ตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ
[ความรู้เรื่องปักขคณนา ตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ: ว่าด้วย Review หนังสือ]
วันนี้ วันกาบสัน พฤหัสบดีที่ ๒๗ เมษายน
เดือน ๖ (วิสาขมาส) ขึ้น ๒ ค่ำ พุทธศักราช ๒๕๖๐
ปีระกา นพศก เมืองเร้า จุลศักราช ๑๓๗๙
รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๖
ปีที่ ๒ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ
อิทานิ สตฺตมีภูเต
มหนฺเตเยว สมฺพฺยุเห
จตุตฺถสฺเสว พฺยุหสฺส
อนฺติเม สมุเห อยํ
ปจฺฉิมสฺเสว วคฺคสฺส
ปกฺเข ปฐมสญฺหิเต
ปวตฺตติ ปจฺจุปฺปนฺโน
กาโล กลฺยูปลกฺขิโตติฯ
เดือน ๖ (วิสาขมาส) ขึ้น ๒ ค่ำ พุทธศักราช ๒๕๖๐
ปีระกา นพศก เมืองเร้า จุลศักราช ๑๓๗๙
รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๖
ปีที่ ๒ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ
อิทานิ สตฺตมีภูเต
มหนฺเตเยว สมฺพฺยุเห
จตุตฺถสฺเสว พฺยุหสฺส
อนฺติเม สมุเห อยํ
ปจฺฉิมสฺเสว วคฺคสฺส
ปกฺเข ปฐมสญฺหิเต
ปวตฺตติ ปจฺจุปฺปนฺโน
กาโล กลฺยูปลกฺขิโตติฯ

ตามหัวข้อที่ยกมาเลยครับ หนังสือ "ความรู้เรื่องปักขคณนา ตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ" มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) และพระเทพวิสุทธิญาณ (อุบล นนฺทโก) เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
หนังสือเล่มนี้ ผมบอกได้เลยครับว่าเป็นหนังสือตำรา "ต้องอ่าน" สำหรับใครก็ตามที่สนใจเรื่องของปฏิทินจันทรคติไทย เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อเขียนสำคัญ ๆ จากปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิทินจันทรคติไทยหลายพระองค์และหลายท่าน ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และคู่ควรแก่การศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงอย่างยิ่งครับ
ในส่วนของ "พระบรมราชาธิบาย อธิกมาศ อธิกวาร และปักขคณนาวิธี" ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือเล่มนี้ก็ได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์มาตีพิมพ์ถึงสามบทด้วยกันครับ บทแรก "ตำราอธิกมาศ อธิกวาร แลปักขคณะนา" ถึงแม้ว่าจะเป็น "พระบรมราชาธิบาย" ถึงที่มาที่ไปของอธิกมาส อธิกวาร นำไปสู่ปักขคณนาที่ทรงสร้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น "พระราชวิจารณ์" หลักเกณฑ์ว่าด้วยปฏิทินจันทรคติที่มีอยู่ ทั้งในพระวินัย รวมไปถึงในทางโหราศาสตร์ที่(เข้าใจว่า)มีการใช้ในเวลานั้นด้วย บทที่สอง "วิธีทำปักขคณนา" และบทที่สาม "วิธีปักขคณนา" โดยเนื้อหาสาระแล้วไม่ได้ต่างกันมาก เป็นพระราชนิพนธ์อธิบายวิธีการคำนวณปักขคณนา พร้อมที่มาที่ไปว่าตั้งต้นมาจากไหน อาจจะมีแตกต่างในรายละเอียดบ้าง เช่นตัวอย่างบทปักขคณนาวิธานคาถา ที่ทุกท่านเห็นของปักข์ปัจจุบันด้านบนนี้ ก็มาจากพระราชนิพนธ์ในบท "วิธีปักขคณนา" หรือในบท "วิธีทำปักขคณนา" ที่มีการกล่าวถึงความคลาดเคลื่อนระหว่างปักขคณนาและปฏิทินจันทรคติฝ่ายบ้านเมือง เป็นต้นครับ
ซึ่งในเล่มเดียวกันนี้ ก็ยังมีบท "ขยายความแห่งพระบรมราชาธิบาย" ซึ่งเขียนโดยอาจารย์พิพัฒน์ สุขทิศ ให้คำอธิบายถึงที่มาที่ไป เบื้องลึกเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๔ ทั้งสามบท พร้อมตัวอย่างการคำนวณ ที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจพระบรมราชาธิบายดั้งเดิมได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ข้อเขียน "หลักการวางอธิกมาสและอธิกวาร" ของพระยาบริรักษ์เวชชการ ก็เป็นอีกหนึ่งบทความที่น่าสนใจ สำหรับใครที่ต้องการทำความเข้าใจหลักการวางอธิกมาสและอธิกวารในปฏิทินจันทรคติไทยครับ ถ้าจะกล่าวไปแล้ว บทความนี้ก็เหมือนเป็นการ "ชำแหละ" กลไกของปฏิทินไทยออกมา ทั้งในเรื่องของอธิกมาสและอธิกวาร ว่ามีที่มาอย่างไร กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ใช้ได้จริงหรือไม่ ยังไม่นับรวมสถิติอธิกมาสอธิกวารกว่า ๒๐๐ ปี ที่ท่านผู้เขียนได้รวบรวมมาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์อีก ต้องบอกว่า "ห้ามพลาด" เลยทีเดียวครับ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย ๆ บทความ หลาย ๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น "ปักษ์คณนาสำเร็จ" ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ใช้ปักขคณนาในรัชกาลที่ ๔ ที่บูรพาจารย์ได้คำนวณล่วงหน้า ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๙ ล่วงหน้าไปถึง ๒๐๐ ปี หรือจะเป็น "ปฏิทินปูมปักขคณนา" ของนายฉิ่ง แรงเพชร ที่รวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับการคำนวณทางโหราศาสตร์ ประกอบกับตัวอย่างปักขคณนาปีพุทธศักราช ๒๔๗๙ เพิ่มเติมเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับปักขคณนาได้ดียิ่งขึ้นไปครับ
สำหรับใครที่สนใจหนังสือเล่มนี้ ทางสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับห้องสมุดหนังสืออนุสรณ์งานศพ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้ในรูปแบบ E-book ซึ่งทุกท่านสามารถเข้าไปอ่าน .. Onlineได้ที่ archive.org/details/unset0000unse_d6m6 ครับ
ขอบคุณที่มา : https://www.facebook.com/SiamPratidin