โหราศาสตร์ไทยกับความเป็นมา
ความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทย
เราทราบในเบื้องต้นแล้วว่า โหราศาสตร์ เกิดขึ้นในทวีปเอเชียกลางตั้งแต่ก่อนคริสตกาลประมาณ 4000 – 3000 ปี หรือเทียบกับพุทธศักราชของเราก็ประมาณ 4543 – 3543 ปีก่อนพุทธศักราช และถ้านับถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2554)
ก็แสดงว่าโหราศาสตร์เกิดขึ้นมาในโลกนี้ได้ยาวนานกว่า 6000 – 7000 พันปีแล้วนั่นเอง
จะสังเกตได้ว่า การแพร่กระจายหรือการผสมผสานของความรู้ในด้านโหราศาสตร์นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการขยายดินแดนของอาณาจักรต่าง ๆ ในอดีตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายอาณาจักรของกษัตริย์ซาร์กอนแห่งอัคคาด(Sargon of Akkad) ในยุคเมโสโปเตเมีย หรือการขยายอาณาจักรของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ในยุคต้นก่อนจะถึงคริสต์ศักราช ตลอดจนการสงครามขยายดินแดนหรือเมืองขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา โดยเฉพาะประเทศมองโกล พม่า มอญ เขมร ไทย และลาว ฯลฯ ส่วนอินเดียศรีลังกา และจีนนั้นเป็นการถ่ายทอดทางด้านวัฒนธรรมและการค้าขายมากกว่าการสงคราม
เราจะศึกษาถึงความเป็นมาของ โหราศาสตร์ไทย จากตำรับตำราโหราศาสตร์ไทยในอดีตเป็นหลัก ผสมผสานกับการค้นคว้าจากสากลของนักโหราศาสตร์ในยุคใหม่ควบคู่กันไป
ซึ่งจะต้องยอมรับในความรู้ทั้งสองด้านแล้วนำมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือความถูกต้องให้ใกล้เคียงที่สุดเพื่อเป็นการพัฒนา (development) วิชาโหราศาสตร์ไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น แม้ว่าตำรับตำราโหราศาสตร์ไทยที่มีมาในอดีต จะสูญเสียไปพร้อมกับการเผาผลาญกรุงศรีอยุธยาก็ตาม แต่ตำราในยุคหลังก็ยังได้รับการถ่ายทอดมาบ้างจากรุ่นสู่รุ่น และจากตำราที่ยังไม่ถูกทำลาย
จากการศึกษาประวัติศาสตร์กล่าวได้ว่า ไทยได้รับวัฒนธรรมทางโหราศาสตร์มาจากอินเดียตอนใต้ ประมาณพุทธศักราช 200 ปีเศษ (สิงห์โต สุริยาอารักษ์. 2554) (สอดคล้องกับยุคเมโสโปเตเมียหรือประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล: ผู้เขียน /+543 ปี) โดยผ่านทางอาณาจักรเขมรที่ชาวอินเดียภาคใต้และพราหมณ์หนีภัยสงครามการขยายแสนยานุภาพของพระเจ้าอโศกมหาราชมาพึ่งพา ประจวบพ้องกับการอพยพย้ายถิ่นของไทยมาจากประเทศจีน ไทยจึงได้รับการศึกษาวิชาโหราศาสตร์พร้อมกับลัทธิทางศาสนาและพิธีการพราหมณ์มาด้วย
ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ.กงไกรลาส จ.สุโขทัย
จากหลักศิลาจารึก วัดป่ามะม่วงอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลไกรกลาง อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ที่สร้างในสมัยพระยาลิไทหรือพระมหาธรรมราชา ที่ 1 พ.ศ. 1904 เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่าคนไทยเริ่มรู้จักวิชาโหราศาสตร์อย่างจริงจังในสมัยสุโขทัยมีการศึกษาการเคลื่อนย้ายของดวงดาวการดูดวงพยากรณ์วิชาเหล่านี้จะแพร่หลายในหมู่เจ้านาย หรือพระสงฆ์ที่มีความรู้สูงๆจะเห็นว่าในราชสำนักจะมีตำแหน่ง“พระโหราธิบดี” แบ่งเป็น “โหราหน้า” คือโหรผู้ทำหน้าที่การราชพิธีพยุหยาตราพยากรณ์การศึกการวางดวงพิชัยสงครามการวางพระฤกษ์สำคัญ รวมทั้งทำหน้าที่พยากรณ์พระเคราะห์เจ้านาย “โหราหลัง” มีหน้าที่ประกอบพิธีตรียำปวาย (พิธีโล้ชิงช้า) เป็นต้น
นอกจากนี้ การนับปีของไทย คือการนับปีชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง ฯลฯ หรือที่เราเรียกกันว่า ปีนักษัตร นั้นเป็นการนับปีทางระบบจันทรคติเช่นเดียวกับระบบทางประเทศจีน ผู้รู้ทางภาษาศาสตร์สันนิษฐานว่าศัพท์พวกนี้เป็นภาษาเขมร
ส่วนการใช้ศักราชของไทยก็มีวิวัฒนาการมาหลายอย่าง เช่นมีการใช้ มหาศักราช ซึ่งรับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย
หรือใช้ จุลศักราช ซึ่งสถาปนาขึ้นในสมัยอาณาจักรพุกามของพม่าโดยพระเจ้าบุรพโสระหัน และไทยเรานำจุลศักราชนี้มาใช้ในการคำนวณหาตำแหน่งการโคจรของดาวพระเคราะห์จากคัมภีร์พระสุริยยาตร์ ซึ่งคงได้รับมาในสมัยรัชกาลที่ 5 คือพระเจ้าลือไทย แห่งราชวงศ์พระร่วงกรุงสุโขทัย
เพราะมีศิลาจารึก หลักที่ 4, 5, และ 6 กล่าวไว้ว่าพระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการคำนวณคัมภีร์พระสุริยยาตร์ ถึงกับทรงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ของไทยจากเดิมไทยเปลี่ยนศักราชเมื่อ วันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย มาเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 และเริ่มใช้ตั้งแต่ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู มหาศักราช 1283 ตรงกับวันที่ 7 มีนาคม พุทธศักราช 1904 ทางสุริยคติ ( สมัยนั้น ยังเรียกว่า 1905 เพราะแต่โบราณ นั้น นับตามปีขึ้นต้นจาก 1 ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่ นับต้นพุทธศักราช จาก 0 )
แต่จากการค้นคว้าเพิ่มเติมในปัจจุบัน พบว่าโหราศาสตร์น่าจะเข้ามาสู่ประเทศไทยหลายพันปีมาแล้ว เราจึงควรศึกษาเพิ่มเติมถึงข้อมูลดังกล่าวว่ามีเหตุผลและหลักฐานอย่างไรบ้าง เพื่อให้การศึกษาถึงความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทยมีความหลาก หลายและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
“จากหลักฐานประวัติทางด้านโบราณคดีที่ได้พบขึ้นใหม่ๆในตอนกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีการค้นพบหลักฐานพวกลูกปัดและสิ่งอื่นๆที่แสดงว่าในอาณาเขตดินแดนสุวรรณภูมิของไทยแห่งนี้ได้มีการติดต่อและเป็นเส้นทางการค้าขายจากประเทศอินเดีย ไปจนจดประเทศเวียดนาม มาเนิ่นนานแล้ว เป็นเวลาร่วม 3000 ปีก่อนสมัยพุทธกาลเสียอีกแต่สำหรับตำนานมหาอาณาจักรไทยนั้นเพิ่งจะได้เริ่มมีบันทึกเป็นเรื่องราวมาตั้งแต่กลียุคศักราชและเป็นที่เด่นชัดขึ้นในรัชสมัยแห่งพระเจ้าสิงหนวัติผู้สร้างมหาอาณาจักรโยนกนาคพันธุนครในดินแดนแห่งสุวรรณโคมคำเดิม ที่ได้ร้างไปตั้งแต่ครั้งศาสนาพระพุทธกัสสปะ พระเจ้าสิงหนวัติพระโอรสของพระเจ้าเทวกาล ได้ประสูติในกลียุคศักราช 1 ปีก่อนที่พระเจ้าสีหตนุราช (หรือสีหหนุราช – พระราชบิดาของพระเจ้าสุทโธทน)และพระเจ้าอัญชันราช (พระราชบิดาของพระนางมหามายาและพระนางปชาบดี) และพระกาลเทวิฬผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าอัญชันราช (หรืออสิตดาบสผู้พยากรณ์พระพุทธเจ้า)ทั้งสามพระองค์จะได้ทำการลบศักราชกลียุคเสียและได้ตั้ง อัญชันศักราชขึ้นในกาลียุคศักราช 2411 ปี พระเจ้าสิงหนวัติทรงมีพระชนมายุยืนยาวมากได้สร้างเมืองโยนกนาคพันธุนคร ในปีอัญชันศักราชที่ 17 อาณาเขตแว่นแคว้นดินแดนโยนกนั้นกว้างขวางไปโดยลำดับประกอบด้วยชนชาติมากมายหลายเผ่าพันธุ์ เช่น พวก ขะแมร์ ลวะ ละว้า ขอม กล๋อม ขมุส่วย ไทย ฯ พระเจ้าสิงหนวัติทรงครองราชย์สมบัติอยู่นานถึง 102 ปี จนพระชนมายุได้ 120 ปี จึงได้สวรรคต
ในอาณาเขตแห่งอาณาจักรโยนกนาคพันธุนครนั้นยังมีแว่นแคว้นเมืองหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เรียกว่า เมืองอารวีเชียงรุ้งหรือ“อาฬวี” อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “พวกอาฬวกยักษ์” (ผู้เขียน: เข้าใจว่า น่าจะเป็นพวกกล๋อม) ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดและจำพรรษา ณ เมืองอารวีเชียงรุ้งแห่งนี้ ในพรรษาที่ 16 เมื่อปีอัญชันศักราชที่ 119 (ก่อนพระเจ้าสิงหนวัติสวรรคต) และพระองค์ได้เสด็จมาเยือนอาณาจักรโยนกอีกครั้งหนึ่งในปีที่ 4 สมัยของพระเจ้าคันธกุมาร เมื่อปีอัญชันศักราชที่ 123 และได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ตำบลผาเรือและ ตำบลสันทรายหลวงโดยได้ตรัสพยากรณ์ดอยตุง (นามเดิม ดอยดินแดงหรือดอยตะยะสะ)อันเป็นที่อยู่ของพระกัมโลฤาษี ว่า จะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในภายหน้าเสร็จแล้วพระองค์จึงได้เสด็จต่อไปยังกรุงราชคฤห์ จำพรรษาในพรรษาที่ ๒๐
พระเจ้าอชุตราชพระนัดดาของพระเจ้าสิงหนวัติ ได้ขึ้นครองราชย์อาณาจักรโยนกในปีอัญชันศักราชที่ 148 มะเส็งศก ปีเดียวกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปรินิพพานพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทำการลบอัญชันศักราชนั้นเสีย แล้วได้ตั้งพุทธศักราชขึ้นต่อมาในปี พ.ศ. 3 พระมหากัสสปก็ได้นำเอาพระบรมอัฐิธาตุพระรากขวัญเบื้องซ้ายมาถวายแก่พระเจ้าอชุตราชจึงได้มีการก่อสร้างพระสถูปขึ้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นที่ดอยตุงดังพระพุทธทำนาย
ในกาลสมัยต่อมา เมื่อ พ.ศ. 218 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชภายหลังจากที่ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 3 ที่กรุงปาฏลีบุตรแล้วพระโมคคลีบุตรติสสเถระ ได้แต่งตั้งคณะสงฆ์ ไปดำเนินการประกาศเผยแพร่พระพุทธ ศาสนาหลายคณะ ซึ่งก็ได้มีหลายคณะได้เดินทางเข้ามาในดินแดนสยามประเทศทั้งตอนทิศเหนือและทิศใต้ กล่าวคือทางด้านทิศเหนือ ได้มี พระมหารักขิตเถระกับพระเถรานุเถระอันดับหลายรูปได้นำเอาพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยพระบรมสารีริกธาตุ 9 พระองค์ มาสู่อาณาจักรโยนกนาคพันธุนคร (หมายเหตุ - ท่านผู้รู้บางท่าน เช่น ศจ. ดร.พี. วี. บาปัต ว่า น่าจะเป็นไอโอเนียนกรีก แต่ผู้เขียนเห็นว่าขัดกับหลักฐานแผนที่โบราณและตำนานโยนกนคร)ทางด้านทิศใต้ได้มีพระโสณะและพระอุตตรเถระ (ในตำราโหราศาสตร์ไทยว่า พระอุตตรามเถระ) กับพระเถรานุเถระอันดับหลายรูป ได้นำเอาพระพุทธศาสนาเข้าสู่แดนแคว้นสุวรรณภูมิทางตอนใต้อีกทางหนึ่ง
ในสมัยนี้เองที่ตำราโหราศาสตร์ได้เข้ามาเริ่มแพร่หลายในดินแดนสยามประเทศอาทิเช่น ตำราจักรทีปนี, ตำราสุริยยาตร์ ฯลฯซึ่งนับเนื่องมาถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาสองพันกว่าปีมาแล้ว
อนึ่งบรรดาสรรพตำราโหราศาสตร์ภาคคำนวณในครั้งกระโน้นต่อมาได้เปลี่ยนจากกลียุคศักราชมาใช้มหาศักราช ซึ่งพระเจ้าสลิวาหนราช(พระเจ้ากนิษกะ) ได้ทรงลบศักราชเดิมและได้ตั้งขึ้นใหม่ เมื่อวันอังคารที่3 มีนาคมค.ศ. 78 (พ.ศ. ๖๒๑) มาเป็นมูลคำนวณทั้งสิ้น
ต่อมา ในปี พ.ศ. 956พระพุทธโฆษะ (ในตำราโหราศาสตร์ไทย เรียกว่า พระพุทธโฆษาจารย์) ชาวเมืองโกศลเมืองสุธรรมาวดี (เมืองทาตัน) ในรามัญประเทศ (Tailanga – ประเทศพม่าหรือเมียนมาร์ในปัจจุบัน) ผู้เดิมเป็นศิษย์แห่งมหาฤาษีปตัญชลิแล้วต่อมาได้บวชอยู่ในสำนักของท่านมหาสถวีระ เรวตะ และเป็นผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรคอันเลื่องชื่อ ได้เดินมายังเมือง นครไชยบุรีเชียงแสน แคว้นโยนก เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู มหาศักราช 335พร้อมกับได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุ 16 องค์ มาถวายแก่พระเจ้าพังคราชซึ่งได้จัดสร้างพระสถูปเจดีย์พระธาตุจอมทองและพระธาตุดอยกิติขึ้น พระพุทธโฆษาจารย์ท่านนี้ เป็นผู้แต่งคัมภีร์อรรถสาลินี (อัฏฐสาลินี) ซึ่งได้กล่าวพยากรณ์ ว่าด้วย การโคจรดาววิปริต พักร์ มณฑ์ เสริดที่ใช้กันอยู่ในตำราโหราศาสตร์ไทยนี่เอง
จากรายละเอียดที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าชนชาติไทยมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เริ่มต้นในครั้งพุทธกาลมาโดยลำดับและวิชาโหราศาสตร์ไทยก็ได้รับการถ่ายทอดมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลเป็นเวลากว่าสองพันปีแล้วตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยจนได้มีพัฒนาการมาเป็นเอกลักษณ์ของไทยโดยเฉพาะจึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจและสมควรที่จะรักษามรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยอันแฝงอยู่ในวิชาโหราศาสตร์ไทยไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยสืบไป” (พระพุทธศาสนาและโหราศาสตร์ไทยก่อนสมัยสุโขทัย.มปป.:ออนไลน์)
ผู้เขียนขออนุญาตด้วยความคาราวะในการนำบทความนี้มาเผยแพร่โดยไม่ได้ตัดทอนหรือแก้ไขแต่อย่างใด เพื่อเป็นวิทยาทานและประโยชน์แก่ผู้ศึกษาวิชาโหราศาสตร์ทั่วไปต่อไป
ในเรื่องความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทยนั้น ยอดธง ทับทิวไม้ (2534: 41) กล่าวว่า
“ความจริงวิชาโหราศาสตร์ไทยนั้น เป็นวิทยาการเก่าแก่ที่เป็นผลผลิตของมนุษยชาติหลายเผ่าหลายพันธุ์อย่างน้อยก็ไม่น้อยกว่า 5000 กว่าปีขึ้นไป ในสมัยที่มีมนุษย์กลุ่มหนึ่งยังรวมกันอยู่ในแถบเอเชียกลางเมื่อหลายพันปีมาแล้ว (ยุคเมโสโปเตียเมีย: กล่าวถึงในหน้า 21 - 22) ซึ่งจะโดยเหตุผลใดก็ตาม คนเหล่านี้ก็แยกจากกันไปในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก เป็นกรีก, เป็นโรมัน, เป็นอาหรับ, เป็นจีน, เป็นอินเดีย หรืออาจจะมีไทยปนอยู่ด้วยก็ได้”
ในอารยธรรมหลายประการที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น มีวิชาว่าด้วยจักรวาล กาลเวลา และดวงดาว เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าได้ถูกจากรึกไว้ในคัมภีร์พระเวท หรือคัมภีร์ไตรเภทของอินเดีย ที่ยังมีเหลือเป็นมรดกตกทอดให้แก่ชนรุ่นหลังจนทุกวันนี้
ในสมัยพระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์ของราชวงศ์เมารยะแห่งอินเดีย ซึ่งอยู่ระหว่างพุทธศักราช 1048 หรือคริสต์ศักราช 505 มีปราชญ์ทางโหราศาสตร์ของราชสำนักผู้หนึ่งได้แก่ มหาฤๅษีวราหะมิหิรา ได้รวบรวมวิชาโหราศาสตร์และดาราศาสตร์จากตำรับตำราและความรู้เก่า ๆ ของบรรดามหาฤๅษีและนักพรตต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยพระเวทย์เมื่อหลายพันปีก่อนและตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นไว้ เช่น การแบ่งกลุ่มดาวฤกษ์บนท้องฟ้าออกเป็น 27 กลุ่มซึ่งถือเป็นฤกษ์ในปัจจุบัน การแบ่งภพราศีและเรือนชะตาออกเป็น 12 ราศีและ 12 เรือนตามที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ด้วยเช่นกันจากนั้นก็วางกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการทำนายขึ้นมาเป็นคัมภีร์ ซึ่งที่เป็นต้นแบบของโหราศาสตร์ไทยในปัจจุบันนี้ก็ได้แก่ เช่น คัมภีร์จักรทีปนี เป็นต้น ซึ่งจะได้ศึกษารายละเอียดในโอกาสต่อไป
พ.ต.หลวงเสนานิติการ (ยง บุนนาค) กล่าวไว้ในคำนำของตำราโหราศาสตร์ชื่อ “จักรทีปนี” ของท่านว่า
“จักรทีปนี เป็นต้นตำรับรากฐานที่ว่าด้วยหลักวิชาพยากรณ์โหราศาสตร์ไทยคัมภีร์หนึ่ง ได้มีขึ้นในโลกแต่สมัยดึกดำบรรพ์นานมาแล้วหลายพันปี ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้ตำราจักรทีปนีเป็นหลักพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ จะมีผิดกันไปบ้างก็เพียงฝอยของคำพยากรณ์และรูปการ ซึ่งต้องแล้วแต่กาลเทศะ หรือภูมิประเทศและเหตุการณ์ของประเทศนั้น ๆ ปรากฏชัด
ตามตำนานกล่าวว่า พระอุฒะรามมหาเถระ พระอรหันต์เป็นผู้รจนาพระคัมภีร์จักรทีปนีนี้ไว้ โดยอาศัยหลักจากคัมภีร์พฤหัสบดีฉบับสันสกฤต ซึ่งนับว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญแห่งคัมภีร์ไตรเภท เพราะพระอริยะบุคคลย่อมสมบูรณ์เปี่ยมด้วยสติสมาธิรู้แจ้งเห็นจริงในสภาวธรรมทั้งปวง จะไม่กระทำอะไรผิดพลาดเหมือนปุถุชน ดังนั้นข้อความในต้นฉบับของท่าน จึงยึดถือได้ว่าเป็นการถูก ต้องตรงกับความเป็นจริง” (อ้างใน ยอดธง ทับทิวไม้, 2534: 42)
เกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของโหราศาสตร์ไทยนั้น ยอดธง ทับทิวไม้ (2534: 44) ยังได้กล่าวเน้นอีกว่า
“ต้องการจะเน้นให้เห็นกันว่า วิชาโหราศาสตร์ไทยนั้น เป็นวิชาโหราศาสตร์ที่มีประวัติความเป็นมาของมันอย่างสมบูรณ์เหมือนกับวิทยาการอื่น ๆ ในโลกนี้เหมือนกัน
และที่มาของมันนั้น ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ว่า มันมาจากอินเดียหรือจากคัมภีร์พฤหัสชาดก ของวราหะมิหิราแห่งราชสำนักเมารยะในสมัยพระเจ้าศรีวิกรมาทิตย์ในอินเดียอย่างไม่มีอะไรจะต้องเถียงกันอีก!”.....
.....“จริงอยู่ตลอดเวลาหลายพันปี วิชาโหราศาสตร์ไทยได้ถูกนำมาใช้กันมาแล้วอย่างน้อยที่สุดเราอาจจะย้อนไปได้ถึงประวัติศาสตร์ไทยทางภาคเหนือสมัยเชียงแสน เชียงราย หรือก่อนหน้านั้นในสมัยปู่เจ้าลาวจก ผู้ครองดอยตุง มาจนกระทั่งถึงยุคสุโขทัยที่วิชาโหราศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวที่สุด โดยการนำเอาคัมภีร์สุริยะสิทธานตะของอินเดียเข้ามาในรูปของภาษาบาลี ในสมัยของพญาลิไท ความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ต่าง ๆ ของนักโหราศาสตร์ไทยได้เรียนรู้สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยนั้นนานกว่า 800 ปี อาจจะทำให้มีการค้นคว้าและปรับปรุงนำมาใช้สำหรับสังคมไทยมากขึ้น และมีสำนักนักโหราศาสตร์หลายครูหลายอาจารย์ที่ต่างก็มีความชำนาญแตกต่างกันไป น่าจะเชื่อถือได้ว่าต่างก็ต้องมีกฎเกณฑ์และรากฐานถูกต้องอย่างไม่ต้องสงสัย”.....(ยอดธง ทับทิวไม้. 2534: 45)
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานต่าง ๆ ที่ค้นพบในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ที่สามารถเชื่อมโยงและบอกเล่าถึงความเป็นมาเกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์ได้หลายประการ ซึ่งจะได้นำมาเทียบเคียงข้อมูลให้นักศึกษาและผู้สนใจได้รับทราบ และจะไล่เรียงเป็นลำดับไปจนถึงปัจจุบัน
ปรากฏหลักฐานคร่าว ๆ จากหลักศิลาจารึกที่ปราสาทบันทายศรี จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา เป็นภาษาสันสฤตอักษรขอมโดยจารึกตำแหน่งดวงดาวหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าการผูกดวง นั้น มีอายุกาลมากกว่าหนึ่งพันปีขึ้นไปเพราะปราสาทนี้สร้างขึ้นเมื่อ เดือนเมษายน - พฤษภาคม พ.ศ. 1510 โดยพราหมณ์ชื่อ ยัชญวราหะ ในตอนปลายของสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (หรือพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 พ.ศ.1487 - 1511) และเสร็จในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ.1511 - 1554) (วิกิพีเดีย. 2554 : ออนไลน์) ดังนั้นไทยจึงน่าจะได้รับวัฒนธรรมทางโหราศาสตร์ที่เผยแพร่และ เกลื่อนกลืนกันมาด้วยเช่นเดียวกัน
มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐฯ บันทึกเอาไว้ว่า “ลุศักราช 712 ขาลศก วันศุกร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 5 เพลารุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 9 บาทแรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา”
ซึ่งตรงกับทางสุริยคติ วันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 1893 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือพระเจ้าอู่ทอง ทรงย้ายเมืองหลวงมาตั้งที่ตำบลหนองโสน ทำพิธีตั้งเสาพระหลักเมืองใต้ต้นหมันการผูกดวงในสมัยนั้นยังไม่มีดาวเกตุและดาวมฤตยู มีแต่อาทิตย์ถึงราหู หรือเลข ๑ ถึง ๘ เท่านั้น
ในสมัยอยุธยาตอนกลางมีการใช้ จุลศักราช บันทึกในพงศาวดาร สันนิษฐานว่าคงได้รับมาคราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง มาตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน ปี พ.ศ. 2112 ที่ไทยเรารับเรื่องนี้มาเพราะ เราใช้คัมภีร์พิชัยสงครามซึ่งต่อมาเราก็มาต่อเติมในภายหลังในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 จากการที่ สมเด็จพระนเรศวร ทรงเสด็จไปศึกษาที่ราชสำนักหงสาวดีการเพิ่มเติมเข้าไปก็เพื่อเป็นวิธีการศึกษายุทธวิธีในการป้องกันประเทศ
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หลังการสถาปนาในพุทธศักราช 2325 พระโหราจารย์ได้รวบรวมตำรับตำราความรู้เกี่ยวกับโหราศาสตร์ไทยขึ้น แต่ก็คงเป็นความรู้อยู่ในราชสำนักเท่านั้น ประชาชนบุคคลภายนอกคงไม่มีตำราครบบริบูรณ์ นอกจากพวกข้าราชบริพารกรมโหรและพระผู้ใหญ่ในยุคนั้น ๆ (ภารต ถิ่นคำ.2546) พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ทรงเชี่ยวชาญในวิชาโหราศาสตร์มีหลายพระองค์เช่นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปฐมราชวงศ์จักรีเป็นผู้ทรงกำหนดวางดวงเมืองกรุงเทพมหานครฯ และได้ทรงแบ่งยุคของประเทศไทยเป็นคำพยากรณ์ไว้ทั้งหมด 10 ยุค โดยทรงใช้หลักการโคจรของดาวพระเคราะห์ใหญ่ 2 องค์คือดาวพฤหัสและดาวเสาร์ ซึ่งก็ได้มีเหคุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจริงตามที่ได้ทรงพยากรณ์ไว้ เช่นการที่ประเทศไทยต้องเสียดินแดนบางส่วนให้กับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสตรงกับคำพยากรณ์ที่ทรงให้ไว้ในยุค “จำแขนขาด”เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีโหรสำคัญ 2 องค์ได้แก่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส และอีกพระองค์หนึ่งก็คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ผู้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องจักรทีปนีคำฉันท์ และลิลิตทักษาพยากรณ์ ซึ่งผู้ศึกษาวิชาโหรในรุ่นต่อ ๆ มายังคงใช้อ้างอิงกันจนถึงทุกวันนี้ ถึงกับมีพระนามอยู่ในการกล่าวโองการไหว้ครูโหร จนถึงปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการติดต่อกับต่างประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองและเริ่มมีการรับเอาวิทยาการต่าง ๆ ของตะวันตกเข้ามาศึกษาในหมู่ชนชั้นนำในสมัยนั้น รวมถึงพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ด้วยเมื่อครั้งนั้นก่อนที่จะทรงเสวยราชย์ในเวลาต่อมาทรงดำรงสมณเพศและดำรงพระอิศริยยศเป็นพระวชิรญาณ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารก็ได้ทรงศึกษาวิทยาการทางด้านดาราศาสตร์จากพวกบาทหลวงโปเตสแตนท์ และนำมาประยุกต์ใช้กับวิชาการด้านโหราศาสตร์ไทยอย่างทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้ง ทรงชำระคัมภีร์พระสุริยยาตร์ในสมัยต่อมา อีกทั้งทรงนิพนธ์คัมภีร์ปักษ์คนณาซึ่งใช้คำนวณวันมหาปวารณาเข้าพรรษา ของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติซึ่งพระองค์ได้ทรงโปรดให้สถาปนาขึ้น ซึ่งคัมภีร์ ปักษ์คนณา นี้เป็นหลักฐานอย่างดีถึงพระปรีชาสามารถทั้งในด้านโหราศาสตร์และด้านดาราศาสตร์ของพระองค์ จนได้รับพระราชสมัญญานามเป็นพระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย และพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ไปพร้อมกัน
วิชาโหราศาสตร์ เดิมมีอยู่แต่เฉพาะพราหมณ์ (สิงห์โต สุริยาอารักษ์.2554) ซึ่งเป็นโหรประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้ครองนครเท่านั้น หาใช่มีอยู่สำหรับบุคคลทั่วไปดังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ไม่ และพยากรณ์ของโหรสมัยโบราณก็พยากรณ์แก่ผู้ที่ทราบเวลาเกิดแน่นอนเท่านั้น
วิชาโหราศาสตร์พึ่งตกมาถึงมือประชาชนทั่ว ๆ ไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดหอพระสมุดแห่งชาติขึ้น และผู้ที่มีคัมภีร์หรือตำราต่าง ๆ ก็นำมามอบให้แก่หอพระสมุด หอพระสมุดก็เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนเข้ายืมอ่านและคัดลอกตำรับตำราต่าง ๆ ได้ตั้งแต่นั้นมา ด้วยเหตุนี้วิชาโหราศาสตร์จึงออกไปสู่ประชาชนทั่ว ๆ ไป แต่ก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เนื่องจากวิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาละเอียดอ่อน สับสน มีคำยากมาก มีผู้เรียบเรียงรวบรวมตำราขึ้นมาก็มากเล่ม และราคาแพง
หนังสือเล่มนี้ แม้ผู้เขียนจะมีเจตนาดีเพื่อคลี่คลายปัญหาอุปสรรคในการศึกษาเล่าเรียนวิชาโหราศาสตร์จาก อาจารย์เชาว์ บุนนาค ตามที่ได้กล่าวถึงในเบื้องต้น แต่ยอมรับตามตรงว่า ไม่แน่ใจว่าจะสามารถลดทอนอุปสรรคของการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในการเรียบเรียงความรู้เรื่องวิชาโหราศาสตร์นี้มีความลำบากและความยุ่งยากใจหลายอย่าง ประการแรกคือตำรับตำราที่จะใช้เป็นข้อมูลความรู้เพื่อนำมาเรียบเรียงและเขียนนั้นมีน้อยมากที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะแม้ว่าจะมีเป็นจำนวนหลายสิบเล่มจนแทบไม่ต้องพึ่งพาอาศัยห้องสมุดก็ว่าได้ ทว่าส่วนใหญ่แต่ละเล่มก็จะมีข้อมูลคล้าย ๆ กัน ไม่รู้ใครเขียนก่อนหรือใครเขียนทีหลัง ที่ร้ายกาจก็คือมีการสงวนลิขสิทธิ์เหมือนกันหมดบางอย่างเราอาจเรียบเรียงใหม่ได้ให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้นโดยไม่ต้องคัดลอก แต่บางอย่างก็คงไม่สามารถเรียบเรียงใหม่ได้ถ้าเป็นความรู้เฉพาะหรือเป็นข้อความที่บังคับ ครั้นเมื่อหันมาค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ก็เป็นการคัดลอกตัดทอนข้อมูลมาจากหนังสือแทบทั้งสิ้น มีเพียงไม่กี่รายที่น่าชื่นชมยินดีและน่าขอบคุณ ผู้เขียนจึงหวังว่าคงจะได้รับความเมตตาจากบุรพาจารย์ทุกท่านเหล่านั้นที่จะให้ผู้เขียนนำวิชาความรู้ของท่านมาขยายความต่อเพื่อเป็นวิทยาทานแก่คนรุ่นหลัง ตลอดจนได้รับความเข้าใจและความเห็นใจจากผู้อ่านหรือผู้ที่ต้อง การจะศึกษา รวมถึงเรื่องราคาการจำหน่ายหนังสือด้วย เพราะขึ้นอยู่กับผู้จัดพิมพ์เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักศึกษาโหราศาสตร์คนหนึ่ง พอจะกล่าวสรุปแบบมองโลกในแง่ดีได้ว่าโหราศาสตร์ น่าจะเป็นการแพร่ขยายทางวัฒนธรรมเข้ามาไทยได้หลายพันปีแล้ว (ร่วม 3000 ปี) ตั้งแต่ยุคขยายแสนยานุภาพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชโดยผ่านมาทางอินเดีย เขมร มอญ และพม่า ฯลฯ และต่อเนื่องมาเป็นลำดับในยุคของการเผยแพร่พุทธศาสนาผสมผสานกันกับลัทธิพราหมณ์ โดยมีพัฒนาการด้วยตัวของมันเองอย่างสอดคล้องมาเป็นลำดับจนปัจจุบัน
ที่มา : https://sites.google.com/site/buddhistastro/lesson-p-1-horasastr-beuxng-tn/horasastr
บรรณานุกรม
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย (สุตตันตปิฏก) สุตตนิบาต มหาวรรค (๑๑) นาลกสูตร
พระไตรปิฏก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย (สุตตันตปิฏก) สุตตนิบาต เรื่องที่ ๑๐ อาฬวกสูตร
คัมภีร์มโนรถปูรณีอรรถกถาอังคุตตรนิกาย
คัมภีร์อรรถสาลินี
คัมภีร์ทีปวงศ์ พงศาวดารลังกา
ตำนานโยนก
ตำนานพระธาตุดอยตุง และ ตำนานพระธาตุจอมทอง