โหราศาสตร์กับสังคมไทย

       โหราศาสตร์กับสังคมไทย

           ความเป็นจริงของสังคมไทยนั้น ผู้คนมีความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์กันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นการถือฤกษ์ถือยามหรือการพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ของอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร ลางดีหรือลางร้าย โชคหรือเคราะห์กรรม ทำอย่างไรจึงจะมีโชคหรือทำอย่างไรจึงจะพ้นเคราะห์กรรม ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลายท่านทั้งที่เป็นนักโหราศาสตร์และนักวิชาการ เช่น ยอดธง ทับทิวไม้ กล่าวว่า

           สังคมไทยได้ใช้วิชาโหราศาสตร์มาใช้เป็นหลักในการวางพื้นฐานสำหรับการดำเนินยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทั้งด้านการเมืองและการสงครามมาตลอดเวลานานที่ประเทศไทยถูกสร้างขึ้นมา  โหราศาสตร์ไทยจึงมีอิทธิพลทุกประการในการดำเนินชีวิตของคนไทยตั้งแต่ระดับสูงสุดและต่ำสุด ตั้งแต่ใช้สำหรับการรบทัพจับศึก สร้างบ้านสร้างเมืองลงมาจนกระทั่งถึงกำหนดเวลาตัดผมตัดเล็บสำหรับคนทั่วไป

          อย่างน้อยที่สุด ที่คนไทยคุ้นหูกันมากก็คือ “ฤกษ์-ยาม” ซึ่งคนไทยส่วนมากจะต้องให้ความสนใจหรือกระทำตามกฎเกณฑ์ของวิชาโหราศาสตร์ เพราะมีความเชื่อว่ากฎเกณฑ์เหล่านั้นจะก่อให้เกิดผลดีและเป็นมงคลแก่ผู้กระทำการนั้น ๆ จึงอาจจะกล่าวได้ว่า โหราศาสตร์กับสังคมไทยกับคนไทยนั้น ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้

   ความไม่แน่ใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ไม่มีความรู้สึกว่ามีความมั่นคงในชีวิตและความเป็นอยู่ หรือการกระทำดำเนินชีวิตใด ๆ ก็ตามที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนไทยทุกคนคิดว่ามีทางที่จะช่วยกำลังใจและความรู้สึกนึกคิดหรือความเชื่อมั่นในตนเองได้โดยอาศัยวิชาโหราศาสตร์หรือ “การดูหมอ” เป็นทางออกและเป็นความหวังอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็ในแง่ของจิตวิทยา”  (ยอดธง ทับทิวไม้.  253458 – 59)  

      

 มานพ นักการเรียน เขียนไว้ในบทนำเอกสารประกอบการสอนของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย เรื่อง พระพุทธศาสนากับความเชื่อเรื่องโหราศาสตร์ ว่า  “โหราศาสตร์กับสังคมไทยนั้น แยกจากกันไม่ออก ในสมัยโบราณ การดำเนินชีวิตของบุคคลหรือเหตุการณ์บ้านเมือง โหราศาสตร์จะนำมาใช้อย่างเข้มงวดกวดขัน โดยแสดงออกในรูปของพิธีกรรม ความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณี ตั้งแต่การเกิด การมีคู่ครอง การทำบุญอายุ การตาย การทำศึกสงคราม การวางศิลาฤกษ์ฝังเสาหลักเมือง

แต่ในปัจจุบัน มนุษย์มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุดที่จะพรรณนาได้ โหราศาสตร์อาจจะไม่จำเป็นเสียแล้วก็ได้ แต่เป็นเรื่องที่ผิดคาด ยิ่งโลกเจริญมากขึ้นเท่าใด วิถีชีวิตของมนุษย์ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นทวีคูณ มีปัญหา ความเครียดถาโถมโหมกระหน่ำเข้ามานับไม่ถ้วน ถึงอย่างไรเสียก็จำต้องพึ่งโหราศาสตร์ จากงานวิจัยของ พิไลรัตน์ รุจิวณิชย์กุล พบว่า ผู้ที่ใช้บริการตรวจดวงชะตาราศีจากโหราจารย์หรือหมอดูเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ฐานะทางเศรษฐกิจระดับปานกลาง การศึกษาระดับปริญญาตรีมากที่สุด เรื่องที่นิยมถามกันมากมี 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องความรักรวมถึงปัญหาครอบครัว เรื่องการงาน เรื่องการศึกษา และเรื่องการเจ็บป่วย” (มานพ นักการเรียน.  2554: ออนไลน์)


จากบทนำงานวิจัยเรื่อง การศึกษาเชิงวิเคราะห์ทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทที่มีต่อโหราศาสตร์ในยุคปัจจุบัน ของบัณฑิตวิทยาลัยมหามกุฏมหาราชวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์กับสังคมไทยไว้ว่า

“การที่หนังสือพิมพ์รายวันและนิตยสารมีคอลัมน์เกี่ยวกับโหราศาสตร์และข่าวการทำนายดวงเมืองหรือดวงบุคคลสำคัญได้รับความสนใจ มีการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง พอจะสะท้อนให้เห็นว่าการทำนายทายทักเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย กิจกรรมที่สำคัญต่อชีวิตของคนไทยล้วนเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ เช่น การหาฤกษ์แต่งงาน การกำหนดวันเปิดกิจการใหม่ หรือการตัดสินใจปัญหาสำคัญ เป็นต้น บุคคลหลากหลายอาชีพทุกระดับชั้น ทุกเพศทุกวัย จากชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ชนชั้นกลาง จนถึงผู้นำระดับประเทศ จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าโหราศาสตร์มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบัน โดยจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แม้เราจะไม่เชื่อ คนรอบข้างเราก็อาจจะเชื่อ หรืออาจกล่าวได้ว่าการทำนายทายทักเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดพลวัตในสังคมไทย” (จักรเทพ รำพึงกิจ. 2551: 1 – 2)        

สังคมไทยมีความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์และพระพุทธศาสนาผสมกลมกลืนกันมาช้านาน แม้ว่าในเบื้องต้นการศึกษาโหราศาสตร์และผู้มีความรู้ทางโหราศาสตร์จะอยู่ในแวดวงเจ้านายชั้นสูงตลอดจนบรรดาข้าราชบริพารหรือพระสงฆ์องค์เจ้าที่อยู่ใกล้ชิดราชสำนัก แต่ต่อมาก็ได้แพร่หลายมาสู่สามัญชนชาวบ้านทั่วไปโดยผ่านทางพระสงฆ์องค์เจ้าและลูกหลานทายาทโหรเก่า ซึ่งที่พอจะเอ่ยถึงได้ในยุคหลังใกล้เคียงกับยุคปัจจุบันนี้ก็อย่างเช่น อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เป็นต้น ในสมัยนี้การศึกษาวิชาโหราศาสตร์เป็นไปอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง ประกอบกับความรู้ทางวิชาการที่มีมากขึ้น ทำให้การศึกษาและการพยากรณ์เป็นไปอย่างมีหลักการและมีความถูกต้องมากขึ้น  จึงเป็นที่สนใจของคนทั่วไป 

 
สรุปได้ว่า โหราศาสตร์กับสังคมไทยหรือกับคนไทยนั้นเสมือนเป็นของคู่กันไม่สามารถแยกจากกันได้ ไม่ว่าแต่ไหนแต่ไรมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากความเชื่อทางด้านจิตวิทยาแล้วโหราศาสตร์ยังกลายเป็นทั้งประเพณีและวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกในจิตใจของคนไทยเรา เช่น การถือฤกษ์ยามในประเพณีขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีบวช การเปิดอาคารร้านค้าสถานที่ต่าง ๆ หรือวัฒนธรรมการวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างสถานที่สำคัญ เป็นต้น พิธีการเหล่านี้ต้องหาฤกษ์หายามหรือเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ทั้งสิ้น
            

 
 

            






ขอบคุณที่มา : https://sites.google.com/site/buddhistastro/lesson-p-1-horasastr-beuxng-tn/horasastr

 


#By_คุณยายกลิ่นโสม 100
#อ่านดวงไทยสบายสบายตามสไตล์คุณยายกลิ่นโสม105
#ฟรี!!เรียนดูดวงฟรี!!เรียนโหราศาสตร์ไทยฟรีที่บ้านคุณยายกลิ่นโสม 
#โหราศาสตร์ไทยเรียนด้วยตนเองฉบับคุณยายกลิ่นโสม ได้ที่ #htthttp://www.baankhunyai.com 105322
  ------------------------------------
  สนใจดูดวงติดต่อ: baankunyai 102 100450
          
Visitors: 185,856