ดาวแฝงแสง

       ​​​​​​​

                   
ดาวแฝงแสง โดยอาจารย์อรุณ ลำเพ็ญ
เช้าวันอาทิตย์  เป็นวันว่างครุก้อนและครูสมศักดิ์ จึงพากันทำภัตตาหารมาถวายเพลหลวงตาชื้นผู้เป็นอาจารย์ แม่บ้านครูก้อนถนัดทางทำกับข้าวจึงรับหน้าที่แกงบอนและไข่แมงดาผัดน้ำตาลอาหารโบราณ ข้างครูสมศักดิ์ซึ่งแม่บ้านทำขนมขายเป็นประจำรับหน้าที่ของหวานทำขนมดอกโสนและข้าวกระยาคู เป็นขนมของคนเก่าเช่นกัน
ทั้งครูก้อนและครูสมศักดิ์นั่งพับเพียบข้างวงอาหาร หลวงตาชื้นฉันไปชมไปไม่ขาดปากทั้งคาวหวาน
“เออ..ขอบใจครูทั้งสอง ช่างรู้ใจอาตมาจริงๆ ของชอบมาตั้งแต่หนุ่มๆทีเดียว ไม่ใคร่ได้ฉัน เพราะไม่มีใครนเขาใส่บาตรกัน”
ครูสมศักดิ์ยิ้มแย้มดีใจที่หลวงตาฉันเกือบหมด “ขนมดอกโสนและข้าวกระยาคูต้องหน้านี้ฝนชุกๆน้ำท่วมนา พอข้าวเริ่มตกรวงต้นโสนก็ออกดอกหาง่าย ปีหนึ่งทำกินได้ครั้งเดียวเท่านั้นขอรับ”
หลวงตาหันมาหาครูก้อน “แกงบอนกะไข่แมงดาเขาดีจริง ชวนคอหอยเปิดเป็นพิเศษ พับผ่า อายุยืนไปหลายวัน”
เณรชั้วคลานเข้ามายกถาดภาชนะอาหารคาวหวาน พอตอนยกจานไข่แมงดา ครูก้อนก็สะกิดบอก
“เณรชั้ว ไขแมงดานี่เขาถือกันนะ ถ้าอายุไม่ครบ 21 กินเข้าไปแสลงนัก มีอันเป็นมาแยะอย่างน้อยก็ปวดหัวตัวร้อนหลาย ๆ วัน”
เณรชั้วรู้ทันความคิดครูก้อน จึงตอบหน้าตาเฉย “ไม่เป็นไรหรอกครู หมอเถาเขาเคยบอกยาแก้ไว้ให้ ฉันไม่กลัวหรอก”
ครูก้อนปลงคารมนึกว่าเณรชั้วพูดจริงจึงซัก “ยาอะไรของเณรชั้ว”
เณรชั้วได้ทีจึงยักคิ้วตอบ “ใช้ใบต้น “โกหก” ต้มกินมื้อเดียวก็หาย”
ครูก้อนถูกย้อนรอยก็หัวเราะชอบใจเชาว์ของเณรชั้วที่โต้ตอบทันคน และมิได้ถือสาเพราะรุ้นิสัยกันอยู่ หลวงตาเข้านั่งอาสนะประจำที่ จุดบุหรี่สูบ และปรารภถึงศิษย์หัวแก้วหัวแหวนที่ขาดจำนวนไปไม่พร้อมหน้า
“หมอเถาไปไหนถึงไม่ได้มาด้วย”
ครูก้อนเป็นคนรู้เรื่องจึงตอบ “เห็นว่าไปรับรักษาไข้ทางท้ายบ้านนัยว่าเป็นคนมีฐานะดี รักษาทั้งยาจีนฝรั่งมาอาการไม่ดีขึ้น”
“ขอให้โรคเขาถูกหมอถูกยาเถิด หมอเถาจะได้มีเบี้ยต่ออายุไปได้อีกนาน“ หลวงตาชื้นพูดด้วยความตั้งใจดี
พูดไม่ทันขาดคำ ประตูกุฏิก็เปิดออก คนที่ถูกกล่าวขวัญถึง คือ หมอเถาก็โผล่หน้าเข้ามายิ้มยิงผันขาว สองมือประคองกรงนกคลุมผ้ามิดชิด ค่อยๆประจงลอดประตูเข้ามา พอกราบหลวงตาเสร็จก็ถูกซักเหมือนเป็นจำเลย
“นึกว่าไปรักษาไข้ ที่แท้ก็แอบไปเล่นนกอยู่นี่เอง” ครูก้อนเอมมือจะเปิดผ้าคลุมกรง “นกอะไร ดีหนักหนาหรือถึงคลุมผ้าผ่อนแพรพรรณเสียสวยหรู”
หมดเถารีบตะครุบมือเพื่อนไว้ “อย่าเปิดครูก้อน เขาไม่ชอบคนแปลกหน้า และพูดค่อย ๆ หน่อย เสียงดังๆเขาก็ไม่ชอบ”
“อุบ๊ะ...นกสำออย” ครูก้อนยอมปล่อยมือ
หมอเถาค่อยๆประคองทนุถนอมกรงแทบจะไม่ให้กระเทือน เลี่ยงไปตามชานระเบียงทางออกไปจนสุด ค่อยๆเปิดผ้าเอาตะขอหัวตครงเกี่ยวไว้กับชายคา ทั้งดีดนิ้วเป๊าะๆล้อนก ส่วนปากก็ทำเสียงออดล่อให้ขัน พอนกได้แสงสว่างและลมโชยก็คะนองบินเล่นลมในกรง พอลงจับคอนขันเสียงเบาๆ หมอเถาก็ยิ้มกับนก ทำเสียงเลียนนกตัวเมีย ข้างเจ้านกก็ทั้งขันทั้งร้อตอบ ถ้อยทีหยอกล้อกันทั้งนกและคน
เมื่อหมอเถาถอยจากกรงนกมานั่งรวมกลุ่มสหายคู่หู หลวงตาชื้นจึงถามสงสัย “หายไปวันเดียว กลับมาเป็นนักเลงนกเขาชวาเสียฉิบมันไปยังไงมายังไงรึหมอเถา”
หมอเถาหันหน้าอธิบายกับหลวงตาชื้นก็จริง แต่หูนั้นไปจับอยู่กับเสียงนกเขาชวาที่กำลังขันแจ้ว “ผมไปรักษาไข้เขาได้ 3 วัน อาการเขาค่อยดีขึ้นบ้าง เขาตั้งค่าบูชาครูไว้ 2,000 บาท เขาเลี้ยงนกตัวนี้ไว้มันขันถูกใจผมก็เลยขอเปลี่ยนเป็นนกเขา เจ้าไข้เขาก็เลยให้มา”
ทั้งหลวงตาชื้นและครูก้อน ครูสมศักดิ์แทบไม่เชื่อหูตนเองว่าจะเป็นได้ เงิน 2,000 บาท สำหรับหมอเถาย่อมนับว่ามากมาย ทำให้เป็นเศรษฐีย่อยๆได้ แต่หมอเถากลับเลือกเอานกเขาชวาตัวเล็กๆตัวเดียว
ครูก้อนเอมเอาหลังมือไปแตะหน้าผากหมอเถาจนเจ้าตัวปัด “เนื้อตัวก็ไม่ร้อน ไม่น่าคลุ้มคลั่งถึงกับไม่เอาเงิน กลับเอานกเขา”
หมอเถารู้ใจเพื่อนที่คิดว่าตัวบ้าหรือโง่เขลาที่ทำเช่นนั้น แต่หมอเถากลับยิ้มเป็นเชิงเยาะทั้งสองครูเอาเสียอีก
ครูก้อนเป็นคนพูดจาไม่ยั้งอยู่แล้วก็ตำหนิเชิงถามว่า “นกตัวนี้มันวิเศษยังไงถึงกับทิ้งเงิน 2,000 บาทเสียง่ายๆ”
“เงินแค่นั้น จริง..มันมาก ปัญญาอย่างฉันหาทั้งปีก็อาจไม่ได้” หมอเถาแจงสี่เบี้ย “แต่นกตัวนี้มันขันไพเราะหนักหนาถ้าพูดถึงราคามันมากกว่าหลายเท่า อาจถึงหมื่นเสียด้วยซ้ำ”
ครูก้อนเอื้อมมือตบเข่าเบาๆ “ขอโทษน๊ะ หมอเถา..ทุ้ย..พูดภาษาคนบ้า ใครเขาจะเชื่อเกิดมาท้องพ่อท้องแม่ไม่เคยได้ยิน”
ครูสมศักดิ์อยู่ในกรุงเทพฯมานาน และมีเพื่อนอยู่มากจึงเอ่ยขึ้นมั่ง “อย่าเพิ่งไปว่าหมอเถา เมื่อผมอยู่กรุงเทพฯริเล่นกับเขาบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ถึงขั้น ได้รู้ได้เห็นคนอื่นๆเขา เรื่องนกเขาชวาเป็นของแปลกมหัศจรรย์”
หลวงตาชื้นนิ่งฟังอยู่นาน พลอยสนใจซักถามขึ้นมาบ้าง “มันมหัศจรรย์ยังไงหรือครูสมศักดิ์”
“เมื่อไม่นานมานี้นักเลงนกเขาชวากับนักเลงพระแลกนกเขาชวากับพระเครื่องชั้นขอดตรราคากันราว 4-5หมื่นบาท ในวงการเขารู้กันทั่วไป เมื่อหลายปีมาแล้วนกเขาชวาตัวหนึ่งประกวดขันชนะมาหลายงานชื่อนกชวาลา 2 เจ้าของนำทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็นพระเจ้าอยู่หัวและทรงเลี้ยวไว้ที่ภูพิงค์ราชนิเวศน์ แม้ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เคยจัดงานแข่งขันนกเขาชวาได้เงินค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าแข่งขันเป็นเงินหลายหมื่นบาท เป็นทุนเริ่มก่อตั้งสมาคมนิติศาสตร์”
หลวงตาชื้นฟังไปคิดไป และยังสงสัยเพราะไม่เคยรู้เห็นและได้ยินมาก่อน “เขาแข่งกันอย่างไร มีแพ้ชนะได้เงินเสียเงินหรืออย่างไรกันเร๊อะ”
“เขาเอานกมาขัน แข่งเสียงขันขอรับ” ครูสมศักดิ์อธิบายอย่างคนเคยรู้เห็นมา “ของใครขันเสียงไพเราะกว่ากัน ของคนนั้นก็ชนะและได้ถ้วยเป็นเกียรติ อย่างเช่นเมื่อคราวเกิดพายุพัดพังแหลมตะลุมพุกปักษ์ใต้เขาจัดงานเมตตาในสวนอัมพรอันเป็นเขตพระราชฐานก็มีการประกวดแข่งเสียงขันนกเขาชวาชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จเจ้าฟ้าชาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเสด็จชมนกเขา ค่าสมัครเข้าแข่งขันตัวละ 200 บาท ได้เงินหลายหมื่นบาทสมทบเป็นเงินการกุศล”
“เออครูสมศักดิ์ช่างรอบรู้จริงๆ” ครูก้อนชมด้วยความจริงใจ “ที่เขาแพ้ชนะกันนั้นเขาทำอย่างไรกันเวลาแข่งขัน”
ครูสมศักดิ์ถูกชมก็รุ้สึกภาคภูมิใจ “เขาเอาไม้ไผ่มาปักทำเป็นเชือกชักรอกเอากรงนกเขาขึ้นไปไว้กลางอากาศพร้อมๆกันทั้งสนาม บางครั้งร่วม 100 ตัว เจ้าของนกและคนฟังจะต้องออกไปอยู่ข้างสนามเพื่อมิให้นกตื่น และพอนกเขาเริ่มขันกันก็จะมีกรรมการซึ่งเป็นผู้มีความชำนาญในเสียนกชุดหนึ่งเดินอยู่ใต้รอกนกเขา เป็นผู้ฟังและเทียบเคียงนกเขาจะขันเริ่มแข่ง 7.00 น. ถึง 11.00 น. จึงตัดสิน”
หลวงตาชื้นพลอยสนุกไปกับเขาด้วย จึงถามอีก “แล้วเขามีกฎเกณฑ์กติกาในการตัดสินหรือแปลว่าเสียงอย่างใดดีกว่าอย่างใดจึงเป็นที่แพ้ชนะกัน หรือเอากันว่าขันมากขันน้อยเป็นเกณฑ์”
ครูสมศักดิ์นิ่งคิดทบทวนถึงสมัยเมื่อหลายปีก่อน “เขามีกติกาพิมพ์ไว้ แยกแยะละเอียดถี่ถ้วนขอรับ มีคะแนนแต่ละส่วนๆรวมกัน 100 คะแนน น้ำเสียง 20 คำขันหน้า 10 จังหวะหรือคำกลาง 10 ปลายหรือคำท้าย 30 ทำนองหรือลีลาพิเศษ 10 ขัน ทนขันมาก 20 กรรมการ เขาฟังไปให้คะแนนไป พอหมดเวลาแข่งขันคะแนนใครมาก็ชนะที่ 1,2,3 ตามลำดับ กติกานี้เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยนิยมกัน”
หลวงตาชื้นพออกพอใจ ความรู้ของครูสมศักดิ์ อธิบายคล่องไม่ติดขัด ความอยากรู้อยากเห็นจึงซักต่อไปอีก “แล้วอ้ายที่เรียกคำหน้า คำกลาง คำปลาย หรือลีลาทำนองนั้นน่ะ อย่างไหนมันดี อย่างไหนมันเลว ถึงจะได้คะแนนมากน้อยกว่ากันล่ะ อย่างตัวของหมอเถาที่ขันอยู่เดี๋ยวนี้ มันจะได้สักกี่คะแนน”
ครูสมศักดิ์ไม่คิดว่าจะถูกซักถึงขนาดนี้ ความรู้ที่มีอย่างนั้นไม่พอจะชี้แจงให้ถูกต้องได้ เพราะเมื่อตอนริเล่นเป็นนักเลงนกเขาชวาก็มิได้ช่ำชองเพียงแต่เคยได้เห็นเขาแข่งและจดจำความรู้จากปากเขามาอีกทอดหนึ่ง จึงจนแต้มอึกอัก หนักเข้าก็ยอมสารภาพออกมาตรงๆ
“ต้องผู้รู้จริงๆอย่างกรรมการตัดสิน จึงจะอธิบายได้ละเอียดชัดเจน ส่วนผมเพียงแต่เลี้ยงนกเขาเท่านั้น แต่ได้รู้ได้เห็นมาจึงได้แต่เล่าให้ฟังขอรับ”
“อุบ๊ะ..พอถึงตอนสำคัญก็เกิดหมดภูมิเสียแล้ว” หลวงตาชื้นบ่นเสียดาย “เจ้านกเขาตัวดีๆมันต้องมีเสียงเสน่ห์มากมาย ผู้คนเขาถึงหลงใหลกันนักหนาไม่ว่าผู้ดีไพร่”
ครูก้อนเหลียวดูนกเขาตัวของหมอเถาที่กำลังขันอยู่ชายคา “ตัวที่ขันอยู่นี้ฟังๆมันก็ดูไม่น่าหลงใหล อย่างที่ครูสมศักดิ์เล่ามาแลย”
หมอเถานิ่งฟังโดยไม่ออกความเห็นเลยสักคำเดียวตั้งแต่แรกเมื่อนกของตัวถูกติก็อดอยู่ไม่ได้
“เรื่องของคนกรุงเทพฯน่ะฉันไม่รู้แต่เรื่องของนกละก้อฉันรู้ดี”
หลวงตาชันหัวเราะชอบใจ “เออดี เจอะนักปราชญ์คนที่ 2 เข้าแล้วก็อย่างครูก้อนเขาว่าแหละหมอเถา นกเขาตัวนั้นมันก็ขันเหมือนนก ราคามันไม่น่าจะถึงพันถึงหมื่น” 
หมอเถายืดอกอย่างภาคภูมิ “นกตัวนี้ดีแต่มันยังไม่ถึงเวลาดีที่ขันอยู่นี้ขันไม่เต็มที่เรียกว่าขันยังไม่เปิดปลาย น้ำเสียงและทำนองจึงยังไม่ไพเราะเต็มที่”
“ก็ถ้ามันยังไม่ดี ทำไม่ไปแลกกะค่ารักษาตั้ง 2,000 บาท” ครูก้อนยิ่งสงสัย
“ก็เพราะฉันรู้จักนกน่ะซี” หมอเถาว่า “นกตัวนี้เป็นนกจังหวัดกระบี่ ตัวใหญ่ อกใหญ่แข็งแรง ลายขนสีเข้มที่ขันนี้เป็นนกเสียงใหญ่หายาก และท่วงทำนองขันดี เสียแต่กรุ่มยาก คือ เชื่องจนขันดียากต้องเลี้ยงหลายปี ถ้านกตัวนี้ขึ้นแล้วในราคา 5 เท่าก็ไม่ขาย”
หลวงตายังติดใจสงสัยข้อที่ถามครูสมศักดิ์เมื่อครู่อยู่ จึงถามหมอเถาซ้ำอีก “ว่าแต่อ้ายกติกาให้คะแนนความดีตคามที่ครูสมศักดิ์เขาว่าน่ะกรรมการเขาฟังเอามันดีเลวต่างกันอย่างไรในการให้คะแนน”
หมอเถาตอบโดยไม่ต้องคิด ฎกติการของกรุงเทพฯส่วนใหญ่ๆก็คือรสนิยมในเสียงนกเขาชวาที่นิยมเล่นกันในแบบปักษ์ใต้และตลอดแหลมมาลายูซึ่งเขานิยมเล่นกันมาก่อน แต่ของเราเอามาบัญญัติให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อยเข้าเพื่อความยุติธรรมในการตัดสิน”
ครูสมศักดิ์มองหน้าหมอเถา ทั้งสงสัยและแปลกใจที่ชายทึ่มๆมองดูดังคนโง่ ไม่รู้อะไรมากนัก พูดจาถูกต้องและรู้ดีในเรื่องที่ตนโง่
“หมอเถาพูดถูกขอรับหลวงตาเป็นความจริงเช่นนั้น เพราะในยุคที่เล่นกันนั้น นักเลงนกเขากรุงเทพฯก็ลงปักษ์ใต้สังสรรค์กับนักเลงนกเขาปักษ์ใต้ นักเลงนกเขาปักษ์ใต้ก็ขึ้นมาสังเสวนากับนักเลงนกเขากรุงเทพฯในตอนนั้น พ.ศ.2500 เศษ มีการแข่งขันเสียงนกเขาชวาแทบทุกจัวหวัดและเชิญกรรมการผู้ชำนาญการตัดสินไปจากกรุงเทพฯ ดังนั้นรสนิยมในเสียงนกเขาชวาจึงเหมือนกันหมดทั้งประเทศก็ว่าได้ 
หลวงตาออกปากชม “ครูสมศักดิ์มันช่างจดจำจริงๆ”
ครูสมศักดิ์ถูกชมเลยเล่าใหญ่ “ครั้งหนึ่งในตอนนั้น เพื่อนโยบายเอาใจคนสี่จังหวัดภาคใต้ นายกรัฐมนตรีและรองนายกได้ให้ถ้วยรางวัลการแข่งนกเขาชวา ในการแข่งที่จังหวัดปัตตานี การแข่งครั้งนั้นยิ่งใหญ่เป็นที่เลื่องลือตลอดแหลมมลายู มีการประกาศอยู่ร่วมเดือนมีนกเขาทั้ง 4 จังหวัด เดินทางมาค้างแรมล่วงหน้าเพื่อจะเข้าแข่งและยังมีนกเขาจากประเทศมาลายูเข้าแข่งหลายตัว มีนกเขาจากกรุงเทพฯเดินทางไปแข่งร่วม 22 ตัว นกที่เข้าแข่งทั้งหมดร่วม 300 ตัว แข่งกัน 3 วัน จึงหมด และเขาเชิญกรรมการชดหนึ่งไปจากกรุงเทพฯ 3 คน ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในการตัดสินนกเขาชวาของกรุงเทพฯมันแปลกตรงที่ว่ากรรมการกรุงเทพฯที่จัดส่งไปนั้น 3 คน 3 ภาษา คือ หัวหน้าคณะกรรมการเป็นไทย ชื่อ คุณอรุณ ลำเพ็ญ คนที่ 2 หน้าตาเป็นฝรั่งชัดๆเพราะมีเลือดผสมชื่อ คุณสวัสดิ์ เอกรัตน์ คนที่ 3 เป็นอิสลาม ชื่อหะยีมุด อยู่หลังสุเหร่าถนนเพชรบุรี”
ครูก้อนยิ่งฟังก็ยิ่งเสียงอ่อนลง “ไม่นึกเลย ได้ยินเล่านี้แหละถึงจะได้รู้ว่าการเล่นนกเขาชวานี้มันช่างมีเกียรติยิ่งใหญ่โอฬารไม่มีการละเล่นอะไรเหมือนเลย น่ายกย่องนกตัวเล็กๆที่ชื่อนกเขาชวาเสียจริงๆ”
หลวงตายังติดใจเรื่องเดิมก็ซักเหมอเถาอีก “ไหนลองอธิบายให้ละเอียดหมอเถา”
ครูสมศักดิ์ชักนับถือและเชื่อว่าหมอเถาต้องสันทัดในกรณีนี้แน่จึงผสมถามเพื่อหาความรู้บ้าง โดยเป็นคนซักเสียเอง
“น้ำเสียงดีนั้นเป็นอย่างไรน่ะหมอเถา”
หมอเถายิ้มกริ่ม “นกน้ำเสียงดีต้องเสียงดังกังวาฬ เสียงไม่แตกแหบพร่าเสียงทุ้มก็ต้องกลมนุ่มนวล เสียงแหลมก็ต้องใสคมฟังชัดเจน นกเสียงดีขันอยู่ 3 คุ้งแม่น้ำยังได้ยินชัดเจน”
ครูสมศักดิ์ซักต่อไปทีละขั้น “แล้วคำหน้าของคำขันล่ะ”
หมอเถาวาดไม้วาดมือประกอบคำอธิบาย “ทำนองขันของนกเขาชวาเรียกว่า คำขันนั้นมี 3 ตอน คือ “หน้า-ลาง-ปลาย” มันขันติดต่อกัน คำหน้าที่ดีต้องยาว เอื้อนทอดเสียงต้องม้วนหรือโค้งอ่อน บางตัวขึ้นต้นคำหน้าด้วยเสียงต่ำแล้วเอื้อนขึ้นเสียงสูง บางตัวก็ขึ้นต้นด้วยเสียงสูงแล้วเอื้อนลงเสียต่ำ และที่สำคัญต้องไม่แหบพร่าและเบาจึงจะถือว่าดี”
ครูสมศักดิ์ยิ่งรู้ยิ่งซัก “แล้วคำกลางล่ะ เออหมอเถารู้ดีจริง เก่งจริง”
“นี่อธิบายย่อๆน๊ะ ถ้าจะพูดกันละเอียดถี่ถ้วน ตอนละชั่วโมงก็ยังไม่หมด” หมอเถาได้ท่าคุยสำทับ “คำกลางนั้นเป็นคำสั้นๆ นิยมกันว่าต้องชัดและเว้นระยะจังหวะห่างกัน พอได้ยินชัดๆไม่ติดกันจนฟังรัวๆหรือแผ่วเบา”
ครูก้อนชักสนใจเลยพลอยถามต่อกับเขาบ้าง “แล้วคำท้ายคำปลายล่ะ”
“คำท้ายหรือปลายนี้เป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะเป็นส่วนที่ไพเราะกว่าทุกๆส่วน จึงมีคะแนนถึง 30 คะแนน นกที่ขายกันถ้าเพียงแต้มีคำท้ายหรือปลายอย่างเดียว ก็ขายได้เป็นพันแล้ว ส่วนชั้นดีเลวไม่คำนึงถึง” หมอเถาอธิบายโดยตัวเองรู้สึกสนุกจนนัยน์ตาวาวเป็นมัน “ครูเอ๋ยนกปลายดีมันขันเปิดปลาย ดังโปง-หัวใจคนฟังมันหวิวขาดติดปลายนกไปเลยทีเดียวขนาดโบราณเขาว่าเหมือนคนถูกเสน๋ห์ ผมอยู่บนหัวก็ลืมเกล้า ข้าวอยู่ในคอก็ลืมกลืนทีเดียว” 
หลวงตาหัวเราะลงลูกคอ “บ๊ะๆฝอยมากจริง”
หมอเถาเกรงใจหลวงตาก็ต้องหันเข้าหาเนื้อหาของเรื่องอีก “ปลายที่ดีของนกเขาชวาเป็นเสียงที่มีความละเอียดอ่อนมาก มีกฎเกณฑ์ปลีกย่อยมากกว่าทุกส่วน แต่พอสรุปที่สำคัญได้ว่า ปลายที่ดีคือปลายเสียงใหญ่ ปลายเสียงยาว ปลายเสียงลอย ปลายดังกังวาฬยาว และเสียงปลายต้องลงแม่กงชัดเจน เหมือนเสียงระฆังเสียงฆ้อง นกดีมีราคาก็ตรงเสียงปลายนี้แหละ เวลาเข้าสนามชักรอกแข่งขันถ้านกขันโดยยังไม่อกปลาย กรรมการเขายังไม่ให้คะแนนส่วนอื่นทั้งหมดและออกปลายก็ต้องออกหลายๆคำ เรียกว่า ปลายจับตับ จึงจะนับคะแนน”
“ส่วนขันมากหรือขันทนก็คือขันไม่ใคร่หยุดนั้นเอง” หมอเถาไม่รอให้ซัก อธิบายต่อรวดเดียว “ส่วนคำว่าลีลาพิเศษหรือทำนองพิเศษ ก็คือทำนองการขันที่ทำให้มีความไพเราะเป็นพิเศษที่นิยมกันมีสองประการ คือ ขันสดุด หรือขันหยุดชะงักก่อนจะออกปลาย ทางภาษามลายูเขาเรียก “สะกะเต๊าะ” มันมีความไพเราะเหมือนการอ่านกาพย์อ่านฉันท์ฉะนั้น และอีกลีลาหนึ่งก็คือออกสองปลาย คือ โปง-โปง เป็นของหาได้ยาก จึงเป็นคะแนนเพิ่มพิเศษ”
หลวงตาฟังไปคิดไปตามภาษาผู้ใหญ่ที่มองดูท่าทางของศิษย์คือหมอเถา ซึ่งตามปกติดูเซอะๆเงอะงะ เหมือนคนโง่ๆแต่บางขณะเช่นขณะนี้ท่าทางองอาจ พูดจาฉาดฉานคล่องแคล่วรอบรู้ ดังเจ้าเงาะถอดรูป ซึ่งคนๆนี้ทำให้หลวงตาแปลกใจเสมอๆมา 
ครูสมศักดิ์ก็เช่นกัน คำชี้แจงอธิบายล้วนแต่ถูกต้องและชำนาญพอๆกับชั้นอาจารย์ นกในกรุงเทพฯที่ตนเคยสนทนามา ซึ่งคนอย่างหมอเถาไม่น่าจะมีทางรอบรู้ถึงปานนี้ จึงอดซักมิได้
“หมอเถา ถามจริงๆเถอะ จำเขามาเล่า หรือว่าเคยเลี้ยงเคยได้ยินมาเอง”
หมอเถาหยุดคิดอยู่ครู่หนึ่งก็บอกว่า “เมื่อก่อนๆยังเที่ยวๆอยู่ไม่เป็นแห่ง ตามเพื่อนๆเขาไปต่อนก แล้วเอาไปขายปักษ์ใต้อยู่หลายปี จึงได้ยินได้ฟังมามาก เพราะฉะนั้นมาได้ยินนกดีๆก็อดรักและอยากได้มิได้”
ครูก้อนซึ่งไม่เคยรู้และได้ยินก็ยังสงสัย “อธิบายให้ฟังก็พอรู้ แต่ก็ยังไม่ซาบซึ้งอยู่นั่นเองว่ามันขันดีมันเป็นยังไง”
ครูสมศักดิ์จึงพยักหน้าหมอเถา “หมอเถาขันเป็นตัวอย่างให้ฟังทีเถอะ เอาแบบชั้นที่ 1 ทีเดียว”
หมอเถาพยักหน้ารับ “ต้องเอาหน้ายาวปลายยาวอย่างที่เขานิยมหากัน แขกมลายูเขาเรียก “อูมีเซ้าว์ อูยงปานแย” คือ “หน้าม้วนอ่อน ปลายยาว”
แล้วหมอเถาก็โก่งคอดัดเสียงให้คล้ายนกเขาชวาขัน “อ๊าว...กะตะ...โปง”
นกเขาจริงที่ชายคาได้ยินเสียงนกปลอมขันก็ตกใจ มันดิ้นพึ่บพั่บจนกรงแกว่ง หมอเถาต้องวิ่งไปยึดกรงไว้ และทำเสียงปลอบทั้งดีดมือล่อจนหายตื่น
เมื่อกลับมานั่งร่วมวง ทั้งสองครูยังหาเรื่องซักถึงนกเขาชวาอีก เพราะแน่ใจว่ารอบรู้จริง แต่หมอเถาโบกมือห้าม
“เอาไว้วันหลังว่างๆมีเวลาเถอะเรื่องนกเขาคุยกัน 3 วัน สามคืนก็ยังไม่หมดเรื่อง วันนี้มีธุระสำคัญจะมากราบรบกวนหลวงตาด้วย”
หลวงตาจึงสนใจ “มีอะไรหรือหมอเถาว่าจะมากวนอะไร อนุญาตทุกอย่าง นอกจากเรื่องเงิน”
หมอเถาพนมมือไหว้ หัวเราะที่ถูกหลวงตาสัพยอก “เรื่องคนไข้ที่ผมไปรับรักษานี้แหละครับ อาการมันน่าหนักใจ อาการดีได้วันสองวันก็ทรุดจนจับอาการไม่ถูก ผมอยากตรวจดวงชะตาเขา ผมดูเองหลายคราวแล้วไม่เข้าใจเลย”
หลวงตาพยักหน้า “เออเอาดวงมาแล้วเขียนลงบนกระดาน”
ครูก้อนคว้ากระดานและช็อล์กเสร็จแต่เกี่ยงครูสมศักดิ์ ”ลายมือเขียนเลขไทยสวยๆเอาที”
หมอเถาส่งดวงให้ ครูสมศักดิ์เป็นคนเขียน หลวงตาชื้นคงเอกเขนกตามสบายคอยจนครูสมศักดิ์เขียนเสร็จ จึงลุกขึ้นนั่งปรายตาดู
ครูก้อน ครูสมศักดิ์ จ้องดูอย่างสนใจเต็มที่พยายามหาจุดที่แสดงว่าป่วย
ครูก้อนปัญญาไวเห็นก่อน “อ้าวพฤหัสเรือนมรณะ ทับ ศุกร์ตนุลัคน์นี่นา มันถึงป่วย”
ครูสมศักดิ์ก็เอาบ้าง “อายุ 51 ทักษาจรตกภูมิราหู พฤหัสเป็นกาฬกิณีด้วยทับตนุลัคน์มันป่วยชัดๆ”
หลวงตาชื้นเอ็ดเสียงดัง “อุบ๊ะ ก็มันรู้ว่าเขาป่วยอยู่แล้วหลับตาทายยังไงมันก็ต้องป่วยวันยังค่ำ ขืนหัดอ่านดวงหยาบๆง่ายๆแบบนี้อีกสิบปีมันก็ไม่เก่ง คิดดูซิพ่อสองครู พฤหัสมาทับศุกร์ในราศีนี้ทุกๆ 12 ปี มันมิต้องป่วยกันทุกรอบหรือ กาฬกิณีทับตนุลัคน์ต้องป่วยจนไม่มีเวลาหายกันน่ะซี มันต้องดูให้ถี่ถ้วน”
ครูก้อนกับครูสมศักดิ์ถูกดุทำสีหน้าอายๆเพราะเป็นความจริงตามคำหลวงตาว่า พนมมือรับผิดทั้งคู่ “ผมผิดไปรอรับ”
“มันต้องดูดาวคู่ทั้งสองดวง คือ เมื่อพฤหัสทับตนุลัคน์นั้นทับในเรือนของราหู ตัวราหูจรเจ้าเรือนมาอยู่ภพมรระมันแสดงโทษทางป่วยอยู่ และก่อนพิจารณาถึงขั้นนั้น มันต้องดูพฤหัสเดิมเขาเสียก่อนว่า พฤหัสเดิมสถิตภพอริแสดงโทษเดิมอยู่พอมีบทบาทก็ทำร้ายเอา”
ครูสมศักดิ์ถึงจะกลัวและเกรงก็อดแย้งมิได้ตามนิสัย “พฤหัสจรกับราหูแลกเรือนเท่ากับเป็นอนุเกษตร น่าจะให้คุณบ้างนะขอรับ”
หลวงตาชื้นจ้องตาครูสมศักดิ์ จนต้องหลบ “สอนกันไม่ใคร่จำ มักยึดติดความเชื่อถือที่ไม่ถูก เป็นเกษตรเป็นอุจจ์ มันเรื่องของดาวไม่ใช่เรื่องของคน เกษตรแปลว่ายืดเยื้อมีทางสลับเรือนมันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อาการของโรคที่ป่วยมันจะยืดเยื้อเรื้อรังน่ะไม่ว่า ช๊ะๆ”
ครูสมศักดิ์ยิ้มเจื่อนๆตาจ้องมองดวงชะตา “จริงขอรับ...”
หลวงตาดุแล้วก็สอนต่อ “เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าเขาป่วยกลับดูเขาว่าป่วยจริง มันจะได้ประโยชน์อะไร มันต้องดูว่าเขาป่วยครั้งนี้มันเหตุใดและจะรักษาหายหรือไม่เมื่อใด เออ มันถึงจะเรียกว่าหมอดู”
หมอเถาเจ้าของดวงขยับปากอยู่หลายทีไม่ได้พูด พอมีช่องก็เอ่ยขึ้นมั่ง “พฤหัสเป็นเจ้าเรือนลาภะอยู่อีกเรือนหนึ่งเช่นกันคะรับ เมื่อมาทับอู่เรือนกัมมะซึ่งหมายถึงการกระทำและพฤหัสแปลว่าหมอได้ ในเรือนราหูที่พฤหัสทับอยู่มีมฤตยู ซึ่งแปลได้ว่าลึกลับ และราหูเจ้าเรือนแปลว่าจ้าวหรือเซียน จะทายเอาว่าต้องรักษาด้วยไสยอันลึกลับ การทรงเจ้าเพื่อรักษาจะหายได้ไม๊คะรับหลวงตา”
“พ่อหมอจ๋า เอาเข้าแล้ว มันฉลาดจนล้นมากไป” หลวงตาฉิวก็ฉิวแต่ก็อดขำศิษย์ที่พยายามจะตามรอยครู อ่านให้วิจิตรพิศดารบ้าง “มันมากไปเว้ยหมอเถา อ้ายอะไรๆมันมากเกินไปนี้ บางทีมันก็ดีบางทีมันกลับเป็นของเสีย”
หมอเถาโดนเข้าอีกคนก็เจื่อนตามไปด้วยแก้เสียงอ่อย “ผมนึกว่ามันมากจะดี”
หลวงตาอุปมาอุปมัยให้ฟัง “คนเรามีสองมือเพิ่มมาอีก 2 เป็นสี่มือ เขาก็เรียกพระนารายณ์ เออดี คนเรามีหน้าเดียวพอมีมากถึง 4 หน้า เขาก็เรียกพระพรหมก็ดีอีก คนเรามีสองตีน ถ้ามีถึงสี่ตีนลายเป็นอ้ายเอ๋งไปฉิบ”
ครูก้อนและครูสมศักดิ์แม้จะเกรงๆแต่ก็อดหัวเราะไม่ได้ ปล่อยกันคิ๊ก แต่หมอเถากลัวมาก พยายามกลั้นหัวเราะไว้และกลืนลงคอจนลูกกระเดือกวิ่งขึ้นลงหลายรอบ
หลวงตาพยายามทำสีหน้าเคร่ง แต่ใจจริงนั้นเมตตาศิษย์ที่ยังอ่อนหัดจึงอธิบายต่อ “อันพฤหัสเป็นเจ้าเรือนลาภะนั้นจริงอยู่ แต่ในดวงเดิมมันแสดงผลอริ ขัดขวางอยู่ก่อนแล้ว และที่สำคัญที่สุดก็คือ ดูที่พฤหัสเดิมนี่ ดาวมฤตยูจรเข้าภพอริเป็นเรือนศุกร์เท่ากับเรือนลัคน์เหมือนลัคนาสถานหนึ่ง อีกสถานหนึ่งเข้าทับพฤหัสเดิมเอาไว้เท่ากับครอบงำพฤหัสเต็มที่ ฉะนั้นพฤหัสที่โคจรไปก็เท่ากับติดความหมายของมฤตยูที่ครอบงำนั้นไปด้วย กรณีนี้เขาเรียก “ดาวแฝงแสง” ถึงกันกับพฤหัสจร”
หมอเถาฟังเข้าใจดีทุกถ้อยคำของอาจารย์และถามเบาๆเกรงๆว่า “พอจะรักษาได้ไม๊คะรับ”
“คงจะยาก...” หลวงตานิ่งตรึกตรอง “อาการป่วย อาการโรคมันจะเป็นโรคที่ลึกลับหาสาเหตุยาก หรือโรคที่ยังลึกลับต่อทางรักษาทางที่ดีหมอเถาควรให้เขาไปโรงพยาบาลจะดีกว่าถ่วงไข้เขาไว้ทดลองยาเพราะจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตของเขา”
หมอเถาเอะใจ “หรือจะเป็นมะเร็งก็ไม่รู้ทีท่ามันมีอยู่เหมือนกันคะรับ”
นกเขาชวาที่แขวนอยู่ชายคาขันเปิดปลายดังโปง-โปง ติดเป็นตับ หมอเถานิ่งงัน หูจับเสียงนก และคนอื่นๆก็พลอยสงบฟังนกเขาขันกันไปทุกคน แม้แต่หลวงตาชื้น

----------------------------------
ที่มา : https://www.horawej.com

#คุณยายกลิ่นโสม
#คุณยายเล่าเรื่องจากเรือนดาว
#โหราศาสตร์ไทยเรียนง่ายกว่าที่คิด
#เรียนโหราศาสตร์ไทยสไตล์คุณยายกลิ่นฯ
#อ่านดวงไทยสบายสบาย ตามสไตล์คุณยายกลิ่นโสม
#โหราศาสตร์ไทยเรียนด้วยตนเองฉบับคุณยายกลิ่นโสม   
#เรียนโหราศาสตร์ไทยฟรี ที่เวปนี้นะ:: htthttp://www.baankhunyai.com
  --------------------  
 
Visitors: 171,879