ซาติเวรพระอังคาร(๓)

      พระอังคาร

พระอังคาร (เทวนาครี: मंगल มํคล หรือ मङ्गल มงฺคล) เป็นเทวดานพเคราะห์องค์หนึ่ง ในคติไทย พระอังคารถูกสร้างขึ้นมาจากพระศิวะทรงนำกระบือ (ควาย) ๘ ตัว บดป่นเป็นผง ห่อผ้าสีชมพูเข้ม ประพรมด้วยน้ำอมฤต แล้วเสกได้เป็นพระอังคาร มีพระวรกายสีชมพู ทรงเครื่องประดับด้วยทองแดงและแก้วโกเมน ทรงกระบือ (ควาย) เป็นพาหนะ ประจำอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ และแสดงถึงอักษรวรรค จะ (จ ฉ ช ซ ฌ ญ) เรียกว่า สีหนาม ในไตรภูมิพระร่วง พระอังคารมีวิมานลอยอยู่รอบเขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ วิมานใหญ่ ๑๕ โยชน์ รัศมีแดง

ในคติฮินดู พระอังคาร มีนามว่า พระมังคละ หรือ พระมงคล ถือกำเนิดจากเหงื่อหรือเลือดของพระศิวะที่ทรงหยดลงในขณะทรงพระพิโรธกับการต่อสู้กับอันธกาสูร และพระแม่ธรณีได้รองรับไว้ กำเนิดเป็นกุมารกายสีแดงโลหิต มี ๔ กร บ้างก็ว่าเป็นบุตรของพระแม่ธรณีกับพระวิษณุในร่างพระวราหาวตาร เดิมมีนามว่า พระเภามะ พระเภามะได้เริ่มการบูชาพระศิวะ จนพระศิวะพอพระทัย และแต่งตั้งให้เป็นเทวดานพเคราะห์ อีกตำนานเล่าว่า พระมังคละ มีนามว่า พระโลหิตางค์ เกิดจากเหงื่อของพระศิวะในขณะที่ทรงสอนการร่ายรำตาณฑวะแก่นาฏยาจารย์ พระแม่ธรณีได้รองรับไว้ และยกกุมารนี้ให้อันธกาสูร พระโลหิตางค์ ได้ร่ำเรียนวิชากับนาฏยาจารย์ ต่อมาอันธกาสูรถูกพระศิวะสังหาร นางวฤษภานุ มเหสีของอันธกาสูรได้ยุยงให้พระโลหิตางค์ รบกับพระศิวะ พระโลหิตางค์ประชันดนตรีกับพระศิวะ และพ่ายแพ้ไป พระโลหิตางค์ได้สำนึกผิดและขอขมา พระศิวะทรงให้พรและแต่งตั้งให้เป็นเทวดานพเคราะห์ เป็นเทพประจำดาวอังคาร ซึ่งอยู่ใกล้กับโลก เป็นเทพแห่งสงคราม การสู้รบ เป็นเทพผู้มอบพรแก่เหล่ากษัตริย์และนักรบ

 

   ลักษณะของพระอังคาร ในคติไทย เป็นเทพบุรุษมีกายสีชมพู มี ๔ กร ทรงหอก ตรีศูล กระบองและศรเป็นอาวุธ สวมมงกุฎน้ำเต้า ทัดดอกไม้สีแดง สวมอาภรณ์สีแดงและสีม่วง ทรงเครื่องประดับด้วยทองแดงและแก้วโกเมน ทรงกระบือเป็นพาหนะ ในคติฮินดู เป็นเทพบุรุษมีกายสีแดงดังโลหิต รูปร่างสูงใหญ่ กำยำล่ำสัน เอวเล็ก นัยน์ตาสีแดงดังเลือด มี ๔ กร ทรงหอก ตรีศูล คทา ดอกบัว ฯลฯ สวมมงกุฎทองคำ รัศมีสีแดงโลหิต สวมอาภรณ์สีแดง ทรงเครื่องประดับด้วยทองแดงและแก้วโกเมน ทรงแพะเป็นพาหนะ

   พระอังคาร ยังมีนามอื่นๆอีก อาทิ เช่น พระมังคละ,พระเภามะ,พระโลหิตางค์,พระอังคารกะ,พระรักตวรรณ,พระกุชะ,พระภูมิบุตร,พระภูมิสุตะ,พระมหาวีระ,พระมหาศูระ,พระมหาเราทระ,พระมหาภัทระ ฯลฯ

   พระอังคาร เป็นเทวดานพเคราะห์ประเภทบาปเคราะห์ ให้ผลในทางรุนแรงและเร่าร้อน นั่นคือ ผู้ใดเกิดวันอังคาร หรือมีพระอังคารสถิตร่วมกับลัคนา มักมีอารมณ์มักโกรธ มุทะลุ ตึงตัง ชอบใช้กำลัง ขยัน อดทน ไม่ยอมคน ใจร้อน แต่กล้าหาญ 


    ตามนิทานชาติเวร พระอังคารเป็นมิตรกับพระศุกร์ และเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์ เรื่องมีอยู่ว่า พระอังคารเกิดเป็นกบ พระเสาร์เกิดเป็นงู พระศุกร์เกิดเป็นรุกขเทวดา งูได้ไล่จับกบกินเป็นอาหาร กบได้หนีมาหลบใต้ต้นไม้ รุกขเทวดารู้สึกสงสารกบ จึงสำแดงฤทธิ์ไล่งูไป ตั้งแต่นั้น พระอังคารจึงเป็นมิตรกับพระศุกร์ ส่วนพระเสาร์เป็นศัตรูกับพระศุกร์ ส่วนเรื่องพระอังคารเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์นั้น

  ครั้งหนึ่ง พระอังคารเกิดเป็นวิทยาธร พระพฤหัสบดีเกิดเป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ พระอาทิตย์เกิดเป็นมานพหนุ่ม พระจันทร์เกิดเป็นบุตรีอาจารย์ทิศาปาโมกข์ มานพหนุ่มได้มาเล่าเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ จนสำเร็จวิชา อาจารย์จึงยกบุตรีให้ และให้ใส่นางไว้ในผอบทองเพื่อจะได้ปลอดภัย วันหนึ่งมานพไปหาผลไม้ในป่า วิทยาธรได้ลักลอบมาเป็นชู้กับบุตรีอาจารย์ อาจารย์เข้าฌานและได้เห็นความประพฤติชั่วของบุตรี จึงคิดอุบายขึ้นมา วันหนึ่งมานพกลับมาเยี่ยมอาจารย์ อาจารย์ได้หยิบเซี่ยนหมากออกมารับรองไว้สองเซี่ยน มานพเห็นผิดธรรมเนียมจึงไต่ถาม อาจารย์จึงให้รีบกลับไปที่เรือนและเปิดผอบดูเถิด เมื่อมานพหนุ่มกลับมา เปิดผอบพบนางผู้เป็นภรรยาเป็นชู้กับวิทยาธร วิทยาธรเห็นดังนั้นก็ตกใจ หยิบพระขรรค์ฟันศีรษะมานพหนุ่ม ส่วนมานพขว้างจักรเพชรไป ถูกขาวิทยาธรขาด ตั้งแต่นั้น 

  พระอังคารจึงเป็นศัตรูกับพระอาทิตย์ ส่วนพระจันทร์เป็นศัตรูกับพระพฤหัสบดี และพระอาทิตย์เป็นมิตรกับพระพฤหัสบดี จากตำนานนี้ผู้ใดที่เกิดวันอังคารแล้วพระศุกร์โคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะมีมิตรสหายเกื้อหนุน ได้ลาภยศทรัพย์สินเงินทอง รอดพ้นภัยพาล หากพระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ดวงชะตา จะเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับขา ขาหัก ข้อเท้าพลิก หรือมีอาการเจ็บปากเจ็บคอ

ในโหราศาสตร์ไทย พระอังคารถูกแทนด้วยสัญลักษณ์ ๓ (เลขสามไทย) และด้วยเหตุที่สร้างขึ้นมาจากกระบือ ๘ ตัว จึงมีกำลังพระเคราะห์เป็น ๘ สำหรับพระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอังคารก็คือ ปางไสยาสน์ และภายหลังมี ปางลีลา เพิ่มอีกหนึ่งปาง

เมื่อเทียบกับความเชื่อทางตะวันตกแล้ว พระอังคารเทียบได้กับแอรีสของเทพปกรณัมกรีก และมาร์สของเทพปกรณัมโรมัน ซึ่งทั้งคู่ก็เป็นเทพแห่งสงครามเช่นเดียวกัน




อ้างอิง[แก้]

  • อุระคินทร์ วิริยะบูรณะ และคณะ.พรหมชาติ ฉบับหลวง. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  • เทพย์ สาริกบุตร และคณะ.พรหมชาติ ฉบับราษฎร์. กรุงเทพฯ:สำนักงาน ลูก ส.ธรรมภักดี, ม.ป.ป.
  
ขอบคุณที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3
 
Visitors: 192,770