เรื่องราวของพระจันทร์

เล่าสู่กันฟัง...เรื่อง “เรื่องราวของพระจันทร์”

นอกจาก "ดวงอาทิตย์” ที่ส่องแสงเจิดจ้าปลุกเราทุกเช้าแล้ว "ดวงจันทร์” ก็เป็นดาวอีกดวงที่เราต่างคุ้นเคยกันดี เพราะอยู่ใกล้โลกจนเรามองเห็นได้เกือบทุกค่ำคืน อีกทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับพระจันทร์ก็มีปรากฏอยู่มากมายทั้งในตำนาน นิทาน ความเชื่อ บทเพลง และประเพณีต่างๆ จึงอยากจะนำเรื่องของพระจันทร์ในแง่มุมต่างๆมาเล่าสู่กันฟัง 

ในทางดาราศาสตร์ "ดวงจันทร์” เป็นดาวบริวารดวงเดียวของโลก ที่มีพื้นผิวเต็มไปด้วยหลุมอุกกาบาตใหญ่เล็กมากมาย เขาบอกว่าหลุมใหญ่ที่เราเห็นด้วยตาเปล่า ก็คือบริเวณที่ถูกจินตนาการว่าเป็นรูป "กระต่าย” บนนั้นนั่นเอง ส่วนแสงจันทร์ที่เราเห็นสุกสกาวสดใส แท้จริงแล้วเป็นแสงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นผิวของมัน ดวงจันทร์ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองเท่ากับโคจรรอบโลกคือราว ๒๗ วันกว่าๆ ทำให้เราเห็นดวงจันทร์ด้านเดียวเสมอ และขณะที่หมุน ต่างก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ไปด้วย เราจึงเห็นดวงจันทร์เต็มดวงบ้าง เป็นเสี้ยวบ้างอย่างที่เรียกกันว่า "ข้างขึ้น ข้างแรม” ที่เกิดจากมุมในการรับแสงเปลี่ยนแปลงไป กำเนิดของดวงจันทร์มีหลายสมมติฐาน บ้างก็ว่าโลกและดวงจันทร์เกิดพร้อมๆกันจากกลุ่มก้อนก๊าซมหึมาของเนบิวลาต้นกำเนิดระบบสุริยะ บ้างก็ว่าดวงจันทร์แตกตัวออกจากโลก ขณะที่โลกเริ่มก่อรูปร่างขึ้นทำให้มีการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว มวลสารบางส่วนจึงหลุดออกมาเป็นดวงจันทร์ เป็นต้น

อันที่จริงคำว่า "ดวงจันทร์” เป็นชื่อเรียก ดาวบริวารหนึ่งของดาวเคราะห์ เพราะนอกเหนือจากดวงจันทร์ของโลกแล้ว ดาวเคราะห์อื่นๆก็มีดวงจันทร์เป็นบริวารเช่นเดียวกันและบางดวงยังมีมากกว่าหนึ่งดวงด้วย เพียงแต่เวลาเราพูดถึง "ดวงจันทร์” มักจะหมายถึงดวงจันทร์ที่เป็นบริวารของโลก ส่วนดวงจันทร์ของดาวเคราะห์อื่นก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ดวงจันทร์หนึ่งของดาวเสาร์มีชื่อว่า "ไททัน” ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์ชื่อ "ยูโรปา, ไอโอ, แกนิมิต และคาลลิสโต” ดาวอังคารมีดวงจันทร์ชื่อ "โฟบอส และดีมอส” เป็นต้น

ส่วนตำนานโหราศาสตร์กล่าวไว้ว่า พระอิศวรหรือพระศิวะได้สร้างพระจันทร์ขึ้นมาจากนางฟ้า ๑๕ นาง โดยร่ายพระเวทให้นางฟ้าทั้ง ๑๕ นางละเอียดป่นเป็นผงแล้วห่อด้วยผ้าขาว ประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นพระจันทร์เทพบุตรขึ้นมา มีวรกายสีขาวนวล ทรงทิพย์อาภรณ์ มีวิมานที่สถิตเป็นแก้วมุกดา ทรงอัศวราชเป็นพาหนะ สถิต ณ ทิศบูรพา (ตะวันออก) ด้วยเหตุที่พระจันทร์สร้างจากนางฟ้า ๑๕ นางนี้เอง จึงทำให้เป็นเทวะรูปงามที่มีเสน่ห์และเจ้าชู้ กล่าวกันว่า เทพบุตรองค์นี้นอกจากจะมีมเหสีหลายองค์แล้ว ยังมีชายาที่เป็นธิดาของพระทักษะประชาบดีอีก ๒๗ องค์ด้วย บางตำราก็กล่าวถึงเรื่องพระจันทร์เป็นศัตรูกับพระพฤหัสว่า เป็นเพราะชาติหนึ่งพฤหัสซึ่งเกิดเป็นทิศาปาโมกข์ พ่อนางจันทร์ ได้นำความลับที่จันทร์ลูกสาวเป็นชู้กับอังคาร ไปบอกอาทิตย์ลูกเขย สามีนางจันทร์ ทำให้ถูกจับได้ จันทร์เลยโกรธเกลียดพฤหัส และกลายเป็นที่มาของวันคู่มิตรและศัตรูในทางโหราศาสตร์ คือ คนเกิดวันจันทร์ จะไม่ถูกกับคนเกิดวันพฤหัส แต่เป็นคู่มิตรกับวันอังคาร


เมื่อเกิด "จันทรุปราคา” หรือที่บางแห่งเรียกว่า ราหูอมจันทร์ หรือกบกินเดือน คนสมัยก่อนจะเชื่อว่าปรากฎการณ์นี้เป็น "ลางบอกเหตุร้าย” จึงช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ หรือตีปีบให้เกิดเสียงดัง เพื่อให้ราหูตกใจคายพระจันทร์ออกมา นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่อง "การอาบน้ำเพ็ญ” คือ การอาบน้ำในช่วงวันพระจันทร์เต็มดวง ส่วนใหญ่จะทำพิธีในวันเพ็ญ เดือน ๑๒ โดยเชื่อว่าการอาบน้ำกลางแจ้งในวันดังกล่าวจะทำให้ได้รับพลังจากดวงจันทร์เต็มที่ ก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และช่วยชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีออกจากร่างกายและจิตใจ

แม้สภาพจริงของดวงจันทร์จะไม่ได้สวยงามอย่างที่นึกคิดในจินตนาการ แต่เสน่ห์ของมันก็ทำให้เกิดบทเพลงที่สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความคิดถึง ความผูกพัน ฯลฯ ที่คุ้นหูเราตั้งแต่เด็ก เช่น เพลงจันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า แล้วยังมีเพลงอื่นๆอีก เช่น ลาวดวงเดือน , เดือนเพ็ญ และขอจันทร์ เป็นต้น ซึ่งไม่เฉพาะในบ้านเราเท่านั้น ในต่างประเทศก็มีบทเพลงเกี่ยวกับพระจันทร์เช่นเดียวกัน
 
สำหรับนิทานหรือตำนานเกี่ยวกับ "พระจันทร์” ก็มีหลายเรื่อง เช่น ตำนานพระจันทร์ เล่ากันว่านานมาแล้ว โลกมีพระจันทร์สองดวง เป็นชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ต่อมาพระจันทร์หญิงไปหลงใหลแสงเจิดจ้าของพระอาทิตย์ จึงเลื่อนตัวตามพระอาทิตย์ไปเรื่อยๆจนแยกจากจันทร์ชายในที่สุด เมื่อค่ำคืนมาถึงจึงเหลือเพียงพระจันทร์ชายเพียงดวงเดียว พระจันทร์ชายได้ออกตามหาพระจันทร์หญิงคืนแล้วคืนเล่าแต่ก็ไม่พบ จึงได้ระเบิดตัวเองออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปทั่วจักรวาลเพื่อช่วยกันตามหา ต่อมาพระจันทร์หญิงได้ประจักษ์ว่าพระอาทิตย์มิได้ส่องแสงเจิดจ้ามาเพียงเธอเท่านั้น แต่ยังส่องไปยังดาวดวงอื่นอีกมากมาย จึงได้กลับมาหาพระจันทร์ชายอีกครั้ง แต่เธอก็ไม่อาจได้พบพระจันทร์ชายได้อีกแล้ว ทำให้เธอเศร้าโศกเสียใจ พระจันทร์ชายจึงพยายามเปล่งแสงที่มีอยู่น้อยนิดให้พระจันทร์หญิงได้เห็น เป็นแสงพร่างพรายเต็มท้องฟ้าเคียงข้างดวงจันทร์ จนเกิดเป็นดวงดาวและดวงจันทร์อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เพียงแต่วันไหนคุณเห็นดวงจันทร์สวยสด คุณก็จะไม่เห็นแสงจากดาวดวงเล็กดวงน้อย หรือวันใดที่เราเห็นดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า เราก็จะไม่เห็นพระจันทร์ เพราะเขาและเธอไม่อาจพบกันตลอดกาล

นอกเหนือจากเรื่องราวข้างต้นแล้ว อีกเรื่องที่ต้องกล่าวถึง คือ "ประเพณีไหว้พระจันทร์” อันเป็นประเพณีที่สำคัญหนึ่งของชาวจีนที่มาแต่โบราณ จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ จีนของทุกปี หรือประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม ซึ่งจะอยู่ในช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วง ที่เรียกกันว่า "จงชิว” โดยปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ความเป็นมาของวันไหว้พระจันทร์มีอยู่หลายตำนาน แต่ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับเทพธิดาฉางเอ๋อร์และกระต่ายบนดวงจันทร์ โดยมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยโบราณ โลกมีพระอาทิตย์ถึง ๑๐ ดวง ทำให้ผู้คนเดือดร้อนกันมาก เพราะแสงแดดแผดเผาจนเพาะปลูกหรือทำอะไรก็ไม่ได้ ชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อโฮ่วอี้ได้ใช้ธนูยิงพระอาทิตย์ดับไป ๙ ดวง ช่วยขจัดทุกข์ให้ประชาชน จึงได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญ และยกย่องให้เป็นกษัตริย์ ครั้นได้เป็นใหญ่ โฮ่วอี้ก็เกิดลุแก่อำนาจ ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ ทำให้ราษฎรโกรธแค้นชิงชัยเขามาก ต่อมาเขาได้ยาอายุวัฒนะจากผู้วิเศษท่านหนึ่ง ฉางเอ๋อร์พระชายาเกรงว่า ถ้าสามีนางอายุยืนจะยิ่งทำให้ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อน จึงตัดสินใจแอบกินยาอายุวัฒนะนั้น ทำให้ร่างของนางล่องลอยไปถึงดวงจันทร์ ปรากฏเป็นเทพธิดาขึ้นบนนั้น ผู้คนจึงได้บูชาพระจันทร์เพื่อระลึกถึงความดีของนาง เรื่องนี้บางแห่งก็เล่าแตกต่างกันไป โดยไม่ได้กล่าวว่าโฮ้วอี้เปลี่ยนนิสัย แต่เล่าถึงคนสนิทของโฮ่วอี้ที่ชั่วร้ายคิดทรยศ จะบุกชิงยาอายุวัฒนะจากฉางเอ๋อร์ ขณะที่โฮ่วอี้ไม่อยู่ นางจึงรีบกินยานั้นไปเสียเอง แล้วลอยไปเป็นเทพธิดาสถิตบนดวงจันทร์ ครั้นโฮ่วอี้กลับมาก็ฆ่าคนสนิทนี้ตาย ด้วยความโศกเศร้าคิดถึงฉางเอ๋อร์ พอดีเป็นวันเพ็ญเดือนแปด จึงได้จัดเครื่องเซ่นไหว้บูชาพระจันทร์เพื่อระลึกถึงนาง ส่วนเรื่องกระต่ายบนดวงจันทร์นั้นก็มีเรื่องเล่าที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นเล่ากันว่า ปีหนึ่งในเมืองเกิดอหิวาตกโรคระบาดหนัก เทพธิดาฉางเอ๋อร์จึงได้ส่งกระต่ายหยกข้างกายที่ปกติตำยาอยู่บนดวงจันทร์ให้ลงมาช่วยรักษาชาวเมืองกระต่ายหยกก็ได้แปลงกายเป็นชาวบ้านไปช่วยรักษาผู้คนจนหาย เมื่อกำจัดโรคภัยเสร็จสิ้นแล้ว กระต่ายหยกก็กลับไปยังดวงจันทร์ นับแต่นั้นชาวบ้านจึงได้บูชาเทพเจ้ากระต่ายบนดวงจันทร์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสาตร์จีน ตอนที่ "จูง่วนเจียง” ผู้นำชาวจีนสมัยนั้นได้นัดแนะชาวจีนขึ้นต่อต้านกษัตริย์ชาติมองโกลที่ยึดครองจีนอยู่ โดยให้แต่ละครอบครัวจัดทำอาวุธ และเอกสารนัดหมายแอบซ่อนไว้ในหรือใต้ขนมโก๋ หรือขนมเปี๊ยะที่มีขนาดใหญ่ โดยแกล้งทำเป็นธรรมเนียมแลกเปลี่ยนขนมระหว่างญาติเพื่อตบตาชาวมองโกล เพราะสมัยก่อนมีกฏหมายห้ามชาวจีนตีเหล็กทำอาวุธ และให้มีมีดใช้ ๕ ครอบครัวต่อหนึ่งเล่ม ซึ่งในหนังสือก็ได้นัดให้ทุกครอบครัวจัดงานไหว้พระจันทร์ด้วยการประดับประดาตกแต่งโต๊ะไหว้ให้สวยงามโดยพร้อมเพรียงกัน และถือเป็นวันดีเดย์ในการยึดอำนาจคืน เมื่อสำเร็จ จูง่วนเจียงได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ นามว่า "พระเจ้าไท้โจวเกาอ่วงตี้”

ปัจจุบันแม้เราจะเห็นคนไหว้พระจันทร์ลดน้อยถอยลงไปกว่าแต่ก่อนมาก แต่ประเพณีนี้ก็ยังมีการปฏิบัติอยู่ในหลายพื้นที่ หรือในบางประเทศ เพียงแต่ตำนาน และความเชื่ออาจจะแตกต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดคือ การระลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่มีพระคุณต่อเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้โลกเราสวยงามน่าอยู่



ขอบคุณที่มา : น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม
ภาพ : www.pexels.com


Visitors: 216,743