หลักการวางอธิกมาสและอธิกวาร

         [อธิกวารก่อนเสียกรุง: รูปแบบที่(อาจ)อธิบายได้]

มีประเด็นที่ผมเองก็ทำการค้นคว้ามาพอสมควร แล้วผมก็ยินดีจะนำเสนอ เกี่ยวกับปัญหาที่นักปฏิทินไทยยังถกกันไม่จบ ว่าด้วยเรื่องของการวางอธิกวาร ที่ดูเหมือนจะมีหลักการ แต่ก็ไม่มีหลักการที่สามารถจับต้องได้จริง ๆ

พระยาบริรักษ์เวชการ เคยกล่าวไว้ในบทความ "หลักการวางอธิกมาสและอธิกวาร" ถึงหลักการวางอธิกวาร ซึ่งมีเป็น ๒ นัย นัยแรกพิจารณาฤกษ์พระจันทร์ ณ วันเข้าพรรษา ถ้ายังไม่ถึงฤกษ์ที่ ๒๑ อุตราษาฒ ก็ต้องมีการเพิ่มอธิกมาสหรืออธิกวารตามแต่กรณี เพื่อให้ฤกษ์พระจันทร์ถึงฤกษ์ที่ ๒๑ หรือเลยไปกว่านั้น นัยหลังกำหนดในรอบ ๓๘ ปี จะมีอธิกวารทั้งหมด ๗ ครั้ง ประมาณ ๕ - ๖ ปีต่ออธิกวาร ๑ ปี

ซึ่งในบทความนั้นเอง ท่านผู้เขียนได้วิจารณ์หลักการวางอธิกวารทั้ง ๒ นัย ว่าไม่สามารถใช้ได้จริง เพราะอธิกวารที่มีการวางจริงนั้น ก็มิได้ห่างกันในระยะ ๕ - ๖ ปีเสมอไป และโดยการพิจารณาฤกษ์พระจันทร์วันเข้าพรรษา จากตัวอย่างตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ - ๒๔๙๙ ก็ไม่สามารถบ่งชี้การเป็นปีอธิกมาส ปีอธิกวาร หรือปีปกติได้อย่างชัดเจน

แต่ถึงกระนั้น ผมเองก็ยังมีข้อสันนิษฐาน ว่าหลักการพิจารณาฤกษ์พระจันทร์ อาจจะได้มีการใช้จริง ๆ อนุมานจากรูปแบบของปฏิทินโหรในสมัยโบราณ (ดังในภาพแรก: ปฏิทินโหร สมุดไทย จุลศักราช ๑๒๐๘ จาก CMUL Digital Heritage Collection มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ใน ๑ หน้าของปฏิทินโหร ซึ่งโหรสมัยโบราณจะนิยมคำนวณเป็นรายปักษ์นั้น แต่ละวันใน ๑ ปักษ์ จะมีการคำนวณที่สำคัญ ๔ ประการ ได้แก่
- สมผุสอาทิตย์: ตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนเส้นสุริยวิถี เทียบกับกลุ่มดาวจักรราศี ๑๒ กลุ่ม
- สมผุสจันทร์: ตำแหน่งของดวงจันทร์เมื่อ project ลงบนเส้นสุริยวิถี เทียบกับกลุ่มดาวจักรราศี ๑๒ กลุ่ม
- ฤกษ์: สมผุสจันทร์ที่ถูกแปลง เทียบกับตำแหน่งดาวนักษัตรฤกษ์ ๒๗ กลุ่มบนเส้นสุริยวิถี
- เพียร: ดิถีจริงของดวงจันทร์ คิดจากสมผุสจันทร์ หักลบด้วยสมผุสอาทิตย์ แปลงเป็นหน่วยดิถี ๑ เดือนจันทรคติมี ๓๐ ดิถี แต่ในปฏิทินโหรมักตัดค่าดิถีเป็นรายปักษ์ ๑๕ ดิถี

จากตรงนี้ ผมเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่ในการวางอธิกวารเอง ถึงจะใช้ฤกษ์ในการพิจารณา ก็อาจจะมิได้ใช้เพียงลำพัง แต่โหรผู้พิจารณาการวางอธิกวารก็สามารถนำเพียรมาพิจารณาประกอบด้วยได้

เช่นนี้แล้ว ผมจึงทำการคำนวณฤกษ์และเพียร ณ วันเข้าพรรษา ก่อนและหลังการวางอธิกมาส/อธิกวาร ตั้งแต่ปีจุลศักราช ๑๐๔๖ - ๑๑๒๙ หรือพุทธศักราช ๒๒๒๗ - ๒๓๑๐ ทั้งหมด ๘๔ ปี ซึ่งมีหลักฐานปฏิทินย้อนหลังที่พระยาบริรักษ์เวชการ ได้ค้นคว้าไว้ แนบท้ายบทความ "หลักการวางอธิกมาสและอธิกวาร" และในช่วงนั้นเอง ก็เป็นช่วงเวลาก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ที่เป็นไปได้ว่าความเข้าใจเรื่องหลักการวางอธิกมาสและอธิกวารเอง ก็น่าจะยังดำรงอยู่ ก่อนที่จะ "ขาดช่วง" ไปในสถานการณ์การเมืองภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา

ได้ฤกษ์และเพียรทุกปีแล้ว นำมา plot graph ก็จะได้ออกมาดังในภาพที่ ๒

มีจุดที่น่าสนใจ เหมือนว่าจะเป็น "ฉันทามติ" ของโหรในระยะ ๘๔ ปีที่กล่าวถึงนี้ เพราะในวันเข้าพรรษาแทบทุกปี เพียรไม่ต่ำกว่า ๑๕ ดิถี และฤกษ์เองก็ไม่ต่ำกว่าฤกษ์ที่ ๒๑ หรืออย่างอนุโลมที่สุด บาทสุดท้ายของฤกษ์ที่ ๒๐ ก็นับว่าใช้ได้เหมือนกัน

ถ้าเอาฉันทามตินี้พิจารณาการวางอธิกวารในรอบ ๘๔ ปีสุดท้ายก่อนการเสียกรุง ก็สามารถอธิบายได้ แม้กระทั่งการวางอธิกวารเคียงกัน ๒ ปี จุลศักราช ๑๐๙๓-๑๐๙๔ ถึงแม้ว่าในจุลศักราช ๑๐๙๓ ฤกษ์เข้าพรรษาจะถึงฤกษ์ที่ ๒๑ โดยไม่ต้องวางอธิกวารก็ตาม แต่เพราะเพียรเข้าพรรษาทั้ง ๒ ปี ยังไม่ถีง ๑๕ ดิถี จึงต้องวางอธิกวารเคียงกัน ถึงขนาดที่ว่าต้องระบุไว้เป็นหลักฐานในจดหมายเหตุโหร ถึงแม้จะมิได้ระบุเหตุผลเบื้องหลังก็ตาม

มีกรณีที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็น man-made error อย่างเช่นปีจุลศักราช ๑๐๖๖ ซึ่งควรจะเป็นปีอธิกวาร แต่มิได้วางอธิกวารในปีนั้น แต่ก็วางในปีถัดไป จุลศักราช ๑๐๗๗ ซึ่งความผิดพลาดสะสมจนเพียรของวันเข้าพรรษาก่อนวางอธิกวารถอยไปที่ ๑๔ ดิถีต้น ๆ เท่านั้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฉันทามตินี้ ก็เสมือนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงปีท้าย ๆ ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยา ที่เริ่มมีการวางอธิกวารล่วงหน้าก่อนปีที่ควรจะวางอธิกวารจริง ๆ เช่นในปีจุลศักราช ๑๑๒๖ และ ๑๑๒๙ เอง

จุดที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือเรื่องของฤกษ์และเพียรก่อนการวางอธิกมาส/อธิกวาร ของปีทั้ง ๓ กลุ่ม จาก graph นั้น ที่กลุ่มปีอธิกมาสดูจะเกาะกลุ่มกันอย่างชัดเจน ในขณะที่กลุ่มปีอธิกวารและปีปกติมาสวาร ก็มิได้ปะปนกันมาก ก็ยังเป็นประเด็นที่อาจจะกล่าวถึงต่อไปได้ครับ

ที่มา : https://www.facebook.com/SiamPratidin

 

Visitors: 197,947