ดาวนพเคราะห์

อวินิโภครูป:พระอาทิตย์ พระจันทร์ นพเคราะห์ ดารากร
           

ตั้งแต่เขตกำแพงจักรวาลถึงเขายุคันธร ระหว่างกลางเป็นหนทางโคจรของพระอาทิตย์ พระจันทร์ และดาวนพเคราะห์ ดวงดาวทั้งหลายเที่ยวหมุนเวียนไปมาในทางวีถีที่ทำให้เรารู้ ปี เดือน วัน และรู้จักพยากรณ์เรื่องดีและร้ายได้

ตั้งแต่พื้นแผ่นดินที่เราอยู่นี้ขึ้นไปถึงดวงอาทิตย์ สูงได้ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ๘,๐๐๐ วา ดวงจันทร์อยู่ต่ำกว่าดวงอาทิตย์ ๘,๐๐๐ วา ดวงอาทิตย์กว้าง ๔๐๐,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๒๐๐,๐๐๐ วา ดวงจันทร์กว้าง ๓๙๒,๐๐๐ วา รอบปริมณฑล ๑,๑๗๖,๐๐๐ วา

โคณวิถี พระอาทิตย์โคจรชิดกำแพงจักรวาล ในเดือน ๑๒-๑-๒-๓ เป็น 
ฤดูหนาว

อชวิถี พระอาทิตย์โคจรตรงกลาง ในเดือน ๔-๕-๖-๗ เป็นฤดูร้อน

นาควิถี พระอาทิตย์โคจรด้านทิศเหนือ ในเดือน ๘-๙-๑๐-๑๑ เป็นฤดูฝน

ในระหว่างโคณวิถีนั้น กว้าง ๔๓๓,๗๒๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาค กว้าง ภาคละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ ภาคหนึ่งชื่อพาหิรกมณฑล อยู่ทางทิศใต้ ใกล้กำแพงจักรวาล ภาคสองชื่อ มัชฌิมมณฑล อยู่ตรงกลางภาคสามชื่ออุตตรมณฑล อยู่ทางทิศเหนือใกล้เขาพระสุเมรุ เมื่อพระอาทิตย์โคจรในโคณวิถีนั้น โคจรใน พาหิรกมณฑล จะโคจรในมัชฌิมมณฑล ในเดือน ๑๒ เพียง ๑๕ วันเท่านั้น ไม่โคจรในอุตตรมณฑลเลย

อชวิถีนั้น กว้าง ๔๓๓,๗๒๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาคๆ ละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ คือ ภาคใต้ชิดกำแพงจักรวาล ชื่อ พาหิรกมณฑล ภาคกลาง ชื่อ มัชฌิมมณฑล ภาคเหนือ ชื่อ อุตตรมณฑล

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในอชวิถีนั้น โคจรในมัชฌิมมณฑลตลอดเวลา จะโคจรในพาหิรกมณฑลเพียง ๑๕ วัน แม้ในอุตตรมณฑลก็จะโคจรในเดือน ๖ เพียง ๑๕ วัน เหมือนกัน

หลังจากเดือน ๗ ไป พระอาทิตย์จะโคจรทางนาควิถี กว้าง ๔๓๓,๗๓๕ โยชน์ แบ่งเป็น ๓ ภาคๆ ละ ๑๔๔,๕๗๕ โยชน์ คือ ภาคใต้ชื่อพาหิรกมณฑล ภาคกลางชื่อ มัชฌิมมณฑล ภาคเหนือชื่อ อุตตรมณฑล

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในนาควิถีนั้น โคจรในอุตตรมณฑลตลอดเวลา จะโคจรในมัชฌิมมณฑลในเดือน ๑๐ ข้างแรมเพียง ๑๕ วัน และเดือน ๑๑ ตลอดเดือน ไม่โคจรในพาหิรกมณฑลเลย

มณฑลทั้งหลายที่กล่าวถึง หมายถึงมณฑลที่อยู่ในวิถีของตน ไม่ได้หมายถึงวิถีอื่น


วิถีทั้งสาม(มีดาวฤกษ์โคจรอยู่วิถีละ ๙ หมู่ดังนี้ ๑. อัสสุนี (อัศวินี ดาวม้า, คอม้า หางหนู) ๒. ภรณี (ก้อนเส้า, แม่ไก่) ๓. กฤติกา (ลูกไก่, ธงสามเหลี่ยมมีหาง) ๔. โรหิณี (คางหมู, จมูกม้า, ไม้ค้ำเกวียนเรียวยาว) ๕. มิคสิระ (หัวเนื้อ,หัวเต่า) ๖ง อัทระ (อารทรา ดาวตาสำเภา, ฉัตร) ๗. ปุนัพพสุ (สำเภาทอง, เรือชัย,สำเภา) ๘. เรวดี (ปลาตะเพียน,หญิงมีครรภ์) ๙. อุตตรภัทร (ไม้เท้า, ราชสีห์ตัวผู้)  

ดาวฤกษ์ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในอชวิถี ๑. ปุสสะ (บุษยะ สมอสำเภา, ปุยฝ้าย, พวงดอกไม้) ๒. อัสเลสะ (อาศเลษา เรือน, แขนคู้พ้อม) ๓. มาฆะ (มฆา งูตัวผู้, วานร, งอนไถ) ๔. บุพพผลคุณะ (บุรพผลคุณี งูตัวเมีย,แรดตัวผู้) ๕. อุตตรผลคุณะ (อุตตรผลคุณี ดาว,จุดไฟ) ๖. หัสตะ (ศอกคู้, ฝ่ามือ, เหนียงสัตว์) ๗. จิตระ (จิตรา ตาจระเข้, ต่อมน้ำ, ไต้เพพาน) ๘. สวาติ (ช้างพัง, ดวงแก้ว, กระออมน้ำ) ๙. พิสาขะ (วิศาขา, วิสาขะ คันฉัตร,แขนนาง)  

ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในโคณวิถี ๑. อนุราธะ (นุราธา ประจำฉัตร, ธนูหน้าไม้,หงอนนาค) ๒. เชษฐะ (เชษฐา ช้างใหญ่, งาช้าง คอนาค) ๓. มูละ (ช้างน้อย, สะดือนาค) ๔. บุพพาสาฒะ (บุรพาษาฒ สัปคับช้าง, ช้างพลาย, ปากนก) ๕. อุตราสาฒะ (อุตตราษาฒ แตรงอน, ครุฑ, ช้างพัง) ๖. ศรวณะ (หลักชัย, หามศพ, โลง) ๗. ธนิษฐะ (ธนิษฐา ไข่, กา) ๘. ศตภิษช์ (ศตภิษัช พิมพ์ทอง, มังกร) ๙. บุพพภทระ (บุรพภัทระ หัวเนื้อทราย, ราชสีห์ตัวผู้)  

ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในนาควิถี) ที่หมู่ดาวฤกษ์โคจรนั้นยาว ๙๐๐,๐๐๐ โยชน์ แต่ละวิถีนั้น มีดาวฤกษ์โคจรอยู่วิถีละ ๙ หมู่ คือ ดาวอุตตรภัทร เรวดี อัสสุนี กรณี กฤติกา โรหิณี มิคสิระ อัทระ และปุนัพพสุ 

ดาวฤกษ์ทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในอชวิถี ดาวปุสสะ อัสเลสะ มาฆะ บุพพผลคุณะ อุตตรผลคุณะ หัสตะ จิตระ สวาติ และไพสาขะ 

ทั้ง ๙หมู่นี้โคจรในโคณวีถีดาวอนุราธะ เชษฐะ มูละ บุพพาสาฒะ อุตราสาฒะ ศรวณะ ธนิษฐะ ศตภิษช์ และบุพพภัทระ

ดาวทั้ง ๙ หมู่นี้โคจรในนาควิถี ระหว่างดาวฤกษ์เหล่านั้น โคจรไกลกันดวงละ ๑ โยชน์

ดาวเหล่านี้เรียกว่า สัตตพีสนักษัตร (ดาวฤกษ์ ๒๗) มีมณฑลเรียงกันได้ ๒,๘๐๐,๐๐๐ โยชน์ แต่ละดวงมีวิมานแก้วเรียงรายอยู่ดังนี้ดาวอัสสุนี มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวภรณี มีวิมานแก้ว ๓ หลัง เรียงกันอยู่เหมือนก้อนเส้า ดาวกฤติกา มีวิมานแก้ว ๗ หลังเรียงกันอยู่ ดาวโรหิณี มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่เหมือนพนม ดาวมิคสิระ มีวิมานแก้ว ๓ หลังเรียงกันอยู่เหมือนเรือ ดาวอัทระ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวปุนัพพสุ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวปุสสะ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่เหมือนเรือ ดาวอัสเลสะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวมาฆะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวบุพพผลคุณะ มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตรผลคุณะ มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวหัสตะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวจิตระ มีวิมาน แก้วหลังเดียว ดาวสวาติ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวไพสาขะ มีวิมานแก้ว ๖ หลัง เป็นปริมณฑล ดาวอนุราธะ มีวิมานแก้ว ๗ หลังเรียงกันอยู่ ดาวเชษฐะ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวมูละ มีวิมานแก้ว ๕ หลังเรียงกันอยู่ ดาวบุพพาสาฒะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตราสาฒะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาวศรวณะ มีวิมานแก้ว ๓ หลังเรียงกันอยู่ ดาวธนิษฐะ มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียงกันอยู่ ดาว ศตภิษธ์ มีวิมานแก้วหลังเดียว ดาวบุพพกัทร มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวอุตตรภัทร มีวิมานแก้ว ๒ หลังเรียงกันอยู่ ดาวเรวดี มีวิมานแก้ว ๔ หลังเรียง กันอยู่

   มณฑลพระอาทิตย์โคจรก็ได้ ๒,๗๐๐,๐๐๐ โยชน์ แม้จะโคจรในวิถีใดๆ ก็ตาม มณฑลนั้นก็เท่ากันไม่ใหญ่ไม่น้อยเลย
ถ้าพระอาทิตย์โคจรในวิถีมณฑลชั้นในก็ใกล้เขาพระสุเมรุราชทางด้าน บุพพวิเทหทวีปและอมรโคยานทวีป ถ้าโคจรในวิถีมณฑลชั้นนอกก็ใกล้กำแพงจักรวาลทางด้านชมพูทวีป และอุตตรกุรุทวีป เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลกลาง ในบุพพวีเทหทวีป เวลากลางวันนาน กลางคืนสั้น สว่างเร็ว กลางวัน ๑๘ นาทีจึงมืด กลางคืน ๑๒ นาทีจึงสว่าง ในอมรโคยานทวีป กลางคืนนาน กลางวันสั้น สว่างช้า มืดเร็ว กลางคืน ๑๘ นาทีจึงสว่าง กลางวัน ๑๒ นาทีจึงมืด ในชมพูทวีปและอุตตรกุรุทวีป กลางวันและกลางคืนเท่ากัน กลางวัน ๑๕ นาทีจึงมืด กลางคืน ๑๕ นาทีจึงสว่าง

เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลชั้นใน ในมณฑลชั้นนอก ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีป หรือในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ก็ตาม ก็เหมือนกัน คือ กลางวันกับกลางคืนเท่ากันดังกล่าวมาแล้ว ในแผ่นดินบุพพวิเทหทวีปและอมรโคยานทวีปนั้น ถ้าพระอาทิตย์โคจรในโคณวีถี กลางวันนานกว่ากลางคืน เพราะพระอาทิตย์สถิตอยู่นานกว่าจะลับเขาพระสุเมรุราช ด้วยโคจรไปทางคด ถ้าพระอาทิตย์ลับเขาพระสุเมรุราชเร็ว กลางคืนจะมากกว่ากลางวัน

ฉะนั้น ถึงพิจารณาดูในวีถีมณฑลทั้ง ๓ ก็จะรู้ได้ว่าเมื่อกลางคืนมากกว่ากลางวัน จะสว่างช้า เมื่อกลางวันมากกว่ากลางคืน จะมืดช้า เช่นเดียวกัน บางคราวกลางวันกับกลางคืนเท่ากัน เมื่อพระอาทิตย์โคจรในมณฑลเหล่านี้

เดือน ๘ – ๙ เมื่อสิ้นสงกรานต์แล้วเดือนหนึ่ง ย่างเข้าเดือน ๘ ที่แท้นั้น พระอาทิตย์โคจรเหนือยอดเขายุคันธร ตอนเที่ยงวันเราจะเหยียบเงาหัวของเรา กลางวัน ๑๘ นาที กลางวัน ๑๒ นาที

หลังจากวันสงกรานต์ไปแล้ว จะโคจรถอยห่างออกจากเขายุคันธรเป็น ทางไกลได้วันละ ๗,๕๐๐ โยชน์ ตอนเที่ยงวัน เมื่อเราดูเงาของเรา จะเห็นเงาห่างจากตัวเราได้ครึ่งนิ้วมือ เมื่อถึง ๒ วัน พระอาทิตย์โคจรถอยห่างจากภูเขายุคันธร ๑๕,๐๐๐ โยชน์ เมื่อเราดูเงาของเราในตอนเที่ยง จะเห็นเงาห่างจากตัวเราได้ ๑ นิ้ว เมื่อถึง ๓ วัน ก็จะเคลื่อนห่างออกโดยลำดับ จนถึง ๑๕ วัน พระอาทิตย์ก็จะโคจรออกจากภูเขายุคันธรทุกวันโดยลำดับ เมื่อถึง ๑๕ วัน ไกลจากภูเขายุคันธรได้ ๑๑๒,๕๐๐ โยชน์ ตอนเที่ยงเราดูเงาของเรา จะเห็นออกห่างจากตัวเราได้ ๗ นิ้วครึ่ง ถอยห่างออกมาอก ๒-๓ วัน พอถึงเดือน ๙ ก็จะไกลจากเขายุคันธรได้ ๒๒๕,๐๐๐ โยชน์ เราดูเงาของเราจะเห็นออกห่างจากตัวเราได้ ๑ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๗ นาที กลางคืน ๑๓ นาที ตลอด ๓๐ วัน

พอถึงเดือน ๑๐ พระอาทิตย์โคจรไกลยอดเขายุคันธรได้ ๔๕๐,๐๐๐ โยชน์ ถึงมณฑลชั้นกลางในนาควิถี ดูเงาของเราออกห่างจากตัวได้ ๒ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๖ นาที กลางคืน ๑๔ นาที ตลอด ๓๐ วัน

ก่อนจะถึงเดือน ๗ พระอาทิตย์โคจรถอยกลับจากจักรวาลฟากโน้นได้ ๑,๑๒๖,๐๐๐ โยชน์ ถึงกลางอชวิถี เงาของเราก็จะถอยหลังกลับคืนเหนือ ๑ ฝ่าเท้า เวลากลางวันนาน ๑๗ นาที กลางคืน ๑๓ นาที ตลอด ๓๐ วัน

ครั้นถึงเดือน ๘ พระอาทิตย์โคจรถึงยอดเขายุคันธรเหมือนเดิม ไกลจาก เขาจักรวาลฟากโน้นได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราไม่เห็นเลย เวลากลางวันนานได้ ๑๘ นาที กลางคืน ๑๒ นาที

ในวิถีทั้ง ๓ นั้น มีราศี ๑๒ ราศี(เกิดจากการสังเกตดาวเป็นรูปลักษณะต่างๆ) คือ ราศีเมษ (แพะ) ราศีพฤษภ (โค) ราศีเมถุน (คนคู่) ราศีกรกฎ (ปู) ราศีสิงห์ (ราชสีห์) ราศีกันย์ (หญิงสาว) ราศีตุลย์ (คันชั่ง) ราศีพิจิก (แมลงป่อง) ราศีธนู (ธนู) ราศีมังกร (มังกร) ราคีกุมภ์ (หม้อ) ราศีมีน (ปลา)

ราศีที่นักกษัตรหรือดวงดาวอยู่นี้กว้าง ๒๒,๐๐๐ โยชน์เท่ากัน พระอาทิตย์โคจรไปในวิถีนั้นๆ เคลื่อนไปได้วันละ ๗๕,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราที่แผ่นดินยาวออกไปได้ ๑ นิ้วมือ โคจรเคลื่อนไปตามลำดับครบ ๓๐ วัน จึงจะพ้นราศีหนึ่ง ไกลได้ ๒๒๕,๐๐๐ โยชน์ ดูเงาของเราที่แผ่นดินยาวออกไปได้ ๑ ฝ่าเท้า โคจรไปครบ ๑๒๐ วัน ไกล ๙๐๐,๐๐๐ โยชน์ จึงจะพ้นวิถี นับเป็นพ้นฤดูหนึ่ง

ฤดูมี ๓ คือ ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนึ่งมี ๔ เดือน ๓ ฤดู (หรือ ๑๒ เดือน) เป็น ๑ ปี ถ้าพระอาทิตย์โคจรไปในโคณวิถีทางทิศใต้ ก็จะเป็นฤดูหนาว มี ๔ เดือนคือ เดือน ๑๒-๑-๒-๓ ถ้าพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นโคณวิถีวันใด วันนั้นก็เป็นวันพ้นฤดูหนาว หากย่างเข้าเดือน ๔ วันหนึ่ง พระอาทิตย์ก็จะโคจรถอยห่างออกจากกำแพงจักรวาลในวันนั้น ถ้าพระอาทิตย์โคจรในอชวิถีอยู่เหนือศีรษะของเรา เมื่อนั้นก็เป็นฤดูร้อน มี ๔ เดือน คือ เดือน ๔-๕-๖-๗ เมื่อพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นอชวิถีวันใด วันนั้นก็หมดฤดูร้อน ถ้าพระอาทิตย์โคจรไปในนาควิถีทางทิศเหนือ เมื่อนั้นก็เป็นฤดูฝน มี ๔ เดือน คือ เดือน ๘-๙-๑๐-๑๑ เมื่อพระอาทิตย์โคจรข้ามพ้นนาควิถี คือ โคจรจากราศีตุลมาสู่ราศีพิจิกถึงเดือน ๑๒ วันใด วันนั้นก็หมดฤดูฝน

ย่างเข้าเดือน ๘ วันหนึ่ง พระอาทิตย์โคจรถอยห่างจากภูเขายุคันธรกลับ คืนมาในวันนั้น พระอาทิตย์โคจรรอบเขาพระสุเมรุราชรอบหนึ่ง ก็พอครบขวบปีหนึ่ง จึงกลับมาสถิตที่เก่า ฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ย่อมมีเพราะพระอาทิตย์สถิต ในวิถีนั้นๆ เมื่อพระอาทิตย์สถิตในโคณวิถีย่อมหนาว แต่ยังมีร้อนบ้างเพราะวัวชอบร้อนและเย็น หากพระอาทิตย์สถิตในอชวิถี อากาศร้อน เพราะแพะไม่ชอบนํ้า เมื่อสถิตในนาควิถี มีฝนตก เพราะนาคชอบนํ้า

พระอาทิตย์สถิตอยู่ในวิมานแก้วผลึก มีรัศมีส่องแสงสว่างเหมือนแก้วผลึก จึงร้อนแรงยิ่งนัก พระจันทร์สถิตอยู่ในวิมานเงินและวิมานแก้วมณี มีรัศมีส่องแสง เหมือนสีเงินและแก้วมณี จึงเยือกเย็นยิ่งนัก พระอาทิตย์ส่องแสงให้เห็นได้สองทวีป ในทวีปหนึ่งเห็นได้เล็กน้อย มืดไปครึ่งหนึ่ง ที่เห็นได้เพราะรัศมีพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างไปไกลได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ ที่มืดนั้น ๓๐ นาที ขวางรอบรัศมีพระอาทิตย์นั้น มีเงาทอดไปไกลได้ ๔๕,๐๐๐ โยชน์

เมื่อเวลาตะวันขึ้นในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ ตรงกับเวลาเที่ยงวันในบุพพวิเทหทวีปเป็นเวลาตะวันตกในอุตตรกุรุทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในอมรโคยานทวีป เมื่อเวลาตะวันขึ้นในบุพพวิเทหทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในอุตตรกุรุทวีป เป็นเวลาตะวันตกในอมรโคยานทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ เมื่อเวลาตะวันขึ้นในอุตตรกุรุทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในอมรโคยานทวีป เป็นเวลาตะวันตก ในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้และเป็นเวลาเที่ยงคืนในบุพพวิเทหทวีป เมื่อเวลาตะวันขึ้นในอมรโคยานทวีป ตรงกับเวลาเที่ยงวันในชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ เป็นเวลาตะวันตกในบุพพวิเทหทวีป และเป็นเวลาเที่ยงคืนในอุตตรกุรุทวีป

                                                                               เวลาสว่างและมืดมีอยู่ดังได้กล่าวมานี้

ที่เราเห็นว่าเป็นเวลาเดือนเพ็ญคือ ขึ้น ๑๕ คํ่า และเดือนดับ คือแรม ๑๔ หรือ ๑๕ คํ่านั้น ก็เพราะพระอาทิตย์สถิตอยู่ข้างหนึ่งของเขาพระสุเมรุราช และพระจันทร์ก็โคจรอยู่อีกข้างหนึ่งของเขาพระสุเมรุราช ไกลกันได้ ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระจันทร์ส่องสว่างให้เห็นได้รอบวงกลม จึงเรียกว่าพระจันทร์เพ็ญเต็มดวง

แรม ๑ คํ่า พระอาทิตย์เข้ามาสถิตอยู่ใกล้พระจันทร์และพระจันทร์ก็โคจรเข้าไปใกล้พระอาทิตย์ ๑,๒๖๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์มากกว่าพระจันทร์ จึงบังรัศมีพระจันทร์หน่อยหนึ่งในส่วนด้านหน้าได้ ๒๖,๑๓๓ วา ๑ ศอก ๘ นิ้ว เงาของวิมานพระจันทร์มาบังพระจันทร์เสียเอง จึงเห็นเป็นแหว่งข้างหนึ่ง เราจึงเห็นพระจันทร์ไม่กลมเหมือนจันทร์เพ็ญเต็มดวง เรียกว่าเดือนแรม ๑ คํ่า

แรม ๒ คํ่า พระอาทิตย์สถิตใกล้พระจันทร์เข้ามาอีก ห่างไกลกันได้ ๑,๑๗๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์ทอดมาบังพระจันทร์ จึงเห็นแหว่งมากกว่าเก่า ถึง ๒,๒๖๖ วา ๒ ศอก ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว เรียกว่า เดือนแรม ๒ คํ่า

แรม ๓ คํ่า พระอาทิตย์สถิตใกล้พระจันทร์เข้ามาอีก ไกลกันได้ ๑,๐๘๐,๐๐๐ โยชน์ รัศมีพระอาทิตย์ยิ่งบังพระจันทร์มากยิ่งขึ้นกว่าเก่า จึงเห็นแหว่งมากยิ่งขึ้นได้ ๗๘,๓๙๙ วา ๓ ศอก ๓ นิ้ว เรียกว่า เดือนแรม ๓ คํ่า

พระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้พระจันทร์โดยลำดับดังกล่าวมาแล้วจนถึงแรม ๑๔ คํ่า พระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้พระจันทร์ ไกลกันเป็นระยะ ๙๐,๐๐๐ โยชน์ เงาพระอาทิตย์ก็ยิ่งมาบังพระจันทร์ เห็นได้เพียงเสี้ยวน้อยนิดเดียวทางทิศตะวันออก เรียกว่า เดือนแรม ๑๔ คํ่า

ครั้นถึง ๑๕ วัน พระอาทิตย์โคจรทันพระจันทร์ รัศมีพระอาทิตย์ส่องมา บังพระจันทร์มืดมิด มองไม่เห็นพระจันทร์เลย เรียกว่าเดือนดับ คือ แรม ๑๔ หรือ ๑๕ คํ่า

เมื่อเดือนขึ้นใหม่ ๑ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างจากจุดที่พระจันทร์ดับนั้น ออกไปไกลได้ ๑๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างออกไปได้๑๐,๐๐๐ โยชน์ มองเห็นพระจันทร์เป็นเสี้ยวเล็กนิดเดียวทางทิศตะวันออก ขนาดใหญ่ได้ ๒๖,๑๓๓ วา ๑ ศอก ๘ นิ้ว

เดือนขึ้น ๒ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ไปไกลได้ ๒๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างไปได้ ๒๐,๐๐๐ โยชน์ มองเห็นพระจันทร์ยิ่งใหญ่ขึ้นตามลำดับ เหมือนกับที่กล่าวมาแล้ว

เดือนขึ้น ๓ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ไปไกลได้ ๓๐๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็โคจรห่างออกไปได้ ๓๐,๐๐๐ โยชน์ พระจันทร์ก็ยิ่งทวีใหญ่ขึ้นตามลำดับอย่างนั้นจนถึงวันขึ้น ๑๔ คํ่า พระอาทิตย์โคจรห่างพระจันทร์ออกไปไกลถึง ๑,๓๕๐,๐๐๐ โยชน์ เมื่อพระอาทิตย์ลับเขาพระสุเมรุราช ก็มองเห็นพระจันทร์เพ็ญเต็มดวง

การที่พระจันทร์ถูกรัศมีพระอาทิตย์ไปบังนั้น เปรียบเหมือนโคมไฟดวง ใหญ่กับโคมไฟดวงเล็ก พระอาทิตย์เปรียบเหมือนโคมไฟใหญ่มีนํ้ามันและไส้ได้พันเท่า ส่วนพระจันทร์นั้นเล่า เหมือนโคมไฟดวงเล็กมีนํ้ามันและไส้เพียงหนึ่งเท่า เมื่อจุดโคมไฟดวงเล็กตามไปในหนทางคืนเดือนมืด ก็ส่องแสงสว่างให้เห็นได้ เมื่อมีคนจุดโคมไฟดวงใหญ่ตามมาพบกันกลางทางก็กลายเป็นแสงสว่างของโคมไฟดวงใหญ่ไป ไม่เห็นแสงสว่างของโคมไฟดวงเล็กเลย พระจันทร์ส่องสว่างและมืดก็อย่างเดียวกัน

เมื่อพระจันทร์กับพระอาทิตย์โคจรเข้าใกล้กันนั้น ดูเหมือนว่าพระอาทิตย์ โคจรเร็วกว่าพระจันทร์ เมื่อโคจรโดยเวียนขวา พร้อมทั้งดาวฤกษ์ ๒๗ ดวง ซึ่งอยู่ใน ๑๒ ราศี เป็นบริวารของพระอาทิตย์ ส่วนพระอาทิตย์และพระจันทร์เอง ทั้งราศี วัน เดือน เวียนขวาไปรอบเขาพระสุเมรุราช ไม่คลาดเคลื่อนเลยแม้แต่ เท่าเส้นผม

แต่ทว่า พระอาทิตย์ พระจันทร์ กับ ดาวนพเคราะห์ ๖ ดวง คือ ดาว พระอังคาร ดาวพระพุธ ดาวพระพฤหัสบดี ดาวพระศุกร์ ดาวพระเสาร์ ดาวพระเกตุ โคจรโดยเวียนตามกันทางขวาไม่คลาดเคลื่อน พระอาทิตย์โคจรเร็วกว่าพระจันทร์ วันละ ๙๐,๐๐๐ โยชน์ ดาวฤกษ์ ๒๗ ดวง โคจรเร็วกว่าพระอาทิตย์วันละ ๗,๕๐๐ โยชน์

สัตว์ในทวีปทั้ง ๔ ในจักรวาลนี้ อาศัยพระอาทิตย์ พระจันทร์ โคจร หมุนเวียนไปเช่นนี้ จึงทราบ วัน คืน เดือน ปี ได้

มนุษย์ที่อยู่ใน ๓ ทวีปโน้น นอนหันศีรษะไปทางเขาจักรวาล เอาปลายเท้าไปทางเขาพระสุเมรุราชเหมือนเรา เพื่อว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น คนมองดูพระอาทิตย์ยกมือขวาขึ้น มือขวาจะอยู่ทางเขาจักรวาล มือซ้ายอยู่ทางเขาพระสุเมรุราช ฉะนั้น คนจึงนอนหันศีรษะไปทางทิศใต้ เอาเท้าไปทางทิศเหนือ ด้วยเหตุนี้

แผ่นดิน ๔ ทวีป อยู่ ๔ ด้าน ของภูเขาพระสุเมรุราช คือ แผ่นดิน บุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๒๑,๐๐๐ โยชน์ แผ่นดินอุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาพระสุเมรุราชกว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๒,๐๐๐ โยชน์ เป็นรูปสี่เหลี่ยม แผ่นดินอมรโคยานทวีปอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุราชกว้าง ๙,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๒๒,๐๐๐(น่าจะเป็น ๑๑,๐๐๐ โยชน์) โยชน์ เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีก แผ่นดินชมพูทวีปที่เราอยู่นี้ อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุราช กว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์

พื้นแผ่นดินใหญ่ทั้ง ๔ ทวีปนี้ มีแผ่นดินเล็กล้อมรอบเป็นบริวารทวีปละ ๕๐๐ ทวีปเล็กทั้ง ๔ ซึ่งอยู่ระหว่างกลางทวีปใหญ่ เรียกว่า สุวัณณทวีปกว้างทวีปละ ๑,๐๐๐ โยชน์ รอบปริมณฑล ๓๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของพระยาครุฑ

 

 

  คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน
 

Visitors: 192,770