วันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ เรียงลำดับตามอะไร?
อะไรๆ ที่เป็นความเคยชิน เรามักไม่ตั้งข้อสงสัยและคิดสอบสวนหาเหตุผล อาจจะเห็นเป็นเรื่องหญ้าปากคอก ตามคติของคนแต่ก่อนนั้นก็ได้ แต่ก็มีอยู่บ่อยครั้งที่หญ้าปากคอกต้องทำให้ครูหลายคนถึงกับสะอึก เมื่อพยายามกล้ำกลืนมันเข้าไป
อย่างน้อยก็มีผมคนหนึ่งล่ะ ที่นอกจากสะอึกแล้ว ลางทีก็ทำเอาติดคอให้ทุรนทุรายเหลือกำลัง เพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าในโอกาสเช่นนั้นควรกลืนหรือคายดี
อย่างคำถามว่า วันต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ทราบกันทุกคนว่ามีลำดับชื่อเป็น อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ นั้นเรียงลำดับตามอะไร?
ครับปัญหาที่ไม่น่าถาม เพราะรู้จักกันมาตั้งแต่เด็ก และไม่มีใครเขาสงสัยกัน แต่เมื่ถูกถามแล้ว ลองพิจารณาประเด็นที่เป็นข้อสงสัย ก็เป็นเรื่องน่าคิดและน่าหาคำตอบอยู่ไม่น้อย เพราะพิจารณาลำดับแล้ว ไม่ตรงกับลำดับของระบบสุริยะหรือระบบจักรวาล ไม่ว่าจะเป็นระบบที่ถือโลกหรือดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง เฉพาะลำดับอาทิตย์กับจันทร์นั้นพอจะคาดเดาเอาได้ เพราะเป็นดาวใหญ่ บ่งบอกถึงกลางวัน กลางคืน การเรียงไว้ต่อกันก็พอจะคิดเห็นได้ เพราะกลางวันต่อกับกลางคืน
แต่อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์เล่า โบราณท่านเอาอะไรมากำหนดเป็นเกณฑ์ลำดับ?
ปัญหานี้เป็นปัญหาประเภทตอบไม่ได้ในทันที จึงต้องติดค้างไว้ค่อนข้างนาน ค่อยๆ ค้น ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ขบ กว่าจะแตก เวลาก็ผ่านไปจนผมเปลี่ยนสีไปค่อนหัวแล้ว เพราะมันเป็นปัญหาที่ยากและท้าทาย ครั้นจะยืนคำตอบว่า “ครูไม่ทราบ” ไว้หลายๆ ปี ก็ให้รู้สึกว่าเราบกพร่อง จึงขอถือโอกาสนี้ลองพยายามตอบดู จะชัดเจนถูกต้องเพียงไรก็ขอความเมตตาชี้แนะจากท่านทั้งหล่ายก็แล้วกัน
เป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว ว่าชื่อวันต่างๆ ในรอบสัปดาห์นั้น คนแต่ก่อนได้นำเอาชื่อดาวพระเคราะห์ที่เห็นด้วยตาเปล่า และไทยนั้นได้ความรู้จากครูแขกอันเป็นชาวอารยัน และบรรดาชาวอารยันทั้งปวง ทั้งอารยันเอเชียและอารยันยุโรปนั้น ก็ได้ความรู้เรื่องราวเหล่านี้จากชาวบาบิโลน อันเป็นแหล่งกำเนิดความรู้ทางดาราศาสตร์ ที่เป็นต้นเค้าของการนับเวลา
ก็ดาวเคราะห์ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่านั้น ก็เริ่มต้นด้วยความคิดของคนแต่ก่อนที่เห็นว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล มีดาวเคราะห์โคจรเคลื่อนรอบโลกตามลำดับใกล้ไกลคือ จันทร พุธ ศุกร์ อาทิตย์ อังคาร พฤหัส และเสาร์ (ดูภาพที่ 1)
ดาวทั้ง 7 ดวงนี้แหละครับ ที่คนแต่ก่อนนำมาตั้งชื่อวันในรอบสัปดาห์
และคงไม่ต้องย้ำอีกกระมังครับว่า ดาวพระเคราะห์นั้น คนไทยแต่ก่อนท่านหมายถึงดาวที่เคลื่อนที่ ส่วนดาวที่อยู่ประจำที่บนฟากฟ้านั้น โบราณท่านเรียกว่า ดาวฤกษ์ ความเข้าใจอย่างนี้ไม่ค่อยสอดคล้องกันนักกับความหมายทางดาราศาสตร์ปัจจุบัน ดังเช่นที่ปัจจุบันบอกว่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ แต่คนไทยแต่ก่อนว่าเป็นดาวพระเคราะห์ เพราะอาทิตย์เธอโคจรผ่านราศีต่างๆ กลายเป็นนามเดือนของไทยนั้นเป็นต้น
ที่ต้องบอกถึงเรื่องนี้ก็เห็นจะต้องย้ำอีกครั้งว่า ผมเองนั้นทั้งตัวทั้งชื่อโบราณพอๆ กัน การเข้าใจในสิ่งที่ผมเขียนจึงต้องหมายจำไว้ก่อน ว่านี่เป็นสังกัปของคนโบราณ (ไหมล่ะ)
ความคิดเรื่องโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ได้เปลี่ยนไปอีกครั้งเมื่อประมาณ 400 ปี ก่อนคริสต์กาล และอีกหนึ่งร้อยปีต่อมาก็เริ่มมีความคิดกันใหม่ว่าศูนย์กลางที่แท้จริงคือดวงอาทิตย์ (ดูภาพที่ 2)
ภาพที่ 1 (จากหนังสือ Growth of Ideas ในชุดของ The Doubleday Pictorial Library)
ภาพที่ 2 (จากหนังสือ Growth of Ideas ในชุดของ The Doubleday Pictorial Library)
ขอให้สังเกตลำดับดาวพระเคราะห์ในภาพที่ 1 เป็นหลักสำคัญ จะเห็นว่าดาวพระเคราะห์สามดวงอยู่ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ คือ จันทร์ พุธ ศุกร์ และอีกสามดวงอยู่เหนือดวงอาทิตย์ขึ้นไป คือ อังคาร พฤหัส และเสาร์
ดวงอาทิตย์นั้นถือว่าเป็นผู้ทำวัน (ทิวากร) และเป็นตาวัน คือให้ความสว่างแก่โลกจึงถือเป็นลำดับแรกในการตั้งชื่อยามและชั่วโมง
เมื่อได้ชื่อยามแรกและชั่วโมงแรกว่ายามอาทิตย์แล้ว จากนั้นจึงลำดับใกล้เข้ามาหาโลก เป็นศุกร์ พุธ จันทร์ เป็นยามและชั่วโมงที่ 2, 3 และ 4 แล้วจึงต่อด้วยดาวเคราะห์ไกลสุด เรียงเข้ามาใกล้โลกตามลำดับ คือ เสาร์ พฤหัส อังคาร และอาทิตย์ เป็นชื่อยามและชั่วโมงที่ 5, 6, 7, 8 แล้ววนไปเริ่มรอบใหม่เป็น ศุกร์ พุธ จันทร์ เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ฯลฯ… อีกต่อไปเรื่อยๆ
ขอลำดับชื่อตามนัยนี้ ดังนี้
อาทิตย์ ศุกร์ พุธ จันทร์ เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์… ซึ่งจะเห็นว่าเป็นลำดับยามอัฏฐกาลนั่นเอง
(ยามอัฎฐกาลกลางวัน เรียงดังนี้ สุริยะ ศุกระ พุธะ จันเทา เสารี ครุ ภุมมะ สุริยะ ลางตำราเรียกยาม สุริยะ เป็น สุริชะ)
เรื่องที่มาของลำดับยามอัฏฐกาล ผมเองเห็นว่ามาจากลำดับดาวนพเคราะห์ตามที่อธิบายแล้วข้างต้น แต่ในคัมภีร์โหราศาสตร์ไทย ฉบับสมบูรณ์ ของคุณหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) ได้อธิบายความอย่างพิสดาร ว่ามาจากการตัดเลขฐานที่ 4 ของเลข 7 ดังข้อความในล้อมกรอบนั้น
ขอเรียนว่า คำอธิบายของคุณหลวงวิศาลฯ มีความซับซ้อนและทำความเข้าใจยาก เช่นการเริ่มฐานเลขเดือน ด้วย 2 ฐานเลขปี ด้วย 5 มาจาก เหตุผลอะไร และนับคร่อม 5 ช่อง มาจากหลักอะไร เหล่านี้เป็นต้น ยังต้องผ่านการขบคิดอีกมาก นอกจานั้น การเรียงลำดับวันที่เป็นเลขฐาน 1 แสดงว่า ได้คิดเอาหลังจากมีการเรียงลำดับวันเรียบร้อยแล้ว แต่ปัญหาของผมมันอยู่ที่ว่า เหตุใดจึงลำดับวันเช่นนั้น
ขอออกซอยเข้าสู่ถนนต่อไป
เมื่อได้ลำดับยามข้างต้น ไปเรียกชื่อชั่วโงตามลำดับ ก็ได้ดังนี้
ชั่วโมงที่ 1 (เริ่มแรก) คือชั่วโมง อาทิตย์
ชั่วโมงที่ 25 (เริ่มวันที่ 2) คือชั่วโมง จันทร์
ชั่วโมงที่ 49 ( เริ่มวันที่ 3) คือชั่วโมง อังคาร
ชั่วโมงที่ 73 (เริ่มวันที่ 4) คือชั่วโมง พุธ
ชั่วโมงที่ 97 (เริ่มวันที่ 5) คือชั่วโมง พฤหัสบดี
ชั่วโมงที่ 121 (เริ่มวันที่ 6) คือชั่วโมง ศุกร์
ชั่วโมงที่ 145 (เริ่มวันที่ 7) คือชั่วโมง เสาร์
ชั่วโมงที่ 169 (เริ่มวันที่ 8) คือชั่วโมง อาทิตย์ ฯลฯ…..ฯลฯ
ลำดับยามอัฏฐกาล ตามคัมภีร์คุณหลวงวิศาลฯ
จะเห็นชัดว่า คนแต่ก่อนได้ชื่อชั่วโมงแรกของวัน เป็นชื่อวัน ลำดับวันจึงไม่ตรงกับลำดับดาวพระเคราะห์
วันที่กล่าวมานี้ เรามักจะพบชื่อในวรรณคดี และในประกาศพระบรมราชโองการต่างออกไปดังนี้
วันอาทิตย์ เรียกว่า รวิวาร หรือ สุริยวาร หรือ อาทิตยวาร
วันจันทร์ เรียกว่า จันทรวาร หรือ โสมวาร
วันอังคาร เรียกว่า ภุมวาร
วันพุธ เรียกว่า พุธวาร
วันพฤหัส เรียกว่า ชีววาร หรือ คุรุวาร
วันศุกร์ เรียกว่า ศุกรวาร
วันสาร์ เรียกว่า โสรวาร
วารนั้น แปลกันทั่วๆ ไปว่า วัน แต่หมายถึงวันทางสุริยคติ ตามคติไทยถือเอาเวลาตั้งแต่ดวงอาทิตย์ปริ่มขอบฟ้าตะวันออกของวันหนึ่งถึงดวงอาทิตย์ปริ่มขอบฟ้าในวันถัดไป หรือกล่าวง่ายๆ ว่าถือเอาเวลาหกโมงเช้าเป็นจุดแบ่งวัน
ส่วนทางสากลถือเอาเวลา 24.00 เป็นจุดแบ่ง
คำ วาร มักใช้คู่กับ ดิถี ดังเช่นที่กล่าวว่า “ในวารดิถีขึ้นปีใหม่…” เป็นต้น ดิถีก็แปลว่าวัน แต่เป็นวันทางจันทรคติ โดยถือเอาระยะเวลาตั้งแต่จันทร์เที่ยงวันหนึ่งถึงจันทร์เที่ยงวันถัดไปเป็นหนึ่งดิถีเนื้อเวลา (อย่าถือเลยที่ผมต้องใช้คำ “เนื้อเวลา” ทีเงินยังเห็นเขาใช้กันว่า “เม็ดเงิน” ) ของดิถีกับวาร ต่างกันเล็กน้อย
และดิถีนั้นเรียงลำดับเป็นหมายเลข ตั้งแต่ 0, 1 – 29, 30 แล้วแต่ว่าเป็นเดือนขาด หรือเดือนถ้วนนั้นแล
ขอบคุณที่มา: https://www.silpa-mag.com/culture/article_36433?fbclid=IwAR1pRZMNNmYrfdzy8tI6RtKA54-1FmONeEIkF-RYuAuNdSfp1K8-2To4Mlw