การขึ้นปีนักษัตรใหม่
การขึ้นปีนักษัตรใหม่
[สัมพัจฉรฉินท์: ว่าด้วยการขึ้นปีนักษัตรใหม่]
วันนี้ วันจันทร์ที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (จิตตมาส) วันอุโบสถครั้งที่ ๑ แห่งฤดูร้อน พุทธศักราช ๒๕๖๐
สุขสันต์วันตรุษไทยครับ ทุกท่าน!
เห็นชื่อบทความที่ผมขึ้นต้นด้านบนไหมครับ สัมพัจฉรฉินท์ ชื่อบาลี แต่แปลงมาเขียนอย่างไทย สัมพัจฉร มาจาก สังวัจฉร แปลว่าปี ฉินท คือการตัด สัมพัจฉรฉินท์ คือการ "ตัด" ปีเก่าขึ้นเป็นปีใหม่ เป็นชื่อพระราชพิธีตรุษในราชสำนักไทยแต่เดิมมา พระพิธีธรรม "สวดมนต์ข้ามปี" ด้วยบทอาฏานาฏิยสูตร ที่เรียกว่าภาณยักษ์-ภาณพระ พร้อมยิงปืน ซัดน้ำมนต์ ซัดทราย ขับไล่สรรพสิ่งอันเป็นอัปมงคลตลอดปีที่ผ่านมาให้พ้นจากพระนคร ต้อนรับปีใหม่ด้วยความเป็นสิริมงคล แต่บัดนี้ก็มิได้จัดยิ่งใหญ่เช่นนั้นเสียแล้ว จะเหลืออยู่ก็เพียงการบวงสรวงพระสยามเทวาธิราชเป็นการใหญ่ ในวันขึ้น ๑ ค่ำเดือน ๕ ของทุกปี
ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ตามธรรมเนียมไทยโบราณแล้ว ก็ต้องขอกล่าวถึงการขึ้นปีนักษัตรเสียเลย เพราะเป็นของคู่กันเสมอ เวลาขึ้นปีใหม่ อย่างปีนี้ ๒๕๖๐ ก็จะเปลี่ยนจากปีวอกขึ้นเป็นปีระกา จากปีลิงมาเป็นปีไก่ แต่ก็เป็นข้อที่น่าสับสน เพราะต่างสำนักต่างก็นับขึ้นปีนักษัตรใหม่ต่างกัน ว่าขึ้นตั้งแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้ายบ้าง ว่าขึ้นตั้งแต่ปีใหม่ ๑ มกราคมบ้าง ว่าขึ้นตั้งแต่ตรุษจีน วันที่ ๑ เดือน ๑ ตามปฏิทินจันทรคติจีนบ้าง เรื่อยไปจนถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ อย่างช้าที่สุดก็ถึงวันสงกรานต์และวันเถลิงศก ข้อนี้ผมก็จะขอรวบรวมมาให้ทราบว่าเกณฑ์ไหนเป็นอย่างไร และมีที่มาอย่างไร
ผมขอเริ่มต้นจากต้นตอของการนับ ๑๒ นักษัตรก่อนครับ อันว่านักษัตรทั้ง ๑๒ นั้น เป็นที่นับลำดับตรงกันทั่วไป ตั้งแต่จีน ที่ผมก็เชื่อว่าคงจะเป็นต้นตอเริ่มนับนักษัตรทั้ง ๑๒ ก่อนผู้ใดในโลก แล้วจากจีนก็แพร่ลงมาสู่ชาวไททั้งหลาย เรื่อยลงมาสู่ดินแดนอุษาคเนย์ ที่ต่างก็นับปีนักษัตรเป็นที่เสมอกันทั่วทั้งภูมิภาค
อารยธรรมจีนนั้น มีปฏิทินจันทรคติใช้เป็นของตัวเอง มีเดือนตั้งแต่เดือน ๑ ถึงเดือน ๑๒ เดือน ๑ เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายฤดูหนาวต่อต้นฤดูใบไม้ผลิ ตกราว ๆ เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เมื่อขึ้นวันที่ ๑ เดือน ๑ คือวันตรุษจีน ก็นับขึ้นเป็นปีนักษัตรใหม่ สรุปคือถ้านับตามแบบจีน ก็ยึดเอาวันตรุษจีนเป็นหลัก
ลงมาจากจีนหน่อย ถึงพม่า พม่าเขาใช้จุลศักราช จุลศักราชนี้ตัดมาจากมหาศักราชที่ใช้ในอินเดีย พม่านี้รับแบบแผนปฏิทินมาจากอินเดีย ทางอินเดียเขาขึ้นปีใหม่กันในฤดูร้อน ถ้านับทางสุริยคติก็เอาเมษสงกรานต์ คือเมื่อดวงอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษบ้าง เอาวันเถลิงศก คือขึ้นศักราชใหม่บ้าง ถ้านับทางจันทรคติ ก็เอาขึ้น ๑ ค่ำ เดือนจิตรมาส คือเดือน ๕ บ้าง ที่กล่าวมานี้ก็คือการขึ้นปีใหม่อย่างพราหมณ์ คือขึ้นในฤดูร้อน
แต่ถ้าขึ้นปีใหม่อย่างไทยแท้ เขาก็นับแต่ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย คือเดือนอันดับแรก ซึ่งไปตกในฤดูหนาว แปลกกว่าใครเขา เพราะเอาตามธรรมเนียมพุทธ ท่านอุปมาว่าฤดูหนาวคือเวลาเช้า ฤดูร้อนคือเวลากลางวัน ฤดูฝนคือเวลากลางคืน ผู้คนถึงต้องพัก คือการจำพรรษา ในปฏิทินหลวง ท่านก็ใช้นับขึ้นปีนักษัตรใหม่แบบนี้ ให้ขึ้นแต่วันขึ้น ๑ ค่ำเดือนอ้าย เป็นต้นไป
หรือถ้านับอย่างฝรั่ง ก็นับเอาอย่างหยาบ ๆ คือวันที่ ๑ เดือน ๑ คือเดือนมกราคม เป็นการขึ้นปีใหม่ ขึ้นปีใหม่เมื่อไหร่ก็ขึ้นปีนักษัตรใหม่ตามนั้นเลย คือจะว่าไปแล้วญี่ปุ่นปัจจุบันก็นับอย่างนี้ เพราะใช้ปฏิทินสุริยคติแทนจันทรคติของเดิมไปเลย แทนที่จะนับ ๑ เดือน ๑ จันทรคติ ก็ใช้ ๑ เดือน ๑ สุริยคติแทน
ถามว่า เราจะใช้การนับปีนักษัตรใหม่อย่างไรดี?
ถ้าถามเพื่อจะไปดูหมอ ก็ต้องเอาตามหมอดู ว่าหมอดูจะชอบอย่างไหน ก็นับไปตามนั้น อย่างผมเอง เกิดช่วงหลังตรุษจีนปีระกา แต่ยังตกในเดือน ๓ ถ้าตามตำราหมอดูจีนเขาว่าเป็นปีระกา แต่ถ้าตามตำราหมอดูไทย ก็จัดว่าผมเกิดในปีวอก หมอจะดูให้อย่างไหนก็เอาตามนั้นไป จะได้ไม่ต้องถกเถียงกัน
แต่ถ้าจะใช้ทั่ว ๆ ไป อย่างเกณฑ์ของปฏิทินหลวงเอง เป็นมาตรฐานสมควรยึดถือ แต่ไม่แพร่หลาย เพราะวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ไปตกเอาช่วงเดือนธันวาคมก่อนปีใหม่เป็นส่วนใหญ่ จะขึ้นปีนักษัตรใหม่ก่อนตัวเลขปีใหม่ขึ้น ก็ชวนสับสนอีก คนจึงไม่ค่อยใช้ ไปใช้เอาเดือน ๕ อยู่ในช่วงสงกรานต์ ฉลองปีใหม่อย่างไทย ๆ (ที่ก็ไม่ไทยเสียทีเดียว) ผู้รู้ก็รังเกียจอีกว่าปีใหม่พราหมณ์
แต่จะใช้อย่างไรนั้น ก็คงต้องตกลงกันให้ดีเสียก่อน คุยให้เข้าใจตรงกัน ไม่อย่างนั้นพูดไปคนละทาง ๑ มกราคมบ้าง สงกรานต์บ้าง เดือนอ้ายบ้าง เดือน ๕ บ้าง ก็ยิ่งชวนสับสนเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นแล
ที่มา : สยามประติทิน: สาระปฏิทินไทย : https://www.facebook.com/SiamPratidin/
ดูดวงติดต่อ Line : baankunyai
----------------------
เรียนดวงกันวันละนิด
#โหราศาสตรไทยฉบับเรียนด้วยตนเอง
Blog: https://baankhunyai.bloggang.com
Web :บ้านคุณยาย.com www.baankhunyai.com