โหราศาสตร์กับมนุษย์โลก

                          โหราศาสตร์กับมนุษย์โลก     

            ความเป็นมาของโหราศาสตร์กับมนุษย์โลก

ความสำคัญของการศึกษาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือการศึกษาถึงความเป็นมาของเรื่องนั้น ๆ เพื่อเป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องดังกล่าว

การศึกษาโหราศาสตร์ก็จำเป็นต้องศึกษาถึงประวัติและความเป็นมาของเรื่องโหราศาสตร์เช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้เราทราบว่า โหราศาสตร์ มีประวัติความเป็นมาในโลกนี้นับเป็นเวลาหลายพันปีล่วงมาแล้ว

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  โหราศาสตร์ถือกำเนิดขึ้นในทวีปเอเชียกลางเมื่อประมาณ 5000 ปีก่อนคริสตกาล(BC) หรือประมาณ 6000 – 7000 ปีล่วงมาแล้ว (ปัจจุบัน: พ.ศ. 2554) แถบลุ่มแม่น้ำไทกรีส–และแม่น้ำยูเฟรตีสในดินแดนเมโสโปเตเมีย และได้รับการพัฒนาต่อ ๆ มา โดยชาวกรีกและชาวอียิปต์ ฯลฯ จวบจนสืบเนื่องมาถึงยุคปัจจุบัน    

 ตำราโหราศาสตร์ไทยหลายอาจารย์กล่าวไว้ในทำนองเดียวกันว่า

มูลฐานโหราศาสตร์นั้นมีความเป็นมา “เนื่องจากมนุษย์สมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนมีพงศาวดารและก่อนพุทธกาล มนุษย์เพิ่งรู้จักสร้างบ้านเรือนอาศัยรวบรวมขึ้นเป็นหมวดหมู่เป็นประเทศชาติโดยลำดับเกิดการเชื่อถือเกี่ยวกับพวกเทวดาต่าง ๆ โดยไร้เหตุผล และมนุษย์สมัยนั้นคงมีเวลาว่างมาก เกิดการซอกแซกซุกซน จึงเกิดการพิจารณาท้องฟ้าขึ้นอย่างละเอียดและเฝ้าดูอย่างเพลิดเพลินก็เห็นเป็นรูปดาวต่าง ๆ ที่มองเห็น เช่น ดาวไถ ดาวจระเข้ ดาวลูกไก่ ฯลฯ ยิ่งดูนานเข้าดาวรูปต่าง ๆ เหล่านี้ก็เคลื่อนที่ไป บางทีมองไม่เห็นบนท้องฟ้าหลาย ๆ เดือน การสังเกตการณ์ทำให้เกิดผลเป็น 2 ประการ คือ

1.   ทำให้มนุษย์รู้จักกับดาวเป็น 2 ประเภท คือ รู้จักดาวอยู่กับที่และรู้จักดาวเคลื่อนที่

          2.   ทำให้มนุษย์รู้จักกับดาวต่าง ๆ รวมทั้งอาทิตย์และจันทร์หมุนรอบโลก 

โดยอาศัยความสังเกตจากดวงดาวรู้วิถีของดวงดาวต่าง ๆ ก็รู้จักกับดาวเคลื่อนที่และดาวอยู่กับที่ดีขึ้นมาก แล้วเทียบให้เป็นนิยายโบราณคดีเกี่ยวกับกำเนิดดาวบ้าง นิยายสมมติให้เป็นสัตว์ต่าง ๆ บ้าง เป็นยักษ์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง ครั้นแล้วจึงแบ่งแผนผังดาวอยู่กับที่และดาวเคลื่อนที่รอบโลกออกเป็น 12 ส่วน มีชื่อเรียกแผนผังไว้ทุกราศีเพื่อกันลืม เมื่ออาทิตย์เดินมาถึงที่เดิมก็นับเป็นหนึ่งปี การนับวัน เดือน ปี และการแบ่งฤดูกาลคงเกิดขึ้นตอนนี้เอง

         สมัยดึกดำบรรพ์ต่อมาที่มีพงศาวดารแล้ว แต่ยังไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ดาวยังไม่มีกล้องดูดาว แต่ทำให้มนุษย์รู้จักโลกดีขึ้น สืบเนื่องมาจากจันทรุปราคาก็ดี สุริยุปราคาก็ดี ล้วนเป็นสาเหตุที่มนุษย์รู้ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเหตุใดเงาของโลกในดวงจันทร์มีลักษณะกลม มนุษย์จึงเข้าใจว่าโลกกลมและเป็นดาวดวงหนึ่ง และได้รู้จักรูปร่างของจักรวาลแจ่มสว่างยิ่งขึ้น

หลายร้อยปีผ่านมาก็พบการติดปฏิทินหรือปูมขึ้นมาซึ่งเป็นเอกสารแสดงการโคจรของดาวภายในระยะปีสมัยนั้นมีปฏิทินเกิดขึ้นจากชายไอยคุปต์ตั้ง 3689 ปีก่อนพุทธกาล มีรูปเครื่องหมายแสดงดาวเคราะห์และอาศัยแสงของดาวเหนือในการเดินทาง

         ในประเทศจีนก็มีการทำปฏิทินขึ้น เมื่อรัชสมัยอึ้งตี่ฮ่องเต้ก่อนพุทธกาล และรู้วิธีคำนวณสุริยคราส จันทรคราส มากกว่า 300

           

     สมัยต่อมาโหราศาสตร์ได้เจริญขึ้นโดยลำดับมาคู่กับดาราศาสตร์ เมื่อมนุษย์คิดเครื่องหมายใช้แทนคำพูดขึ้นได้ ก็จารึกเหตุการณ์และจดจำไว้รวบรวมร้อยกรองขึ้นเป็นตำรา ในชั้นเดิมก็รวมอยู่ด้วยกันกับดาราศาสตร์ เมื่อการคำนวณเริ่มเจริญขึ้นประกอบกับผู้ใหญ่สมัยโบราณเลื่อมใสทั้งสิ้นปฏิทินจึงเจริญขึ้นรวดเร็ว การนัดหมายทำพิธีทางศาสนาก็อาศัยปฏิทินเหล่านี้





 เมื่อมีเครื่องมือพิเศษดูดาวได้ชัดเจนยิ่งกว่าแต่ก่อน วิชาดาราศาสตร์ก็เจริญขึ้นมาได้พบเห็นดาวเพิ่มเติมขึ้นกว่าเก่า สะดวกแก่การคำนวณขนาดของดวงดาว น้ำหนักแร่ธาตุและแสงสี ระยะของดวงดาวต่าง ๆ นับว่าเจริญยิ่งขึ้นทวีคูณ เมื่อดาราศาสตร์เจริญขึ้น วิชาโหราศาสตร์ก็มีคนเอาใจใส่มากขึ้นตลอดเวลา พร้อมกับสิ่งแปลกประหลาดหลายประการได้จารึกเป็นตำราทวีขึ้นจนตราบเท่าทุกวัน” (สิงห์โต สุริยาอารักษ์.  2554:  ออนไลน์)


                                                                                  (กล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสง ไอแซค นิวตัน สร้างได้ ค.ศ. 1668)

     “ศาสตราจารย์คนแรกที่คิดวิชานี้ขึ้นได้นั้นไม่มีใครรู้จักเพราะนานเกินควรแก่การคาดคะเนแต่เชื่อว่าเกิดขึ้นในทวีปอาเซียแห่งหนึ่งแห่งใดก่อนเป็นเวลา๕๐๐๐ ปีมาแล้ว และแพร่หลายไปตามประเทศน้อยใหญ่ เช่น ไอยคุปต์ กัลเดีย เปอร์เซีย ธิเบต จีน ญี่ปุ่น พม่า มอญ เขมร ไทย ฯลฯ

โหราศาสตร์เจริญรุ่งเรืองมากในแถบบิโลเนีย สมัยกัลเดียครอบครอง ที่ปรากฏว่าเป็นผู้แบ่งจักรวาลออกเป็น 12 ราศีนั้น สมัยนั้นก็ยังกล่าวว่าอาจารย์เดิมเป็นเทวดาก่อนท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นปลานำคัมภีร์ดาวมาให้(น่าจะเป็นพวกเสมไมต์หรือกุสไสท์ผู้รู้วิชาดาวมาทางเรือ กล่าวกันว่าขึ้นที่อ่าวเปอร์เซียเป็นครูคนแรกที่สอนวิชาดาวให้กับพวกกัลเดี

ชาวกรีกโบราณเป็นผู้นำโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ จากทวีปอาเซียไปแพร่หลายในทวีปยุโรปอีกต่อหนึ่ง”(สิงห์โต สุริยาอารักษ์.  2554: ออนไลน์)      

         ข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าของนักโหราศาสตร์ในอดีตทางด้านตะวันตกและจากนักศึกษาโหราศาสตร์ยุคปัจจุบันกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของโหราศาสตร์ไว้ในทิศทางเดียวกันกับตำราโหราศาสตร์ของไทย แต่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น และมีรายละเอียดเป็นหลักฐานที่สร้างความมั่นใจได้มากขึ้น ก็ประมาณการไว้ว่าโหราศาสตร์เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือประมาณ 3000 ปีก่อนคริสตกาล (น่าจะเป็น 5000 BC: ผู้เขียน) และมีแหล่งกำเนิดเดียวกันในเอเชียกลาง

                                                                                                                อักษรรูป ลิ่มหรือคูนิฟอร์ม(cuneiforms)  
  จากหลักฐานการค้นพบทางโบราณคดีในคาบสมุทรอารเบียปัจจุบัน (ภารต ถิ่นคำ.ม.ป.ป.: ออนไลน์) บริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส พบว่าเคยมีกลุ่มอาณาจักรโบราณที่ชาวกรีกให้ชื่อว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ 2 สาย หรือดินแดนแห่งเมโสโปเตเมีย มีการขุดสำรวจค้นพบว่าในสมัยนั้นมีการใช้อักษรรูปลิ่มหรือที่เรียกว่า คูนิฟอร์ม(cuneiforms) กดจารึกบนแผ่นดินเหนียวแล้วนำมาตากให้แห้ง ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุดย้อนหลังไปได้กว่า 5000 ปี (แสดงว่ามีโหราศาสตร์เกิดขึ้นแล้วในยุคนั้น: ผู้เขียน) 









            

                     แผนที่ดาวของชาวสุเมเรียน

    แผนที่ดาวของชาวสุเมเรียน
เมื่อมีการอ่านแปลโดยเทียบเคียงกับหลักฐานจากแหล่งอื่น ๆ โดยผู้เชี่ยวชาญแล้วได้ความว่าในยุคนั้นดินแดนเมโสโปเตเมียแห่งนี้ มีหลายชนเผ่า ซึ่งแบ่งแยกตามเชื้อชาติได้หลายแขนง เช่น ชนเผ่าสุเมเรียน (Sumerians) ชนเผ่าอัคคาเดียน (Akkadians) ชนเผ่าอะมอไรท์ (Amorites) ชนเผ่าคัสไซท์ (Kassites) ชนเผ่าอัสซีเรียน (Assyrians)และชนเผ่าแคลเดียน (Chaldeans) โดยชนชาติที่ประดิษฐ์ใช้ตัวอักษรนั้น คือ ชาวสุเมเรียน และวิธีการแบบนี้ (cuneiforms) ได้ใช้แพร่หลายกันมาในหลายอาณาจักรของชนเผ่าในย่านนั้นด้วย 

    อาณาจักรบาบิโลเนียใหม่เป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมาก ในสมัยพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ (Nebuchadnezzar, 605-562 ปีก่อนคริสต์ศักราช) พวกคาลเดียนสามารถยกกองทัพไปตีได้เมืองเยรูซาเลม และกวาดต้อนเชลยชาวยิวมายังกรุงบาบิโลนได้เป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการสร้างสวนขนาดใหญ่เรียกว่า สวนลอยแห่งบาบิโลน (Hanging Gardens of Babylon) ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณเพราะสามารถใช้ความรู้ในการทำชลประทาน  ทำให้สวนลอยนี้เขียวขจีได้ตลอดทั้งปี นอกจากนั้นพวกคาลเดียนในบาบิโลเนียใหม่ยังปรับปรุงด้านเกษตรกรรม และเริ่มต้นงานด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางดาราศาสตร์   เกิดจากการสังเกตเงาที่เกิดขึ้นในรอบวัน  จึงนำการเกิดเงา มาใช้ในการบอกเวลา  โดยกำหนดให้ 1 วันมี 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นชั่วโมงแรก  และได้มีการแบ่งสัปดาห์ออกเป็น วัน แบ่งวันออกเป็น 12 คาบ คาบละ 120 นาที  พร้อมกับสังเกตุเห็นการขึ้นลงของดวงอาทิตย์ที่ขอบฟ้า  เคลื่อนย้ายตำแหน่งขึ้น และลง แตกต่างกันในแต่ละฤดู จึงนำมาเป็นตัวกำหนดฤดูกาลเก็บเกี่ยวให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์อีกด้วย

 

ด้วยความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะอุปสรรค ก็ให้เกิดปัญญา และ องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกสรรพสิ่งบนพื้นโลก จากการสังเกตดวงลูกไฟใหญ่ที่ให้แสงสว่าง และความอบอุ่น  เป็นแหล่งก่อให้เกิดสรรพชีวิตขึ้นมากมาย เล็งเห็นความสำคัญของเจ้าลูกไฟดวงใหญ่ดวงนี้ จึงเรียกเจ้าลูกไฟใหญ่นี้ว่า  “ดวงอาทิตย์ ”  จึงได้มีการกำหนดวันเทศกาลต่าง ๆ   และฤดูการเก็บเกี่ยวได้แน่นอนขึ้นกว่าเดิม  อีกทั้งยังค้นพบปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่ดวงอาทิตย์ดับมืดไปในเวลากลางวัน  แล้วก็กลับสว่างขึ้นมาอีกครั้ง ในเวลาใกล้เคียง ซึ่งปัจจุบันเราเรียกว่า “สุริยุปราคา”    ชาวคาลเดียน จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นชาติแรกที่นำความรู้ทางด้านดาราศาสตร์มาทำนายโชคชะตาของมนุษย์ 

ต่อมาอาณาจักรบาบิโลนถูกทำลายและเข้ายึดครองโดยอาณาจักรเปอร์เซีย องค์ความรู้ต่าง ๆ จึงถูกผนวกเข้าด้วยกัน ซึ่งอารยธรรมเปอร์เซียนั้นมีส่วนคาบเกี่ยวและส่งผลในความสัมพันธ์กับอารยธรรมสำคัญในเวลาต่อมาอันได้แก่อารยธรรมของอียิปต์ และอารยธรรมในลุ่มน้ำสินธุของอินเดีย โดยต่างฝ่ายต่างถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนากันไปให้มากยิ่งขึ้น

 

ศิลาจารึกของชาวบาบิโลนแสดงการเกิดสุริยุปราคาในช่วง 518-465 ปีก่อนคริสศักราช

  
สอดคล้องกับความเห็นของ AstroHamburg จากบทความเรื่องประวัติโหราศาสตร์ที่กล่าวว่าได้มีการค้นพบเรื่องเกี่ยวกับโหราศาสตร์ซึ่งบ่งบอกว่าโลกเรานี้ก็มีเรื่องโหราศาสตร์ที่มีหลักฐานแน่ชัดมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่2600 – 2700 ปี ก่อนคริสตกาลมาแล้ว เมื่อมีการขุดค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เมืองนิเนเว (Nineveh) เมืองหลวงของซีเรียโดยพบแผ่นอิฐ (cuneiforms)     บันทึกทางประวัติศาสตร์ 4000 ชิ้น                                   

ซึ่งกล่าวถึงเรื่องของโหราศาสตร์แผ่นอิฐแต่ละแผ่นอธิบายถึงการศึกษาเรื่องดวงดาวรวบรวมไว้เป็น 72 ตอนซึ่งชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์นี้ได้เก็บไว้ที่พิพิธพันธ์แห่งกรุงลอนดอนและหลังจากระยะเวลา 2600 - 2700 ปี (BC) ดังกล่าวแล้ว นักสำรวจก็ยังได้ค้นพบหลักฐานโบราณเกี่ยวกับโหราศาสตร์ของอียิปต์เพิ่มเติมอีก จากหินประดับหลุมศพนักโหราศาสตร์ชาวอียิปต์ชื่อ ฮอเคบ เขาได้ทำเครื่องหมายที่มีรูปดวงหลายดวงไว้บนหินนั้น ซึ่งแสดงว่าในสมัยนั้นก็ได้มีการผูกดวงขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังมีจารึกบนแผ่นหินที่คำนวณเรื่องจักรราศี ชื่อ อนาฟอริโคส(Anaphorikos) ของฮิพซิเคิลส์เมื่อประมาณ 2170 ปีก่อนคริสตกาลซึ่งขุดค้นได้จากเมือง ดนเดอรา (Denderra) รูปจักรราศีนี้มีความกว้างถึง 2 เมตร ปัจจุบันตั้งอยู่ที่พิพิธพันธ์ลูฟว์ กรุงปารีส

 

กล่าวได้ว่า โหราศาสตร์ (Astrology) เป็นศาสตร์ที่มีประวัติมายาวนาน ตั้งแต่มนุษย์เริ่มสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าโดยเป็นศาสตร์ที่เติบโตผสมผสานมากับดาราศาสตร์ (Astronomy) ฯลฯ และเชื่อกันว่ามีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ที่แปลว่า ดินแดนระหว่างแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำไทกริส (Tigris) และแม่น้ำยูเฟรติส (Euphrates) ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ก่อเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อนคริสตกาล (เท่ากับว่าโหราศาสตร์มีอายุ 6000 - 7000 ปีในปัจจุบัน) โดยมีชาวสุเมเรียน (Sumerian) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในดินแดนแห่งนี้และได้ประดิษฐ์การเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกด้วยอักษรคูนิฟอร์ม (cuneiform: มีลักษณะคล้ายลิ่มกดบนดินเหนียว) (อ้างใน ภารต ถิ่นคำ. ม.ป.ป.: ออนไลน์), (AstroHamburg 2554: ออนไลน์) และ (Pallas. 2549:ออนไลน์)                            




                         

ซึ่งได้มีการแบ่งประวัติศาสตร์ของโหราศาสตร์ออกเป็น 5 ยุคด้วยกัน ได้แก่

1.      ยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamian Period)

2.      ยุคกรีก(Hellenistic Period)

3.      ยุคกลาง (Medieval Period)

4.      ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance Period) และ

5.      ยุคใหม่ (Modern Period)

 
       อักษรรูป ลิ่มหรือคูนิฟอร์ม(cuneiforms)

 

ยุคเมโสโปเตเมีย (Mesopotamian Period) ประมาณ 2330 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์ซาร์กอน แห่งอัคคาด (Sargon of Akkad) ได้แผ่ขยายอาณาจักร อัคคาเดียน (Akkadian) ของตนเองเข้ามาครอบคลุมดินแดนเมโสโปเตเมียชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และอียิปต์ ทำให้ความรู้ของดินแดนเหล่านี้ได้ผสมผสานกันเกิดเป็นวิวัฒนาการของความรู้ในด้านต่าง ๆ เกิดขึ้น ทั้งความรู้ด้านการเมืองการปกครอง และความรู้ด้านวัฒนธรรม ฯลฯ โดยมีชาวคาลเดียน (Chaldean) ชนกลุ่มหนึ่งทางตอนใต้ของบาบิโลน เป็นกลุ่มชนผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ทำให้โหราศาสตร์มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก (คำว่า “คาลเดียน” จึงมีความหมายว่านักโหราศาสตร์) แต่หลังจากยุคของพระองค์ประมาณ 100 ปีอาณาจักรอัคคาเดียนก็เสื่อมสลายลง ส่งผ่านมายังยุคที่ชาวเปอร์เซียเข้ามายึดครองและยุคที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) แผ่แสนยานุภาพเข้ามายึดครองประมาณ 334ปีก่อนคริสตกาล

 ในช่วงต้นของยุคเมโสโปเตเมียนี้โหราศาสตร์ยังอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเป็นลางบอกเหตุที่ส่งผลต่ออาณาจักรและกษัตริย์ยังไม่มีการนำมาใช้ในการพยากรณ์ดวงชะตาของบุคคลทั่วไป อย่างไรก็ตามแม้จะเชื่อว่าโหราศาสตร์ก่อกำเนิดในดินแดนเมโสโปเตเมียแต่อาณาจักรอียิปต์ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับเมโสโปเตเมียก็ได้พัฒนาความรู้ดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ไปพร้อมกันด้วยเช่นกันโดยอียิปต์มีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สอดคล้องกับตำแหน่งดาวฤกษ์บนท้องฟ้า

 ยุคกรีก (Hellenistic Period) ประมาณ 334 ปีก่อนคริสตกาลพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ฯ ได้ยึดครองดินแดนเมโสโปเตเมีย อียิปต์ และอิหร่านจนถึงตอนเหนือของอินเดียความรู้โหราศาสตร์โบราณทั้งจากอียิปต์และบาบิโลน ได้พัฒนามาสู่วิทยาการและปรัชญาแบบกรีก จนทำให้อียิปต์กลายเป็นศูนย์กลางของโหราศาสตร์ขึ้นมาและกระจายไปทั่วอาณาจักรของพระองค์

         โหราศาสตร์ยุคกรีกได้นำชื่อเทพเจ้าของตนมาเป็นชื่อดาวเคราะห์แทนเทพเจ้าของเมโสโปเตเมียแต่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ดาวศุกร์หรือเทพีวีนัส (Venus ของโรมันหรือ Aphrodite ของกรีก) ซึ่งตรงกับเทพีอิชตาร์ (Ishtar) ของเมโสโปเตเมียที่เป็นเทพีแห่งสันติสุขฯลฯ   

         นอกจากนี้ เมื่อประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาลนักโหราศาสตร์ชาวกรีก–อียิปต์ได้พัฒนาลำดับของดาวเคราะห์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อลำดับคาลเดียน (Chaldean Order) ที่จัดลำดับดาวจากอัตราการโคจรที่สังเกตเห็นจากโลกจากดาวที่โคจรช้าสุดไปยังดาวที่โคจรเร็วสุดได้แก่ดาวเสาร์ ดาวพฤหัส ดาวอังคาร ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ ดาวพุธ และดวงจันทร์ตามลำดับ ซึ่งลำดับนี้เป็นที่มาของยามสากล (Planetary Hours) และการกำหนดชื่อวันทั้ง7 นั่นเอง
            

       คลอเดียอุส ปโตเลมี(Claudius Ptolemy ค.ศ.100-178) 

       ปรมาจารย์โหราศาสตร์คนสำคัญอีกคนหนึ่งในยุคนี้ ก็คือ คลอเดีอุส ปโตเลมี (Claudius Ptolemy ค.ศ.100-178) ชาวอียิปต์ที่อยู่ในเมืองอเล็กซานเดรีย ได้เขียนตำราโหราศาสตร์คลาสสิคตลอดกาลชื่อ “Tetrabiblos”ที่แปลว่า “ตำรา 4 เล่ม” ซึ่งนำหลักการวิทยาศาสตร์แบบอริสโตเติล (Aristotle) มาสู่หลักโหราศาสตร์ กล่าวถึงธาตุทั้งสี่ จักรราศีแบบสายนะ (Tropical Zodiac) รวมถึงการผูกดวงชะตา ณ เวลาปฏิสนธิ (conception) และเวลาเกิด (birth) เพื่อพยากรณ์ชะตาชีวิตของแต่ละบุคคลโดยเชื่อว่าเวลาปฏิสนธิและเวลาเกิดเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่รับเอาพลังจักรวาลซึ่งแสดงออกทางปรากฏการณ์บนท้องฟ้าและจะชี้ให้เห็นโชคชะตาของบุคคลนั้นผ่านทางตำแหน่งดาวบนท้องฟ้า     ในช่วงนี้เองที่โหราศาสตร์เริ่มมีการแยกจักรราศีออกเป็น 2 ระบบ คือแบบสายนะ (Tropical zodiac) และแบบนิรายนะ (Sidereal zodiac) แบบสายนะซึ่งเป็นที่นิยมของนักโหราศาสตร์ยุคกรีกได้กำหนดจักรราศีโดยเริ่มต้นจุดเมษที่จุดวิษุวัต (vernal equinox) หรือจุดเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิในซีกโลกเหนือของแต่ละปี ขณะที่แบบนิรายนะซึ่งเป็นที่นิยมในอินเดียจะใช้จุดเริ่มต้นราศีเมษโดยอ้างอิงกลุ่มดาวฤกษ์ราศีเมษบนท้องฟ้า ซึ่งแต่เดิมทั้ง 2 จุดเป็นจุดเดียวกัน แต่ภายหลังจุดวิษุวัตได้เคลื่อนไปจากกลุ่มดาวฤกษ์เดิม (อัตราการเคลื่อนที่โดยประมาณ 72 ปี /ต่อ 1องศา)                 

ยุคกลาง (Medieval Period) บางครั้งนักประวัติศาสตร์จะเรียกว่ายุคมืด เพราะเป็นยุคที่โหราศาสตร์แทบจะสาบสูญไปภายหลังอาณาจักรโรมันถูกทำลายโดยอนารยชนในปี ค.ศ. 410 เนื่องจากเป็นยุคที่คริสต์ศาสนาได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงและขยายอำนาจของศาสนจักรไปสู่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายอาณาจักรทำให้ความรู้ความเชื่ออื่นใดที่ไม่สอดคล้องกับคริสตจักรได้ถูกปราบปรามและสูญหายไปจำนวนมากแต่โหราศาสตร์กลับไปรุ่งเรืองในอาณาจักรอิสลามซึ่งเป็นความรู้ที่ถ่ายทอดผ่านทางนักโหราศาสตร์ชาวเปอร์เซีย อาหรับ และยิว ตำราโหราศาสตร์ในยุคกรีกจำนวนมากได้มีการแปลออกเป็นภาษาอาหรับและในตอนปลายของยุคกลางนักโหราศาสตร์ในยุโรปได้เริ่มกลับมาเรียนรู้จากชาวอาหรับอีกครั้ง ในศตวรรษที่ 12 ตำราวิทยาศาสตร์และโหราศาสตร์ภาษาอาหรับได้รับการแปลเป็นภาษาละตินอีกครั้ง      

 


 นอสตราดามุส  (Nostradamus ค.ศ. 1503-1566) 

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance Period) อยู่ในช่วงศตวรรษที่ 15 ถึงศตวรรษที่ 19 ยุคนี้ถือว่าได้เริ่มต้นในอิตาลีโดยการฟื้นฟูศิลปวิทยาการต่างๆที่เคยถูกมองว่าเป็นพวกนอกศาสนากลับมาอีกครั้งหนึ่งเช่น วิทยาการของกรีก เป็นต้น ในยุคนี้มีนักโหราศาสตร์ชื่อดังที่เรารู้จักกันก็คือ นอสตราดามุส  (Nostradamus ค.ศ. 1503-1566) ได้สังเกตวงรอบ 20 ปีของมหาผัสสะระหว่างดาวพฤหัสและดาวเสาร์เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์สำคัญต่างๆ 

            จุดเด่นของโหราศาสตร์ยุคกลางก็คือมีการนำโหราศาสตร์ไปประยุกต์กับเรื่องต่างๆอย่างกว้างขวาง เช่นการเล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) การแพทย์ เวทมนตร์ ฯลฯ ทำให้โหราศาสตร์ดูเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติไปส่งผลให้เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการตื่นรู้หรือ Age of Enlightenment (ศตวรรษที่ 18 - 19) ชนชั้นนำในยุโรปจึงมองข้ามโหราศาสตร์ไปจนเหลือเพียงแค่เป็นเรื่องราวแบบตำนานและปฏิทินโหรทั่วไปเท่านั้น
                                                     

 

                                          

                Alfred Witte นักสำรวจชาวเยอรมันโหราจารย์นักดาราศาสตร์สมัครเล่น
และผู้ก่อตั้งโรงเรียนโหราศาสตร์ฮัมบวร์ก

ยุคใหม่ (Modern Period) ต่อเนื่องจากศตวรรษที่ 18 – 19 จนปัจจุบันนักโหราศาสตร์ได้พัฒนาความรู้ด้านโหราศาสตร์โดยนำความรู้ด้านจิตวิทยามาผสมผสานมากยิ่งขึ้น ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการค้นพบเทคนิคโหราศาสตร์แบบใหม่ขึ้นมาซึ่งพัฒนาในเยอรมัน โดย Alfred Witte (ค.ศ. 1878- 1943) และคณะ ซึ่งประกอบด้วย Friedrich Sirggrun, Ludwig Rudolph, Hermann Lefeldt  ร่วมกันพัฒนา เรียกกันในสมัยนั้นว่า เทคนิคแบบสำนักโหราศาสตร์ Hamburg (อ้างใน ภารต ถิ่นคำ. ม.ป.ป.: ออนไลน์, 4) และเผยแพร่มายังสหรัฐอเมริกาในชื่อของโหราศาสตร์ยูเรเนียน (Uranian Astrology) ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในปัจจุบันรวมทั้งในไทยด้วย

กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการสรุปถึงประวัติความเป็นมาของโหราศาสตร์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างไร และตั้งแต่เมื่อไหร่ ซึ่งคงไม่สามารถเขียนให้ละเอียดครบถ้วนได้ เพราะในบทนี้เป็นเพียงการศึกษาเพื่อให้เป็นความรู้เบื้องต้นประกอบการศึกษาวิชาโหราศาสตร์เท่านั้น ส่วนเรื่องความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทยนั้นจะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป



                                                                                                         
ขอบคุณที่มา  คุณณัฐพล เดชขจร ทีมงานนิตยสาร ต่วย'ตูน
https://sites.google.com/site/buddhistastro/lesson-p-1-horasastr-beuxng-tn/horasastr
https://corona6541.blogspot.com/2014/11/ 



  • 117769163_1774484976023770_7617552941192918914_n.jpg
    จักรวาลวิทยา(เกร็ดความรู้เรื่องไทยศึกษา)จักรวาลวิทยาในพระพุทธศาสนามีเค้าโครงมาจากจักรวาลวิทยาในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งยืนยันว่าโลกมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน (คือเป็น อนันตะ)ในพระพุทธศาสนา...

  • tt-768x481.jpg
    ตุ๊กตา “เสียกบาล” หรือ “เสียกระบาน” แบบไหนที่ใช้เซ่นผี กบาลเป็นของสูง ฉะนั้นการพิจารณาวลี เสียกบาล จึงเป็นการกล่าวถึงของสูง นับเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ต่อความเรียบร้อยหรือความละเอียดอ่...

  • 247466.jpg
    “ดาวย้ายราศี” หรือ “Planetary Ingress” เป็นเรื่องที่มักถูกให้ความสำคัญในแวดวงคนสนใจโหราศาสตร์ บางทีแม้แต่คนที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องพวกนี้ก็มักสอบถามเวลาเจอหน้...

  • สงกรานต์คืออะไร.jpg
    สงกรานต์คืออะไร? อันคำว่า “สงกรานต์ (Songkran)” ที่ไทยเราเอามาใช้นี้เดิมมาจากอินเดียในภาษาสันสกฤตว่า "สงกรานตะ หรือ สงฺกฺราต (सङ्क्रान्त - Saṅkrānta)“ ที่แปลว่า "การข้ามผ่านเข้า...
Visitors: 192,763