ตำนาน พระศุกร์ (๖)
ก็เห็นจะต้องเอาเรื่องทางวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ก่อนละ เพื่อเป็นความรู้เล็กๆ น้อยๆ เตือนใจในสิ่งที่ทำให้หวนนึกเมื่อครั้งถูกบังคับให้เรียนนั่นแหละดาวพระศุกร์เป็นดาวพระเคราะห์ที่สุกสว่างที่สุด ถ้าปรากฎตอนรุ่งสางทางทิศตะวันออก เรียกว่า ดาวรุ่ง และ ดาวประกายพรึก (Morning Star) ถ้าเป็นตอนค่ำ เรียกว่า ดาวประจำเมือง (Evening Star) ดาวพระศุกร์เป็นดาวฝาแฝดกับโลก เพราะมีขนาดไล่เลี่ยกัน มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๗,๗๐๐ ไมล์ มีมวลราว .๘๒ เท่าของโลก สะท้อนแสงได้ ๕๙% ดาวพระศุกร์อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธ มีระยะเฉลี่ย ๖๗ ล้านไมล์ ถ้าเป็นตอนรุ่งสางจะเห็นได้ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นราว ๓ ช.ม. ดาวพระศุกร์อยู่หางจากดวงอาทิตย์ใกล้ที่สุดราว ๖๖,๗๘๗,๐๐๐ ไมล์ ไกลที่สุดราว ๖๗,๗๐๕,๐๐๐ ไมล์ ทางโคจรรอบดวงอาทิตย์มีรูปกลมกว่าทางโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่น และดาวพระศุกร์อยู่ห่างจากโลกใกล้ที่สุด ๒๓,๗๐๑ ไมล์ ไกลที่สุด ๑๖๒,๒๒๙,๐๐๐ ไมล์ ดาวพระศุกร์ได้รับความร้อนและแสงสว่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ๒ เท่า มีความดึงดูดราว ๘๙% ของความดึงดูดโลก โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วเฉลี่ย ๒๑.๗ ไมล์ต่อวินาที โคจรครบรอบใน ๒๒๕ วัน หมุนรอบตัวเองใช้เวลา ๒๓ ชั่วโมง ๒๑ นาที ก็เท่านี้สำหรับเรื่องดาราศาสตร์ครับ
ส่วนตามเรื่องศาสนาพราหมณ์ ตามเคย เข้าทำนองเทพองค์อื่นๆ คือสับสนอยู่นั่นเอง ตำราไสยศาสตร์น่ะว่าพระอิศวรทรงสร้างพระศุกร์จากวัว ๒๑ ตัว ในหนังสือเฉลิมไตรภพว่าไว้ดังนี้ เป็นกาพย์ฉบังครับยี่สิบเอ็ดเสร็จประสงค์ กราบทั้งสี่องค์
เธอทรงยินดีปรีดา
ร่ายเวทวิเศษศักดา เป่าต้องกายา
คาวีพินาศฟาดกัน
พรมน้ำกรดบรรไลยกัล์ป กายคาวีนั้น
ก็กลายเป็นหนองฟองฟู
บัดใจทลายเป็นอณู ผ้าทิพย์ชมพู
ห่อหุ้มเป็นกลุ่มเดียวกัน
วารีพิธีสาปสรรพ์ รดเสกเป่าพลัน
ห่อนั้นก็เป็นเทวา
ทรงเครื่องรุ่งเรืองนัยนา สุดแสงโมรา
นามาว่าพระศุกร์สุกสี
ตามตำรับปุราณะว่า พระศุกร์เป็นโอรสของ ภฤคุบดีพรหมบุตร กับ นางชยาติ (เลื่องลือ) มีธิดาชื่อ เทวยาณี เป็นมเหสีของท้าวยยาติในตระกูลจันทรวงศ์ เป็นปุโรหิตของท้าวพลีและพวกแทตย์ แต่นั่นแหละครับ บางคัมภีร์ก็ว่าพระศุกร์นั้นน่ะ เป็นบุตรของพระกวี และมีชายา ชื่อว่า ศุศุมา หรือ ศตปาวรา
ในลิลิตนารายณ์สิบปาง ปางวามนาวตาร มีเรื่องย่อๆ ว่า มีอสูรตนหนึ่งชื่อท้าวพลี (เป็นพวกแทตย์ ก็ยักษ์ประเภทหนึ่งนั่นแหละ) ได้ไปในพิธีกวนน้ำอมฤต ถูกเทพฆ่าตาย พวกอสูรได้พาลงไปสู่บาดาล พราหมณ์ได้ชุบชีวิตให้ ด้วยความแค้นแน่นอุราท้าวพลีจึงได้ทำพิธีกรรมเพิ่มฤทธิ์ให้ตนเองจนสำเร็จ ก็พาพวกแทตย์รุกรานไปทั่วจนถึงแดนพระอินทร์ ได้ครอบครองแดนพระอินทร์ทั้งหมด พระอินทร์ได้ไปขอคำปรึกษาพระพฤหัสบดีซึ่งเป็นดาวครู พระพฤหัสบดีก็แนะนำดีเหลือละ คือให้หลบฉากไปให้พ้นจากแดนก่อน เป็นการชั่วคราว ต่อมาพระอินทร์ก็ได้ไปขอคำชี้แนะจากพระกัศยปเทพบิดรกับระอทิติเทพมารดร นางอทิติแนะนำให้ทำพิธีขอความช่วยเหลือต่อพระนารายณ์ ในที่สุดพระนารายณ์ก็อวตารมาเป็นพราหมณ์เตี้ยชื่อ วามน ต่อมาท้าวพลีอยากเติมฤทธิ์ให้ตนเองอีก ก็ทำพิธีกรรมอีกตามเคย คราวนี้วามนได้ไป ณ ที่นั้นด้ย ท้าวพลีได้ออกปากว่าจะขออะไรก็ให้ทั้งนั้นแหละ วามนได้ทีก็ขอที่ดินเพียง ๓ ย่างก้าวเท่านั้นเอง ท้าวพลีเห็นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยก็ยกให้ แม้พระศุกร์ซึ่งเป็นอาจารย์จะห้ามไว้ เพื่อนก็ใจถึงบอกว่าลั่นวาจาแล้วไม่คืนคำหรอก เมื่อท้าวพลีทำพิธีรดน้ำตามธรรมเนียมของการยกให้ พระศุกร์ก็หายเข้าไปในพวยน้ำเต้า อุดรูไม่ให้น้ำหลั่ง วามนน่ะเป็นนารายณ์อวตารมานะครับ ก็ย่อมทันเหลี่ยมเชิงของพระศุกร์ละ เลยเอาหญ้าคาแยงเข้าไปในพวยน้ำเต้า ถูกตาพระศุกร์เล่นเอาพระศุกร์ตาบอดไปเลย และทนเจ็บไม่ไหวต้องหายตัวออกมาน้ำก็หลั่งจากพวยน้ำเต้าไหลลงมือวามนฉับพลัน
สมถวิลแล้วจึงได้ สำแดง
ฤทธิ์เดชประจักษ์ตา บัดนั้น
ย่างหนึ่งเหยียบทั่วแหล่ง สุรภพ
อีกย่างเหยียบหมดชั้น ชนสถาน
ครับ ก็เพียงสองก้าวเท่านั้น ย่างก้าวแรกก็ไปทั่วแดนเทวดา อีกย่างไปทั่วแดนมนุษย์ เหลืออีกก้าว ถ้าจะย่างเห็นทีจะทั่วแดนบาดาล ซึ่งก็เรียกทั่วสามโลก คือ สวรรค์ มนุษย์ บาดาล ทีนี้ท้าวพลีก็ตาค้างซิครับ ในที่สุดและที่สุดก็ต้องถูกลงโทษให้ไปอยู่บาดาลชั้นต่ำสุด ต่อมาเพื่อนบำเพ็ญความดี จนพระศรีมเหสีพระนารายณ์เห็นใจอ้อนวอนขอให้พระนารายณ์ช่วย พระนารายณ์น่ะถึงแม้จะเป็นเทวดาก็เถอะก็เหมือนมนุษย์เหมือนกัน คือแม้จะใจแข็งประดุจเหล็กกล้า แต่จะกลายเป็นอ่อนเหมือนขี้ผึ้งถูกไฟลนได้ ถ้าเมียรักขอร้อง เรื่องอย่างนี้ในโลกมนุษย์มีเยอะครับ ผลก็คือได้รับอภัย
ขุนมารจงย้ายที่ อยู่พลัน
ไปอยู่แดนสุตล เขตแคว้น
เจ้าจงครอบครองขัณฑ์ ทรงราชย์
เป็นสุขสนุกแม้น แดนสรวง
ตรงนี้ ขอจ้อถึงคำ “สุตล” หน่อย เป็นเกร็ดวรรณคดีน่ะ คือว่าภายใต้โลกที่มนุษย์เราอยู่นี่แหละ เราเรียกชื่อรวมกันว่าบาดาล เป็นที่อยู่แห่งนาค แทตย์ ทานพ ยักษ์และอสูรอื่นๆ โลกบาดาลนี้ตามปัทมปุราณะ กล่าวว่ามี ๗ ชั้นครับ จะนับจากชั้นบนลงไปถึงชั้นล่างสุดได้ดังนี้
๑. อตล ผู้ครองชื่อมหามายา
๒. วิตล ผู้ครองชื่อ หาตเกศวร เป็นภาคหนึ่งแห่งพระศิวะ
๓. สุตล ผู้ครองชื่อพลี คือ แทตย์ที่ว่านั่นแหละ
๔. ตลาตล ผู้ครองชื่อมายะ
๕. มหาตล เป็นแดนที่อยู่ของงู
๖. รสาตล เป็นแดนที่อยู่ของแทตย์และทานพ
๗. บาดาล เป็นแดนที่อยู่ของนาค มีพญาวาสุกรีเป็นราชา
แดนบาดาลที่สูงๆ นั้น สบายกายสำราญใจเหมือนๆ กับแดนสวรรค์งั้นแหละ ท้าวพลีได้เลื่อนปรู๊ดไปถึงแดนสุตลก็ย่อมจะยินดีปรีดาละครับ มิหนำซ้ำองค์พระนารายณ์ยังประทานพรซ้ำอีกว่าถ้าเพียรทำความดีแล้ว
ยามดีจะมอบให้ ครองสรวง
เป็นที่พระอินทร์เอก อะคร้าว
เสพทิพยะสุขปวง สมปรารถ-นาแฮ
เป็นใหญ่ในภพด้าว สามแดน
ความ “เป็นใหญ่ในภพด้าว สามแดน” น่ะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายประกอบว่า “อาศัยเหตุที่ท้าวพลีได้ครองโลกแล้วครั้ง ๑ และได้รับพรพระวิษณุเป็นเจ้าไว้ว่าจะได้ครองอีกครั้ง ๑ ในอนาคต เวลาที่โหรบูชาเทวดาจึงกล่าวว่า “โอมพระภูมิพระธรณี กรุงพลีเรืองฤทธิ์” ดังนี้ อนึ่งรูปท้าวพลีก็มีอยู่ด้วยในศาลหลักเมืองในกรุงเทพฯ เรียกว่า รูปกรุงพาลี”
ก็จับความได้ว่า เรียกเพี้ยนเป็นกรุงพาลีได้เหมือนกันดังนี้ บางเกจิอาจารย์จึงสรุปว่าท้าวพลีหรือกรุงพาลีเป็นเจ้าของหรือเจ้าแห่งแผ่นดินทั้งหมด ถือว่าเป็นใหญ่ พระภูมิเจ้าที่หรืออาจเป็นเรื่องที่มาของศาลพระภูมิเลยก็ได้ ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เวลาบนบานอะไรก็บนต่อกรุงพาลีด้วย เช่น “ทั้งพระเพลิงพระพายกรุงพาลี”
ในหนังสือเทวปาง มีเรื่องเล่าว่า กรุงพาลีเดิมเป็นยักษ์ชื่อ มูลาคนี มีตาเป็นไฟ เที่ยวเบียดเบียนเทวดาและมนุษย์ พระอิศวรจึงมาปราบ ยักษ์มูลาคนีเพื่อนแน่เหมือนกัน ไม่กลัว ลืมตาเป็นไฟไปล้อมพระอิศวรไว้ พระอิศวรสำแดงฤทธิ์ขึ้นเหยียบหลังยักษ์ แล้วบันดาลให้มีท่อน้ำออกจากช่องพระกรรณดับไฟเสียได้ มูลาคนีก็สิ้นฤทธิ์ พระอิศวรจึงสาปให้เป็นกรุงพาลี เที่ยวกินเครื่องสังเวยอยู่ในมนุษยโลก ก็คงจะเป็นเค้าที่มาของศาลพระภูมิอีกนั่นแหละ
ตามตำนานเกี่ยวกับพระภูมิ บางคัมภีร์มีว่า ท้าวทศราช กับนาง สันทาทุก ครองกรุงพลี มีโอรสเก้าองค์ โอรสทั้งเก้านี้ได้รับแต่งตั้งรักษาภูมิแผ่นดินในลักษณะต่างๆ กัน คือ
องค์ที่ ๑ ชื่อ พระชัยมงคล ให้เป็นพระภูมิรักษาบ้านเคหสถาน
องค์ที่ ๒ ชื่อ พระนาคราช เป็นพระภูมิรักษาทวารและบันได
องค์ที่ ๓ ชื่อ พระคนธรรพ์ เป็นพระภูมิรักษาเรือนหอบ่าวสาว
องค์ที่ ๔ ชื่อ พระเทวเถร เป็นพระภูมิรักษาโค กระบือ
องค์ที่ ๕ ชื่อ พระโพสพ เป็นพระภูมิรักษายุ้งฉางข้าว
องค์ที่ ๖ ชื่อ พระเยาวแผ้ว เป็นพระภูมิรักษานา ป่า เขา
องค์ที่ ๗ ชื่อ พระธรรมโหรา เป็นพระภูมิรักษาสวน
องค์ที่ ๘ ชื่อ พระวัยทัต เป็นพระภูมิรักษาวัดวาอาราม
องค์ที่ ๙ ชื่อ พระทาษราชา เป็นพระภูมิรักษาห้วยหนอง คลอง บึง แม่น้ำ
พระภูมิแต่ละองค์มีบริวาร ๓ ตน ชื่อ นายจันทิศ นายจันที และจ่าประสบเชิงเรือน
ในคัมภีร์ พรหมจุติ ได้กล่าวว่า ก่อนหน้าพระพุทธองค์จะตรัสรู้ การนิยมตั้งศาลพระภูมิมีมาก่อนแล้ว ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงขอที่จากพระภูมิ ๓ ก้าว โดยพุทธาภินิหารทรงย่างเพียง ๓ ก้าวก็สุดจักรวาล พระภูมิจึงต้องออกไปอยู่นอกจักรวาล ครั้นแล้วก็เป็นเหตุให้ขาดเครื่องสังเวยต่างๆ พระพุทธองค์ทรงประทานพุทธานุญาตให้อยู่ในภูมิสถานเดิม เป็นเหตุให้มีการตั้งศาลพระภูมิตามเคหสถาน เรือกสวนไร่นา วัดวาอารามมาตราบทุกวันนี้
ตรงนี้มีเก
ร็ดต่างไปนิด กล่าวว่าเมื่อพระพุทธองค์อุบัติขึ้นในโลก จะหาที่เผยแผ่พระธรรมมิได้ ได้ทรงขอพื้นที่พระเจ้าทศราชเพื่อทรงประกาสศาสนา ๓ ก้าว พระเจ้าทศราชก็ยินดีถวาย แต่ด้วยพุทธาภินิหาร ทรงก้าวเพียง ๒ ก้าว พื้นที่ของพระเจ้าทศราชก็หมดเสียแล้ว เลยต้องอาศัยอยู่นอกฟ้าหิมพานต์ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้กลับอยู่ที่เดิม ทรงประทานพรให้อีกว่า ถ้ามนุษย์หญิงชายผู้ใดกระทำการอันเป็นมงคลที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ก็ให้สักการบูชาและสังเวยพระภูมิเจ้าที่เสียก่อนก็จะเป็นสิริมงคล
ครับ ผมเล่าเรื่องพระศุกร์ตอนตาบอด แล้วเกี่ยวพันกับกรุงพาลี เรื่องศาลพระภูมิ ก็เลยฝอยออกไปเยอะ ไหนๆ ก็เลยเถิดมาถึงเรื่องพระภูมิเจ้าที่แล้ว ก็เลยต่อเรื่องคติเรื่องพระภูมิของฝรั่งอีกนิด เป็นความเชื่อของพวกโรมันไม่ใช่พวกกรีก ลัทธิการบูชาพระภูมิของโรมันเกิดขึ้นในสมัยกษัตริย์ นูมา ผู้ครองกรุงโรมเมื่อประมาณ ๗๐๐ ปีก่อนคริสตศก พระภูมิของฝรั่งเหมือนกับหลักเขต คือเรียกว่า เตอร์มินัส (Terminus) คำนี้ตกมาเป็นคำอังกฤาในความหมายว่าสุดเขต สุดทาง เรื่องมีว่า กษัตริย์นูมาทรงสั่งให้ชาวเมืองเอาหิน (Termini) ปักเป็นเครื่องหมายเขตแดน เพื่อให้เทพคุ้มครองแดนนั้นๆ ถึงเทศกาลราวเดือนกุมภาพันธ์ก็มีการฉลองใหญ่ เซ่นไหว้สังเวยกันด้วยแพะ แกะ หินที่ปักนี่น่ะใครจะถอนไม่ได้ ถือว่าเป็นเสนียดและอาจจะถูกฆ่าตาย ที่กรุงโรมมีศาลเจ้าเตอร์มินัสนี้ด้วย นอกจากนั้นยังมีความเชื่ออีกกระแสหนึ่งว่าคนเราทุกคนมีเทวดารักษาอยู่ ถ้าเป็นคนผู้ชายก็มีเทพจีเนียส (Genius) ถ้าเป็นหญิงก็มีเทพจูโน (Juno) ก็เป็นคล้ายวิญญาณประจำตัวนั่นแหละ ทั้งยังเชื่ออีกว่าสถานที่ก็ต้องมีเทพรักษา เรียกว่า จีเนียสโลไซ (Genius Loci) ก็คือเจ้าที่นั่นเอง
พระศุกร์น่ะไม่กินเส้นกับพระพฤหัสบดีหรอกครับ ก็คราวเกิดเทวสุรสงครามอันมีกรณีพิพาทมาจากพระจันทร์ไปฉุดนางดาราชายาแก้วของพระพฤหัสบดี พระศุกร์พร้อมด้วยพวกแทตย์ และพวกแทตย์ทานพเป็นฝ่ายอักษะ เข้าข้างฝ่ายผิดคือพระจันทร์ดังที่ผมจ้อไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้วละครับ
แล้วก็ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า พระศุกร์กับพระเสาร์ก็ปีนเกลียวไม่กินสีกันเหมือนกัน แต่พระศุกร์กับพระอังคารถูกเส้นกันดี เรื่องนี้มีนิยายประกอบด้วยครับ คือครั้งบรรพกาลพระอังคารไปเกิดเป็นกบ พระเสาร์เกิดเป็นงู พระศุกร์เกิดเป็นรุกขเทวดา งูย่อมกินกบเป็นธรรมดา เมื่องูเห็นกบก็รี่เข้าใส่ กบวิ่งไปแอบในโพรงไม้ที่มีรุกขเทวดาอยู่ รุกขเทวดาช่วยกบไว้ได้โดยตะเพิดงู งูก็เลยไม่ได้กินกบ ก็ช่วยกันอย่างนี้ละครับ แหม ว่าถึงเรื่องงูผมขอแทรกนอกเรื่องสักนิดเถอะ แต่เป็นเรื่องจริงของธรรมชาติ งูจงอางกลัวตะขาบ แม้จะเลื้อยเร็วอย่างไรเวลาเห็นตะขาบงูจงอางกลับเข้าไปแอบในโพรงไม้ ฝ่ายตะขาบก็กลัวไก่และคางคก ทั้งคางคกและไก่ก็ไพล่ไปกลัวงู ธรรมชาติสร้างความสมดุลกันดีแท้
พระศุกร์มีนามเรียกต่างๆ เช่น
กวี หรือ กาพย์ แปลว่า ผู้ประพันธ์
มฆาภพ แปลว่า บุตรของมฆา
โษทสานศุ แปลว่า ผู้มีรัศมี ๑๖ แฉก
เศวต แปลว่า ขาว
ในเรื่องรามเกียรติ์ พระศุกร์ลงมาเกิดเป็นทหารของพระรามในจำพวกสิบแปดมงกุฎ คือเป็นนิลปาสัน
เรื่องนี้ผมจำเป็นต้องแทรกไว้ตรงนี้ เพราะได้กล่าวถึงเทพต่างๆ ที่อวตารลงไปเกิดช่วยพระรามอยู่เสมอ คราวนี้รวบรวมเป็นเรื่องเดียวกันไปเป็นอันว่าหมดเรื่องกันเสียทีและเป็นหมวดหมู่ดีด้วย สิบแปดมงกุฎ ก็หมายถึงเสนาวานร ๑๘ ตนที่อวตารจากเทวดาต่างๆ แต่จะมีใครบ้างไม่ลงรอยกันนักหรอก ตามเรื่องรามเกียรติ์น่ะพระรามมีวานรเป็นทหารอยู่ ๗๗ สมุทร (บางแห่งเขียนสมุด) สมุทรหนึ่งมีจำนวนเลขศูนย์ตามหลังเลขหนึ่ง ๑๔ ตัว และบรรดาตัวดีๆ (ก็ไม่ถึงขั้นหนุมาน สุครีพ องคตหรอก) มี ๑๘ ตัวจึงได้เรียกว่า ๑๘ มงกุฎ แต่มีใครบ้างก็ไม่ลงรอยกันนัก ในหนังสือพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ของ ร.๑ มีว่า บรรดาเทวดาพากันอาสาลงมาช่วยพระรามนั้น
เมื่อนั้น ฝูงเทพเทวาน้อยใหญ่
ต่างทูลอาสาภูวไทย จะขอไปเป็นพลอวตาร
มล้างเหล่าอสูรพาลา ที่หยาบช้าเบียนโลกทุกสถาน
พระราหูฤทธิไกรชัยชาญ เป็นทหารชื่อนิลปานัน
พระพินายนั้นเป็นนิลเอก พระพิเนกนั้นเป็นนิลขัน
พระเกตุเป็นเสนีกุมิตัน พระอังคารเป็นวิสันตราวี
พระหิมพานจะเป็นโกมุท พระสมุทรนิลราชกบี่ศรี
พระเพลิงนิลนนท์ มนตรี พระเสารีเป็นนิลพานร
พระศุกร์เป็นนิลปาสัน พระพฤหัสบดีนั้นมาลุนทเกสร
พระพุธเป็นสุรเสนฤทธิรอน พระจันทรเป็นสัตพลี
วิรุฬหกวิรูปักษ์สองตระกูล เป็นเกยูรมายูรกบี่ศรี
เทวัญวานรนอกนี้ บัญชีเจ็ดสิบเจ็ดสมุดตรา
จากกลอนนี้ก็ได้ความดังนี้
๑. พระราหู เป็น นิลปานัน
๒. พระพินาย เป็น นิลเอก
๓. พระพิเนก เป็น นิลขัน
๔. พระเกตุ เป็น กุมิตัน
๕. พระอังคาร เป็น วิสันตราวี
๖. พระหิมพาน เป็น โกมุท
๗. พระสมุทร เป็น นิลราช
๘. พระเพลิง เป็น นิลนนท์
๙. พระเสาร์ เป็น นิลพานร
๑๐. พระศุกร์ เป็น นิลปาสัน
๑๑. พระพฤหัสบดี เป็น มาลุนทเกสร
๑๒. พระพุธ เป็น สุรเสน
๑๓. พระจันทร์ เป็น สัตพลี
๑๔. วิรุฬหก เป็น เกยูร
๑๕. วิรูปักษ์ เป็น มายูร
ตอนนี้นับได้เพียง ๑๕ ส่วนในลิลิตนารายณ์สิบปางของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ปางรามจันทราวตารกล่าวถึงนายวานรที่นับกันว่าเป็นสิบแปดมงกุฎไว้ ๑๘ ตน มีชื่อต่างไปจากข้างต้นบ้าง คือไม่มีชื่อนิลนนท์ นิลพานร และเพิ่มอีก คือ
๑. พระไพศรพณ์ เป็น เกสรมาลา
๒. พระมหาชัย เป็น สุรกานต์
๓. พระพิรุณ เป็น ไวยบุตร
๔. พระอีสาน เป็น ไชยาม
๕. พระเสาร์ เป็น พิมลวานร
รวม ๑๓ ข้างต้นก็เป็น ๑๘ พอดีครับ
ส่วนภาพระเบียงรอบอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโคลงบรรยายชื่อวานร ตัวนายไว้ถึง ๒๐ แต่ก็มิได้บอกว่าตัวใดเป็นนายนับเนื่องเข้าเป็นพวกสิบแปดมงกุฎ ในจำนวน ๒๐ นายที่ปรากฎในวัดพระแก้วนี้ มีรายชื่อ ๑๘ นาย เหมือนลิลิตนารายณ์สิบปาง และเพิ่มอีก ๒ นาย นิลนนท์และนิลพัท
อย่างไรก็ตาม ในรามเกียรติ์ตอนพระรามชุมพลปรึกษากันยกข้ามไปลังกา ตอนนี้กล่าวถึงชื่อตัวนายวานรว่าเป็นสิบแปดมงกุฎไว้ด้วย
แต่นับเข้าจริงได้ถึง ๒๕ นาย คือ ..
๑. ไชยาม
๒. เกสรมาลา
๓. นิลนนท์
๔.นิลราช
๕. นิลขัน
๖. นิลปานัน
๗. นิลเอก
๘. ขุนนิล
๙. พิงคา
๑๐. วิสันตราวี
๑๑. โชติมุข
๑๒. วิมล
๑๓. มานนท์
๑๔. เกยูร
๑๕. มายูร
๑๖. ศรราม
๑๗. วาหุโลม
๑๘. สัตพลี
๑๙. โกมุท
๒๐. สุรเสน
๒๑. สุรกานต์
๒๒. ทวิพัต
๒๓. มหัตวิกัน
๒๔. ไวยบุตร
๒๕. มากัญจวิก
เรื่องของเรื่องเลยไม่ลงรอยกันนี่แหละครับ
มาเรื่องพระศุกร์ต่อครับ พระศุกร์ถือกันว่าเป็นเทวดาแห่งความรัก ความงาม ตลอดจนถึงความสันติภาพด้วย แต่ไหงเห็นไม่กินเส้นกับดาวหลายดวงก็ไม่รู้ได้ พระศุกร์มีวิมานสีทอง ทรงโคอุสุภราช เป็นพาหนะ และมีหน้าที่เป็นผู้รักษาเขาพระสุเมรุทางทิศอุดร ส่วนภาพเขียนเป็นรูปหน้าตาเป็นแทตย์มุ่นชฎาเป็นฤาษี สีกายเป็นสีประภัสสร (สีพระอาทิตย์แรกขึ้น) หรือสีจำปา มีประคำคล้องคอ บางทีก็มีไม้เท้าถือด้วย โคที่ทรงนั้นเป็นดำขาวปนด่าง
มานึกถึงพระศุกร์เป็นเทพแห่งความงาม ทำให้นึกถึงพระศุกร์ของฝรั่ง ซึ่งก็เป็นเทพแห่งความงามเหมือนกัน แต่ของเขาเป็นเทพธิดาครับ เทพนี้เราคุ้นหูดีคือ วีนัส(Venus) หรือ อาโฟรดิตี (Aphrodite) คำอาโฟรดิตีในภาษากรีกแปลว่าเกิดจากฟองน้ำครับ จึงถือกันว่าเป็นผู้กำเนิดจากมหาสมุทร และบางครั้งบางหนก็ไปพักผ่อนใต้ท้องสมุทรเล่นได้
วีนัสดาวพระศุกร์ฝรั่งนี้ เป็นเทพธิดาที่มีความงามนักหนา รูปปั้นวีนสเป็นรูปปั้นงามที่สุดในบรรดารูปปั้นหญิง ช่างเขียนช่างปั้นจะพยายามทำเทพอโปลโล (Apollo พระอาทิตย์) เป็นเทพฝ่ายชายให้งามที่สุด และทำวีนัสให้งามที่สุดของเทพฝ่ายหญิง
เป็นธรรมดาครับหญิงงามก็ต้องเย่อหยิ่งหลงใหลในความงามของตน เทพธิดาวีนัสพระศุกร์ฝรั่งก็เช่นกันมีจริตพิษสงเอาการ จนกระทั่งซุส (Zeus ดาวพฤหัสบดีฝรั่ง) ซึ่งเป็นเทพสูงสุดลงโทษบังคับให้แต่งงานเป็นชายาของเฮพีตัส (Hephaetus) หรือวุลเคน (Vulcain) เป็นเทพที่มีฐานะด้อยอยู่สักหน่อย คือเป็นช่างโลหะหรือช่างเหล็ก อันที่จริงเทพองค์นี้เทือกเถาเหล่ากอก็ไม่ใช่เล่น เป็นถึงลูกของซุสกับฮีรามเหสีใหญ่ แต่กลายเป็นผู้ดีตกยากไป วีนัสก็ไม่เกรงหรอกครับกลับไปรักกับอาริส (Ares) หรือ Mars ดาวพระอังคารของฝรั่ง อาโปลโลจับได้ไปบอกเฮฟีตัส เฮฟีตัสก็ทำตาข่ายดักจับได้ทั้ง ๒ องค์ ขณะอยู่ด้วยกัน แล้วก็ประจานให้เทวดามุงทั้งหลายดู พอใจแล้วก็ปล่อย
วีนัสมีลูกกับอาริสหลายองค์ แต่ที่เจนหูที่สุดคือ Cupid กามเทพฝรั่งละ เรื่องความรักของวีนัสยังมีต่อไปอีก ต่อมาเธอพบเด็กชายคนหนึ่งได้นำตัวไปฝากให้เปอร์ซีโฟนี (Persephone) เลี้ยงแทน เด็กคนนี้ได้ชื่อว่าอาโดนิส (Adonis) ต่อมาเพื่อนโตเป็นหนุ่มรูปงาม ชอบล่าสัตว์ ส่วนวีนัสก็ยังสาวสวยอยู่เกิดหลงรักพ่อหนุ่มนั่นจะเอาตัวไปเป็นสามี ส่วนเปอร์ซีโฟนีก็ไม่ยอมเพราะก็อยาได้ไว้เป็นสามีเหมือนกัน ผลที่สุดซุสต้องตัดสินให้อาโดนิสอยู่กับฝ่ายหญิงทั้งสองนั้น องค์ละ ๔ เดือน อาโดนิสก็สบายแฮไป
เรื่องวีนัสยังมีอีก คือเป็นเทพที่หยิ่งในความงามของตน ไม่ยอมให้ใครมีความงามเกิน มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งชื่อไซคี (Psyche ภาษากรีกแปลว่าดวงวิญญาณ) เป็นคนอยู่ในโลกนี่แหละ ความงามของเธอเป็นที่เลื่องลือของบรรดาหนุ่มๆ มาก ปรากฎว่านางจะเดินไปไหนก็มีหนุ่มๆ เอาดอกไม้โปรยที่เท้าเข้าทำนอง “สำลีอ่อนช้อนประเชิญให้เดินไป” ความทราบถึงวีนัสเลยสั่งให้คิวปิดเอาศรไปยิงให้นางเกิดรักกับชายเลวที่สุดคิวปิดก็ทำตามคำสั่ง แต่พอเห็นหน้าของนางไซคีซึ่งกำลังหลับอยู่ก็ตะลึงโฉม ความเผอเรอทำให้ศรของตนมาโดนตัวเองเข้า คิวปิดก็เลยหลงรักนางแต่ก็กลัวแม่วีนัส ต้องอ้อนวอนเทวดาให้ช่วย ในที่สุดคิวปิดก็ได้อยู่กับไซคีสมใจ โดยที่วีนัสไม่รู้ แต่คิวปิดก็ได้แต่มาหานางในเวลาค่ำคืนเท่านั้น แต่บอกนางว่าตนเป็นยักษ์เป็นมาร และก้บอกแม่วีนัสว่าไซคีแต่งงานกับยักษ์ไปแล้ว ฝ่ายนางไซคีสงสัยเป็นนักเป็นหนา เพราะไม่เห็นตัวคิวปิดแต่กิริยามารยาทที่กระทำก็ไม่ใช่ยักษ์อะไร ถามคิวปิคิวปิดก็ขอร้องอย่าดูตัวเลย อยู่กันอย่างสุขสบายอย่างนี้ดีแล้ว แต่ผู้หญิงก็ต้องเป็นผู้หญิงคืออยากรู้ วันหนึ่งขณะที่คิวปิดหลับก็เอาโคมไฟส่องเห็นคิวปิดเป็นเทพเจ้างาม คิวปิดตื่นรู้ว่านางรู้ความจริงแล้ว และรู้ด้วยว่าบรรดาผู้หญิงน่ะพูดมาก มิช้ามินานแม่ต้องรู้ เลยหนีไป ไซคีได้พยายามออกติดตามจนในที่สุดไปถึงเทวสถานของวีนัส วีนัสก็ยังเกลียดแกล้งทรมานต่างๆ นานา คิวปิดแอบมาช่วย ผลสุดท้ายวีนัสก็รู้ความจริงว่าตนเป็นแม่ผัวของไซคีก็ยิ่งเกลียดมากขึ้นอีก ผลที่สุดซุสมาบังคับให้วีนัสยอมให้คิวปิดอยู่ด้วยกันกับไซคีอย่างผาสุก
เทพวีนัสนี่ไม่ใช่จะอิจฉาเฉพาะผู้หญิงที่มีความงามเท่านั้นนะ แม้ผู้ชายที่งามเธอก็อิจฉาเอาเรื่องเหมือนกัน มีเทพบุตรรูปตรงสะเป๊คองค์หนึ่งชื่อนาร์ซิสซัส (Narcissus) เป็นลูกเทพเจ้าประจำแม่น้ำ ความหล่อจนพวกนางฟ้า (Nymph) ทั้งหลายหลงรัก มีนางฟ้าองค์หนึ่งชื่อเอโค (Echo) หลงใหลเอามากๆ แต่นางฟ้าองค์นี้มีนิสัยแปลกชอบพูดซ้ำคำของผู้อื่น ส่วนนาร์ซิสซัสนี่ก็มีนิสัยแปลกชอบหลงไหลความงามของตนเอง เจอกันทีไรนาร์ซิสซัสแทนที่จะชมความงามของหญิงกลับชมตัวเองเสียนี่ ข้างเอโคชอบพูดซ้ำก็พูดตามฝ่ายชายจนเลื่องลือถึงวีนัส วีนัสก็เลยริษยานาร์ซิสซัส วันหนึ่งเอโคกำลังอ้อนวอนขอความรักนาร์ซิสซัส แต่นาร์ซิสซัสกลับมัวเพลินมองดูรูปเงาของตนในน้ำเสียนี่ วีนัสเกิดหมั่นไส้เลยผลักนาร์ซิสซัสตกน้ำตาย แปลกอยู่ที่นาร์ซิสซัสเป็นลูกของเทพเจ้าประจำแม่น้ำแต่ทำไมถึงจมน้ำตายไปได้หนอ แต่ศพของนาร์ซิสซัสก็กลายเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่ง คือดอกนาร์ซิสซัสนั่นเอง ส่วนคำเอโค (Echo) กลายมาเป็นคำอังกฤษแปลว่าเสียงสะท้อน ส่วนคำนาร์ซิสซัสก็เปลี่ยนรูปเป็นคำขยาย เช่น นาร์ซิสติค เปอร์ซั่น ก็หมายถึงบุคคลที่หลงใหลในตนเอง ใช้มากครับในเรื่องจิตวิทยา
เล่าเรื่องพระศุกร์พราหมณ์ แตกคอไปเรื่องสิบแปดมงกุฎแล้วก็เลยไปเป็นเรื่องพระศุกร์ฝรั่ง ก็เห็นจะจบเรื่องพระศุกร์ได้แล้วนะ ขอบคุณครับ ที่ทนอ่านและอ่านทนจนถึงบรรทัดนี้
ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์ ประภาพิทยากร
:: https://www.silpathai.net/ความเป็นมาของพระศุกร์