สงกรานต์คืออะไร?
สงกรานต์คืออะไร?
อันคำว่า “สงกรานต์ (Songkran)” ที่ไทยเราเอามาใช้นี้เดิมมาจากอินเดียในภาษาสันสกฤตว่า "สงกรานตะ หรือ สงฺกฺราต (सङ्क्रान्त - Saṅkrānta)“ ที่แปลว่า "การข้ามผ่านเข้าสู่" และ "สังกรานติ หรือ สงฺกฺรานติ (सङ्क्रान्ति - Saṅkrānti)” ที่แปลว่า "วัน&เวลาแรกที่ดวงอาทิตย์ตามแบบโหราศาสตร์นิรายณะวิธี (Fixed Zodiac) แบบตัดค่าอายนางศะ หรือ อยนำศ (अयनांश - Ayanāṃśa) นั้นได้ข้ามจากบาทสุดท้ายของราศีหนึ่ง เข้าสู่บาทแรกของอีกราศีหนึ่ง"
ดังนั้นเมื่อดวงอาทิตย์ในระบบโหราศาสตร์สายตะวันออกของเรานี้ ไม่ว่าจะโคจรย้ายข้ามจากราศีใดไปอีกราศีก็ตาม ในช่วงวัน&เวลาที่ย้ายข้ามราศีนี้เราก็จะเรียกกันว่าเป็น “วันสังกรานติ (อันนี้เป็นการปัดทดเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่าย ๆ เลยให้เป็นไปทั้งวัน)” หรือ “ช่วงเวลาแห่งการสังกรานติ (อันนี้จะต้องคำนวณว่าย้ายในเวลาใดของวันนั้น ๆ)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีมีนเข้าสู่บาทแรกของราศีเมษ (ราวช่วงวันที่ 13 - 14 เมษายนของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “เมษสังกรานติ (मेष सङ्क्रान्ति - Meṣa Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีเมษเข้าสู่บาทแรกของราศีพฤษภ (ราวช่วงวันที่ 14 - 15 พฤษภาคมของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “วฤษภสังกรานติ (वृषभ सङ्क्रान्ति - Vṛṣabha Saṅkrānti)” หรือ “วฤษสังกรานติ (वृष सङ्क्रान्ति - Vṛṣa Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีพฤษภเข้าสู่บาทแรกของราศีมิถุน (ราวช่วงวันที่ 14 - 15 มิถุนายนของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “มิถุนสังกรานติ (मिथुन सङ्क्रान्ति - Mithuna Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีมิถุนเข้าสู่บาทแรกของราศีกรกฎ (ราวช่วงวันที่ 16 – 17 กรกฎาคมของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “กรกฏสังกรานติ (कर्कट सङ्क्रान्ति - Karkaṭa Saṅkrānti)” หรือ “กรกสังกรานติ (कर्क सङ्क्रान्ति - Karka Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีกรกฎเข้าสู่บาทแรกของราศีสิงห์ (ราวช่วงวันที่ 16 – 17 สิงหาคมของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “สิงหสังกรานติ (सिंह सङ्क्रान्ति - Siṃha Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีสิงห์เข้าสู่บาทแรกของราศีกันย์ (ราวช่วงวันที่ 16 - 17 กันยายนของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “กันยาสังกรานติ (कन्या सङ्क्रान्ति - Kanyā Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีกันย์เข้าสู่บาทแรกของราศีตุล (ราวช่วงวันที่ 17 - 18 ตุลาคมของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “ตุลาสังกรานติ (तुला सङ्क्रान्ति - Tulā Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีตุลเข้าสู่บาทแรกของราศีพิจิก (ราวช่วงวันที่ 16 - 17 พฤศจิกายนของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “วฤศจิกสังกรานติ (वृश्चिक सङ्क्रान्ति - Vṛścika Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีพิจิกเข้าสู่บาทแรกของราศีธนู (ราวช่วงวันที่ 15 – 16 ธันวาคมของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “ธนุสังกรานติ (धनु सङ्क्रान्ति - Dhanu Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีธนูเข้าสู่บาทแรกของราศีมกร (ราวช่วงวันที่ 14 – 15 มกราคมของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “มกรสังกรานติ (मकर सङ्क्रान्ति - Makara Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีมกรเข้าสู่บาทแรกของราศีกุมภ์ (ราวช่วงวันที่ 12 - 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “กุมภสังกรานติ (कुम्भ सङ्क्रान्ति - Kumbha Saṅkrānti)”
ถ้าดวงอาทิตย์ย้ายจากบาทสุดท้ายของราศีกุมภ์เข้าสู่บาทแรกของราศีมีน (ราวช่วงวันที่ 14 – 15 มีนาคมคมของทุกปี) ก็จะเรียกว่า “มีนสังกรานติ (मीन सङ्क्रान्ति - Mīna Saṅkrānti)”
โดยใน 12 สงกรานต์หรือสังการนตินี้ก็จะมีอยู่ 2 สังกรานติที่สำคัญ (เวลาไปจาริกบุญที่อินเดีย ควรเลี่ยงการไปเทวาลัยใน 2 วันนี้สักหน่อย เพราะชาวฮินดูจะไปจาริกบุญตามเทวาลัยกันแบบมหาศาลมาก) คือ
1. มกรสังกรานติ โดยจะถือว่าเมื่อเข้าสู่มกรสังกรานติแล้ว ก็จะถือว่าโลกของเราได้โคจรปัดขั้วโลกเหนือขึ้นไปโดยสมบูรณ์แล้ว (ประตูสวรรค์เปิดโดยสมบูรณ์)
2. เมษสังกรานติ โดยจะถือว่าเมื่อเข้าสู่เมษสังกรานติ ก็จะถือว่าดวงอาทิตย์ได้เข้าสู่ราศีแรกของทางโหราศาสตร์แล้ว และตรงเมษสังกรานตินี้ก็จะถือว่า “เป็นวันมหาสงกรานต์” ด้วยนั่นเอง
ปล.ส่วนประเพณีสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์นี้ จากข้อมูลที่ข้าพเจ้าเคยศึกษามานั้นมันน่าจะมีมาในดินแดนแถบนี้ (สิบสองปันนา สยาม ล้านนา ล้านช้าง) อยู่ก่อนแล้ว
ขอบคุณที่มา : FB ภาษาและวรรณคดีสันสกฤต
#By_คุณยายกลิ่นโสม
---------------------
สนใจดูดวงติดต่อ: baankunyai