กาลกรรณี

     กาฬกัณณี (กาลกรรณี) เทวีหูดำ

    ในวรรณคดีพุทธศาสนาภาษาบาลี ได้แก่ อรรถกถาชาดกเรื่อง “สิริกาฬกัณณิชาดก” กล่าวถึง เทพธิดาสององค์ คือ เทวีกาฬกัณณี (หรือ กาลกัณณี) และ เทวีสิริ โดยกล่าวว่า

“กาฬกัณณีเทวี” (ตามรูปศัพท์ แปลว่า เทวีที่มีหูดำ) เป็นธิดาของท้าววิรูปักข์ ซึ่งเป็นท้าวโลกบาลทางทิศตะวันตก ผู้เป็นใหญ่ในหมู่นาค นางนั้นเป็นเทวีที่มีผิวกายดำ ลูบไล้กายด้วยเครื่องประทินผิวสีขาบ นุ่งผ้าสีขาบ ประดับตนก็ด้วยเครื่องประดับสีขาบ (ภาษาบาลีใช้ “นีล-” หมายถึง สีขาบ สีน้ำน้ำเงินอมม่วง สีเหมือนเมฆฝน แต่ในบทแปลภาษาไทย ท่านแปลว่า “สีเขียว”) ไปไหนๆ นางจึงดูมืดดำไปหมด นางเป็นเทวีที่ดุร้าย ไม่มีบุญวาสนา มักสถิตย์อยู่กับคนที่ชั่วช้า อิจฉาริษยา อาฆาต มักโกรธ อกตัญญู เป็นต้น

ตรงกันข้ามกับนาง มีเทวีอีกองค์ ชื่อว่า “สิริ” (ตามรูปศัพท์ แปลว่า เทวีที่มีโชค โชควาสนา สิริมงคล) ตามอรรถกถา กล่าวว่า นางเป็นธิดาของท้าวธตรฐ (ธตรฏฺฐ) ซึ่งเป็นท้าวโลกบาลทางทิศตะวันออก ผู้เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์ สิริเทวีนั้นเป็นเทวีที่มีผิวกายสีทอง นุ่งผ้าสีทอง ประดับตนด้วยเครื่องประดับทองคำ ไปไหนๆ สิริเทวี นางจึงผ่องใส เป็นประกายงดงาม นางเป็นเทวีที่มีใจเมตตา เปี่ยมด้วยโชควาสนา มีปัญญา มักสถิตย์อยู่กับคนที่ทรงศีล มีจิตไม่ริษยา ไม่โกรธ กตัญญู เป็นต้น

รายละเอียดของชาดกเรื่องนี้ ขอข้ามไป ท่านที่สนใจลองไปหาอ่านได้ แต่ที่น่าสนใจ ก็คือ การที่พุทธศาสนานั้น เก็บเรื่องราวของเทวีสององค์ ที่เป็นที่รู้จักในเทพปกรณัมอินเดียด้วย นั่นคือ“พระนางกาลกรรณี อลักษมีเทวี” และ “พระนางศรี ลักษมีเทวี”
ในคาถาชาดกภาษาบาลี ข้อความที่ว่า “อหํ กาฬี อลกฺขิกา กาฬกณฺณีติ มํ วิทู” แปลว่า “ข้าเป็นเทวีผิวดำ (กาลี/กาฬี ท่านแปลว่า เป็นหญิงกาฬี) เป็นผู้อับโชควาสนา (ทวยเทพ)รู้จักข้า(ในชื่อ) กาฬกัณณี” คำว่า “อลักขี หรือ อลักขิกา” นั้นตรงกับคำว่า “อลักษมี” หรือ “อลักษมิกา” นั่นเอง และ ชื่อ “กาลกรรณี (กาลกรฺณี)” ในวรรณคดีสันสกฤต ก็หมายถึง “อลักษมีเทวี”

ส่วนข้อความที่ว่า “อหํ สิรี จ ลกฺขี จ ภูริปญฺาติ มํ วิทู” แปลว่า “ข้าเป็น(เทวี)ผู้มีโชค มีบุญวาสนา (ทวยเทพ)รู้จักข้า(ในชื่อ) ภูริปัญญา (เทวีผู้มีปัญญากว้างขวางดุจแผ่นดิน) คำว่า “สิรี (สิริ)” นั้นตรงคำว่า “ศรี” (ศฺรี) ซึ่งเป็นพระนามหนึ่งของลักษมีเทวี ชายาของพระวิษณุ และ คำว่า “ลักขี” นั้น ก็ตรงกับคำว่า “ลักษมี” นั่นเอง

ในวรรณคดีพุทธศาสนา กาลกัณณีเทวี และ สิริเทวี นั้นมีบิดา ซึ่งน่าสนใจว่า เป็น “ทิศตรงกันข้าม” กัน คือ ตะวันตกและตะวันออก แถมนางทั้งสองยังทะเลาะ แย่งท่าอาบน้ำอีกต่างหาก (ในตอนจบชาดก ส่วนสรุปชาดก ที่เรียกว่า สโมธาน ซึ่งปกติเป็นส่วนขยายความในยุคหลัง บอกว่า นางสิริเทวีนั้นเป็นอดีตชาติของ พระอุบลวรรณาเถรี)

แล้วใครกัน คือ “พระนางกาลกรรณี อลักษมี” และ “พระนางลักษมี” ในฝ่ายของฮินดู สำหรับพระนางศรีลักษมีนั้นคงไม่ต้องพูดเยอาะ แต่ “พระนางอลักษมี” นั้น ถือว่าเป็น “พี่สาว” ของพระนางลักษมี เพราะในคราวที่กวนเกษียรสมุทร ก่อนที่พระนางลักษมี (โชค) จะผุดขึ้นมา พระนางอลักษมี (ความอับโชค) ผุดขึ้นมาก่อน นางมีร่างกายอัปลักษณ์ ผิวดำหยาบกร้าน แก้มตอบ พักตร์หักงอ ตาลึก ริมฝีปากหนา ฯลฯ รวมความอัปลักษณ์ทุกอย่างไว้ มีผู้ระบุว่า นางอลักษมี ก็คือ เทวีนิรฤติ เทวีแห่งความโศกเศร้า ไร้ความยินดี ในสมัยพระเวทนั่นเอง พระนางอลักษมีนั้น มีชื่ออื่นว่า “กลหปริยา” (นางผู้โปรดปรานการทะเลาะ) และ “ทริทรา” (นางผู้ยากจน) เมื่อเทวีองค์นี้ไปสู่เรือนไหน เรือนนั้นก็จะมีแต่การทะเลาะ อิจฉาริษยา ยากจนข้นแข้น หม่นหมอง สกปรก ไร้โชคลาภ นางเป็นส่วนกลับของเทวีลักษมีโดยสิ้นเชิง ซึ่งพ้องกับในชาดกเรื่องสิริกาฬกัณณีชาดก ไม่เพียงแต่ชื่อเท่านั้น หากแต่เรื่องคุณสมบัติของทั้งสองด้วย

ทิ้งท้ายด้วยเรื่องของ “พระเทวีเชยษฐา” (เชฺยษฺฐา) กล่าวกันว่าก็คือ “พระเทวีอลักษมี” นั่นเอง พระเทวีองค์นี้ ชื่อของนาง แปลว่า “พี่สาวคนโต” เชยษฐาเทวี เป็นเชษฐภคินี (พี่สาว) ของพระนาง “ลักษมี” พระนางเชยษฐาเป็นเทวีแห่งความอับโชค อัปมงคล นางจะสถิตย์ในสถานที่สกปรก มีมลทินและอยู่กับคนชั่วช้าต่ำทราม คนสกปรก ขี้เกียจ คนเศร้าโศก คนยากจน และคนขลาดเขลา นางเป็นที่เทวีที่มีถันยานถึงท้อง ท้องพลุ้ย ต้นขาอวบใหญ่ จมูกโกงดังขอ ริมฝีปากล่างหนาห้อย ผิวดำดังหมึก นางเกิดขึ้นในการกวนเกษียรสมุทร เมื่อพิษหลาหลอันร้ายแรงผุดขึ้นมา นางจึงเกิดก่อนพระนางศรีลักษมี ผู้ผุดขึ้นมาที่หลัก เมื่อน้ำอมฤตจะผุดขึ้น

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเรียนรู้เรื่องวรรณคดีไม่ว่าจะเป็นพุทธ หรือ ฮินดู หากมีความรู้รอบในเรื่องภารตวิทยา ก็จะสามารถเชื่อมโยงกันได้ และจะเห็นอะไรมากขึ้นและมองสิ่งเหล่านี้ในฐานะวัฒนธรรมอินเดียที่ศาสนาต่างๆ ในอินเดียมีร่วมกัน จะทำให้ใจกว้างและรับรู้สิ่งที่ต่างได้มากขึ้น



เครดิต-ภาพจากเว็บไซต์ pixels

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
   By คุณยายกลิ่นโสม:: 141
#อ่านดวงไทยสบายสบาย ตามสไตล์คุณยายกลิ่นโสม
#เรียนโหราศาสร์ไทยฟรีด้วยตนเองได้ที่เวปบ้านคุณยายกลิ่นโสม 102 100450
:: 
https://www.baankhunyai.com
   --------------------
Visitors: 218,197