันภูมิประเทศมีภูเขาจอมปลวก ต้นไม้ 1 ต้นสูงใหญ่
พยัคฆนาม คือ ตั้งทัพอยู่ริมทางแนวป่า
สิงหนาม จะต้องมีต้นไม้ใหญ่ 3 ต้นเรียงกัน มีภูเขาและจอมปลวกใหญ่มาก
สุนัขนาม คือ ตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้านหรือหนทางโบราณเรียงรายไปตามทาง
นาคนาม กองทัพจะต้องตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ ห้วยน้ำไหล
มุสิกนาม คือ ดินมีโพรงปลวก อันเป็นรูคล้ายกับหนูอยู่
อัชนาม ตั้งอยู่กลางทุ่ง เหมือนฝูงเนื้ออยู่
คชนาม คือ ภูมิประเทศมีป่าไม้ มีหนามและหญ้า อันเป็นอาหารของช้าง
แสดงการตั้งทัพในลักษณะ นาคนาม แบบ ฤกษ์นาคร ที่สอดคล้องกับ การกำหนดที่ตั้งของพระราชวังต่างๆ รวมถึงตำแหน่งหลักเมืองที่ หัวนาค ตาม ตำราพิไชยสงคราม (ภาพจาก “ตำราพิไชยสงครามของกรมศิลปากร”)
ด้วยรัชกาลที่ 1 เข้าพระราชหฤทัยชัยภูมิของ “บางกอก” ที่มีลักษณะตรงกับการตั้งทัพตามคติ “นาคนาม” กล่าวคือ เป็นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ดังนั้น ในการเลือกที่ตั้งศูนย์กลางของเมือง และการตั้ง “หลักเมือง” พระองค์จึงทรงเล็งเห็นประเด็นของ “ชัยภูมิ” เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงดูฤกษ์ยาม วัน และเดือน ที่เหมาะสมตามคติ “โหราศาสตร์” ในการลงหลักเมืองตามมาเป็นลำดับ
อ่านเพิ่มเติม :
21 เมษายน พุทธศักราช 2325 : รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ทำพิธีวางเสาหลักเมือง
ผังเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ กับกำเนิดสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดบางส่วนจากบทความ “การสร้าง “หลักชัย แกนเมือง” เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” โดย สวรรค์ ตั้งตรงสิทธิกุล ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2560
ขอบคุณที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_15683