เก็บเกร็ด จากอาจารย์ประทีป

     
 
(ตัดมาจาก การบรรยายเรื่อง “ผูกดวงโดยไม่ต้องใช้ปฏิทินโหร” โดย อ.ประทีป อัครา บรรยายที่สมาคมโหรฯ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๒๓) 
 
         หลักครู   ได้แก่ คำที่ผมนำมาอ้างว่า “จงพิจารณาในท่าทาย   ระมัดหมายให้เหมาะแก่รูปคน”   จุดสำคัญอยู่ที่คำว่า รูป   กรุณาอย่าเข้าใจผิดว่า หมายถึงรูปหล่อ รูปสวย หรือรูปขี้ริ้ว หรือแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาแพงอันแสดงถึงฐานะร่ำรวย หรือแต่งตัวซอมซ่ออันหมายถึงฐานะยากจน  เพราะถ้าดูที่ตรงนี้แล้ว จะทำให้เกิดอุปาทานและความยึดมั่นผิดๆได้ เช่น เมื่อเห็นคนแต่งตัวดีด้วยเสื้อผ้าราคาแพง ก็เข้าใจว่าต้องร่ำรวยเป็นเศรษฐีเป็นเสี่ย ทั้งๆที่ความจริงเขายังผ่อนส่งค่าเครื่องแต่งตัวชุดนี้ยังไม่หมดเลย อุปาทานมักจะเป็นตัวการสำคัญที่ฉุดลากไปหาความเข้าใจผิดได้เสมอ

          รูป   ในที่นี้ หมายถึง   รูปการณ์ อย่างหนึ่ง และ   รูปลักษณ์ อย่างหนึ่ง
          รูปการณ์   หมายถึง สภาวะหรือสถานะของเจ้าชะตา ซึ่งได้อธิบายไว้ในตัวอย่างเรื่องเด็กคนใช้หนีออกจากบ้าน ในตอนที่กล่าวถึง พุธ – กัมมะ แล้วว่า   ทั้งๆที่อาจแปลว่า ไปทำงานกับญาติก็ได้ แต่ไม่แปล เพราะรูปการณ์ไม่เหมาะที่จะแปลอย่างนั้น เพราะญาติของเด็กไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ไปช่วยทำงาน

          หรือจะดูดวงพระ เมื่อเห็นดาวปัตนิมีอิทธิพลร่วมกับคู่มิตร รูปการณ์ก็ไม่อำนวยให้ไปทายว่า พระท่านจะได้คู่ หรือพระจะแต่งงาน     ท่าทาย และ รูปการณ์ ในกรณีเช่นนี้จะทายได้เพียงแค่จะมีญาติโยมที่เป็นสีกาเกิดความศรัทธาเลื่อมใสมาหาท่านมากขึ้นเท่านั้น
 
          รูปลักษณ์     สำหรับข้อนี้ ใคร่ขอนำเรื่องในวงการพยากรณ์ที่ใกล้เคียงกันมาประกอบสักเล็กน้อย เพราะคิดว่า จะมีส่วนช่วยให้เกิดความเข้าใจได้ดีขึ้น

          ในตอนที่ผมคิดย่อปฏิทิน ๑๐๐ ปี เทียบวันเดือนปี ๓ ภาษาให้เหลือขนาดเล็กพอจะพกใส่กระเป๋าเสื้อติดตัวไปใช้ได้โดยสะดวกสำเร็จนั้น ก็กำหนดการจะจัดพิมพ์ออกเผยแพร่ แต่เพื่อให้งานนี้ถูกต้องสมบูรณ์ จึงไปหาความรู้จากซินแสจีนในเรื่องหลักเกณฑ์ปฏิทินจีน และเรียนหนังสือจีนในส่วนที่ใช้ในปฏิทินจีน เพื่อนำมาใช้ในการทดสอบค้นคว้า

          ในระหว่างศึกษาเรื่องปฏิทินอยู่ ก็มีโอกาสได้ความรู้ในเรื่องพยากรณ์ทางจีนไปด้วย ผมเคยถามซินแสเรื่องการพยากรณ์ลักษณะของจีนที่เรียกว่า โหงวเฮ้ง ว่า เพราะเหตุใดบางคนลักษณะหน้าดี ตามตำราบอกว่าจะร่ำรวย แต่เจ้าชะตากลับมีฐานะย่ำแย่   แต่บางคนมีลักษณะที่ตำราบอกว่าอาภัพ กลับร่ำรวยเป็นเศรษฐี

           ซินแสอธิบายให้ฟังว่า   หลักการพยากรณ์นั้นมีต้นมีปลาย จะดูแต่ต้นไม่ดูปลาย หรือ ดูแต่ปลายไม่ดูต้น ก็จะไม่ครบสมบูรณ์ ทำให้ผิดพลาดได้ เหมือนการดูต้นไม้ จะดูเพียงว่าพันธุ์ดีอย่างเดียวแล้วทายว่าจะมีผลเยอะไม่ได้ ต้องดูดินที่จะปลูกด้วย    เพราะต้นไม้บางชนิดชอบดินแห้ง เอาไปปลูกในที่น้ำมากๆ รากก็เน่า   ต้นไม้บางชนิดชอบน้ำ เอาไปปลูกในที่แห้งร้อนจัดก็เฉาตาย

          การดู โหงวเฮ้ง ต้องดู โป๊ยยี่ ด้วย   เช่น ลักษณะใบหน้าดีโดยต้องมีน้ำช่วย ถ้าวันเดือนปีเกิดมีธาตุน้ำสมบูรณ์ก็ดีแน่   ถ้าขาดธาตุน้ำหรือแถมมีธาตุที่เป็นศัตรูแรง เช่น ธาตุไฟ ก็ไม่ดี     คนที่ลักษณะไม่ดีก็เหมือนกับขี้ หากเอาไปใช้เป็นปุ๋ยก็มีประโยชน์ คือเขาเกิดในวันเดือนปีที่ส่งเสริมลักษณะนั้นก็เจริญได้
 
          ลัคนา ในหลักพยากรณ์ของโหรไทย  ถ้าพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่ามีหลักเกณฑ์แบบเดียวกับหลักของจีนที่กล่าวมา หากท่านสังเกตตำราเก่าๆ จะพบว่า ลัคนา ในสมัยก่อน ล้วนแต่เขียนเป็น ลักษณา ทั้งสิ้น   จนกระทั่งรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงพบว่าใช้ ลักขณา

          แต่ ลักษณา หรือ ลักขณา ก็ยังไม่ทิ้งความหมายว่า ลักษณะ อยู่นั่นเอง   ซึ่งเป็นการชี้บอกว่า โหรสมัยก่อนได้อาศัย รูปลักษณ์ เป็นหลักกำหนดคุณสมบัติของดวงดาวในดวงชะตาด้วยเช่นเดียวกัน

          ผู้ที่ไม่เคยเฉลียวใจคิดถึงเรื่องนี้ น่าจะลองสังเกตดู แล้วจะพบเงื่อนงำความผิดพลาดของตำราที่หาสาเหตุไม่พบมาก่อน ได้บ้าง เช่น ดวงชะตาบางดวงมีอังคารเข้มแข็ง แต่เจ้าชะตากลับเป็นคนอ่อนไม่เอาไหน ผิดจากที่ตำราว่าไว้  ซึ่งหลายๆท่านที่ไม่รู้สาเหตุ เลยพาลโยนความผิดไปให้ลัคนา ทำการย้ายลัคนากันเสียก็มาก

           ผมจึงอยากเสนอให้ท่านลองรับข้ออุปมาของซินแสที่กล่าวข้างต้นไว้พิจารณาว่า ดาวเหมือนกับต้นไม้ ถ้าดาวอยู่ในตำแหน่งดี ทรงคุณเป็นอุจจ์เป็นเกษตร ก็เหมือนกับต้นไม้พันธุ์ดี ควรจะดูพื้นดินที่ปลูกต้นไม้นั้นอันได้แก่ลักษณะประกอบด้วย   ถ้าดาวดีลักษณะก็ดีเหมาะสมกัน ก็เหมือนไม้พันธุ์ดีปลูกในพื้นดินที่เหมาะย่อมจะเจริญงอกงามให้ดอกผลดี

          ดวงชะตาที่มีดาวพฤหัสอยู่ในตำแหน่งดี บริเวณหน้าผากของเจ้าชะตา ซึ่งเป็นอาณาเขตของดาวพฤหัสจะต้องดีเหมาะสมด้วย   พฤหัสจึงจะมีอิทธิพลให้คุณอย่างเต็มที่

          ถ้าอังคารดี ส่วนของขากรรไกรล่างจะต้องมีลักษณะดี เหมาะสมกับความหมายของดาวในดวงด้วย จึงจะดีสมบูรณ์

          ที่ใช้คำว่า ลักษณะดีเหมาะสม ก็เพราะตามธรรมดาเรามักแยกคุณลักษณะความดี ออกเป็น ๒ ทาง คือ ดี ทางทฤษฎีอย่างหนึ่ง   และ   ดี ทางปฏิบัติอย่างหนึ่ง     อย่างเช่น ดาวพุธ ตำราให้ความหมายไว้ว่า คิดหรือพูด มีบางรายที่เก่งทั้งคิดทั้งเขียนทั้งพูด   แต่บางรายเขียนเก่งพูดไม่เก่ง   บางรายพูดเก่งเขียนไม่เก่ง   เป็นต้น

          เรื่องนี้อาจเป็นของใหม่ในวงการโหรสมัยปัจจุบัน   เพราะสังเกตว่าไม่มีกล่าวอยู่ในตำราโหราศาสตร์สมัยนี้ แต่ไม่ใช่ของใหม่ในวงการโหรสมัยก่อนแน่นอน   ที่นำมาเสนอไว้เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจบ้างไม่มากก็น้อย


ขอบคุณที่มา : https://sunwasa.wordpress.com
#คุณยายกลิ่นโสม
#คุณยายเล่าเรื่องจากเรือนดาว
#โหราศาสตร์ไทยเรียนง่ายกว่าที่คิด
#เรียนโหราศาสตร์ไทยสไตล์คุณยายกลิ่นฯ
#อ่านดวงไทยสบายสบาย ตามสไตล์คุณยายกลิ่นโสม
#โหราศาสตร์ไทยเรียนด้วยตนเองฉบับคุณยายกลิ่นโสม   
#เรียนโหราศาสตร์ไทยฟรี ที่เวปนี้นะ:: htthttp://www.baankhunyai.com
  --------------------  
 
Visitors: 171,127