หน่วยราชการโหราศาสตร์-ดวงเมืองของสยาม


   

“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

หน่วยราชการโหราศาสตร์-ดวงเมืองของสยาม มีตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา ไฉนจึงเลิก

เมืองที่มีดวงนั้นต้องเป็นเมืองที่มีผู้สร้างขึ้น มิใช่เกิดขึ้นเองอย่างตลาดนัด ได้แก่สถานที่ซึ่งผู้คนเข้ามาอยู่จนกลายเป็นหมู่บ้าน เมื่อประชากรมากขึ้นเรียกว่าเมือง เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมค้นคว้าหาประวัติศาสตร์ไม่ได้ ว่าเป็นเมืองมาตั้งแต่เมื่อไร การดูดวงเมืองหรือโชคชะตาเมืองชนิดนี้ มักอาศัยเหตุการณ์ในอดีตหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้นำของเมือง

มีหลักฐานว่าการสร้างกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอู่ทองนั้น มีการกำหนดวันเดือนปีและสถานที่ ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการทำสงครามกันหลายสิบครั้ง และมีการนำโหราศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะทุกเมืองล้วนแต่มี “ดวง” และต่างก็รู้ดวงซึ่งกันและกัน ทั้งๆ ที่โลกสมัยนั้นยังลึกลับและกว้างขวางกว่าสมัยนี้มากนัก

เมืองไทยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีหน่วยราชการที่เกี่ยวกับโหราศาสตร์ ซึ่งปรากฏตามพงศาวดารว่ามีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้วมายุบเลิกเสียในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะประเทศคู่สงครามของเราทำการกระจายเสียงภาคภาษาไทย บางสถานีของข้าศึกนั้นมีรายการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเรา ซึ่งบางรายการก็ว่าเป็นลำตัดอย่างถึงพริกถึงขิง และในบรรดานักจัดรายการวิทยุเหล่านั้น เป็นนักการเมืองที่ไม่ถูกเส้นกับรัฐบาล แถมยังเป็นนักโหราศาสตร์มีชื่อเสียงเสียด้วย

ถ้าท่านโหรเหล่านั้นทำนายทายทักดวงเมืองของเราว่าจะแย่อย่างนั้นอย่างนี้ อาจสร้างความพัลวันปั่นป่วนให้แก่พวกเราไม่น้อย รัฐบาลชุดสงครามจึงประกาศเลิกใช้ฤกษ์ยามต่างๆ ของรัฐบาล เช่น จัดการสมรสหมู่ให้กับประชาชนก็ไม่อาศัยฤกษ์ยามอะไรใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ว่ากันว่ารัฐบาลชุดสงคราม ก็มีญาติมิตรเป็นโหรอยู่เหมือนกัน จึงอาจมีการกระซิบกันถึงดวงเมืองว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป สมัยนั้นเมืองไทยมีสถานีวิทยุแห่งเดียวซึ่งเป็นของกรมโฆษณาการ แต่บรรดาผู้มีอันจะกินต่างๆ ก็มีเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้น รับฟังการกระจายเสียงจากต่างประเทศซึ่งเป็นศัตรูได้ สถานีวิทยุของข้าศึกก็ส่งกระจายเสียงอยู่ที่อินเดียและออสเตรเลียนี่เอง รายการเหล่านี้ทำให้รัฐบาลของเราโมโหได้เป็นอันมาก รัฐบาลจึงห้ามรับฟังวิทยุคลื่นสั้น โดยให้นำเครื่องรับวิทยุไปให้กรมโฆษณาการแก้ไขจนรับจากต่างประเทศไม่ได้

การนำโหราศาสตร์มาใช้ในสงครามมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ครั้งหนึ่งเกิดกบฏในเมืองสวรรคโลก สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระมหากรุณาแก่หัวหน้ากบฏเพราะเห็นว่าเป็นข้าหลวงเดิม ให้ออกมาถวายบังคมจะไม่ทรงลงโทษ แต่หัวหน้ากบฏไม่ยอมยังต่อสู้อย่างแข็งแรง ทหารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้าตีทางประตูทั้ง 3 ด้านหลายชั่วโมงก็ไม่แตก

ทรงพระราชดำรัสถามโหรประจำกองทัพว่า จะได้เมืองสวรรคโลกหรือไม่ ท่านโหรกราบบังคมทูลว่าจะได้ แต่ถ้าเข้าตีทางประตูเมืองทั้งสามนี้จะได้โดยยาก เว้นแต่จะเข้าตีทางประตูดอนแหลมจะได้โดยง่าย เพราะประตูนั้นอยู่ในทิศที่เป็นอริแก่เมือง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงจัดกองทัพเล็กๆ ไปตีประตูดอนแหลมตามคำทำนายของโหร ส่วนการเข้าตีทั้ง 3 ประตูยังดำเนินต่อไป ไม่ช้าประตูดอนแหลมก็แตกตามคำทำนาย


ที่มา : https://www.silpa-mag.com/history/article_46609

มายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากส่วนหนึ่งของบทความ “เมืองที่มีดวง” โดย หลวงเมือง ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2560

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปของ คุณสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ (29 พฤษภาคม 2471-10 มีนาคม 2563) เจ้าของนามปากกา “หมอทรัพย์ สวนพลู” คอลัมน์ “เดินตามดวง” ในมติชนสุดสัปดาห์ และนามปากกา “หลวงเมือง” คอลัมน์ “ทรงจำรำลึก” และ “ความทรงจำ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มา ณ ที่นี้

#คุณยายกลิ่นโสม
#ยายกลิ่นเล่าเรื่องจากเรือนดาว
#โหราศาสตร์ไทยเรียนง่ายกว่าที่คิด
#เรียนโหราศาสตร์ไทยสไตล์คุณยายกลิ่นฯ
#อ่านดวงไทยสบายสบาย ตามสไตล์คุณยายกลิ่นโสม
#โหราศาสตร์ไทยเรียนด้วยตนเองฉบับคุณยายกลิ่นโสม   
#เรียนโหราศาสตร์ไทยฟรี ที่เวปนี้นะ:: htthttp://www.baankhunyai.com
  --------------------  
 
Visitors: 171,336