มฤตยูเทพ ที่เพิ่งเกิด

   พระมฤตยู เทพที่เพิ่งเกิด
   หลังการค้นพบ “ดาวมฤตยู”

   ภาพที่มักถูกวาดขึ้นบนหลังบานประตูหน้าต่างของโบสถ์วิหารจนกลายเป็นธรรมเนียมที่พบเห็นได้ทั่วไปก็คือ ภาพ “ทวารบาล” 

   ภาพทวารบาลเหล่านี้มักเป็นเทพในศาสนาฮินดูที่มีอิทธิฤทธิ์ซึ่งศาสนาพุทธได้ดึงมาเป็นของตน แล้วปรับเปลี่ยนให้กลายเป็น “เทพผู้พิทักษ์พุทธสถาน” นอกจากนี้ยังมีเทพประจำทิศ เทพพระเคราะห์หรือเทพนพเคราะห์ด้วย โดยเทพต่างๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่ถูกวาดขึ้นจาก “ภาพแม่แบบ” ในตำราภาพโบราณ ซึ่งมีการอธิบายถึงประวัติความเป็นมาและรูปลักษณ์ของเทพต่าง 
               
   อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักวิชาการแห่งกรมศิลปากร อธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง "เทพฮินดูผู้พิทักษ์พุทธสถาน" ว่า จากการศึกษาภาพทวารบาลของวัดสำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์ทำให้พบว่า ภาพเทพทวารบาลส่วนใหญ่มาจากศาสนาฮินดู มีทั้งเทพสูงสุดและเทพลำดับรอง นอกจากนี้ยังมีเทพอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังคงเป็นปริศนา ไม่รู้ที่มา ไม่ทราบเรื่องราว ทั้งยังมีรูปแบบแปลกๆ เช่น ภาพเทพทวารบาลที่วัดราชนัดดาภาพหนึ่ง วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีชื่อระบุไว้ใต้ภาพชัดเจนว่า “พระมฤตยู” แต่เมื่อสืบค้นแล้ว ไม่พบต้นแบบของเทพองค์นี้ในตำราภาพโบราณฉบับใดเลย 

  อรุณศักดิ์ กิ่งมณี อธิบายว่า พระมฤตยูน่าจะเป็น “เทพองค์ใหม่” ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น หลังจากที่ได้มีการค้นพบ “ดาวมฤตยู” ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่มนุษย์เพิ่งค้นพบในราวสมัยรัชกาลที่ ๔ และต่อมาถูกนำมาใช้ในการพยากรณ์ของไทย ฉะนั้นพระมฤตยูที่เพิ่งเกิดใหม่นี้จึงไม่ปรากฏอยู่ในตำราภาพรุ่นเก่าๆ     

ภาพพระมฤตยูที่วัดราชนัดดาแห่งนี้ ถูกวาดขึ้นเป็นรูปเทพถือกระบอง ที่ปลายเท้าด้านล่างมีภาพนกฮูกหรือนกแสก ซึ่งคาดว่าหมายถึงพาหนะของพระองค์ การวาดให้ถือกระบองและมีนกฮูกเป็นพาหนะนั้น คงมีที่มาจากความเชื่อว่าพระมฤตยูคือเทพในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความตายและอสูร เช่น พระยม และท้าวกุเวร ฉะนั้นจึงนำนกฮูก ซึ่งเป็นพาหนะของพระยม และนำกระบองของท้าวกุเวร มาใช้ประกอบในภาพพระมฤตยู
 
 
ดูรายละเอียดเรื่องนี้และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ อีกได้ในหนังสือเรื่อง เทพฮินดู ผู้พิทักษ์พุทธสถาน โดยสำนักพิมพ์มิวเซียมเพรส
 
 
ขอบคุณที่มา : https://www.museum-press.com/content/374/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%B9-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%9A-%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%A4%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B8%B9
Visitors: 216,707