ดาราศาสตร์สู่โหราศาสตร์ในราชสำนัก

    ดาราศาสตร์สู่โหราศาสตร์ในราชสำนัก

  
ดาราศาสตร์สู่โหราศาสตร์ในราชสำนัก
 
ดาราศาสตร์ คือรูปธรรม โหราศาสตร์ คือนามธรรม
ดาราศาสตร์ คือการดูดาว แต่โหราศาสตร์ คือวิธีการใช้ดาว
 
นี่คือคำนิยามสั้นๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างดาราสตร์และโหราศาสตร์ ที่อาจารย์อารี สวัสดี นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทยได้กล่าวไว้ อาจารย์อารี สวัสดี ในวัย ๖๙ ปีนี้ นอกจากจะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดาราศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงปัจจุบัน ท่านยังเป็นประธานกรรมการมูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ อดีตบรรณาธิการพยากรณ์สาร เป็นวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ในการบรรยายทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือดาราศาสตร์ในราชสำนักอีกด้วย ท่านได้ให้ความกรุณาเล่าถึงดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ในราชสำนักให้เราได้ฟังแบบย่อๆ ซึ่งพอจะสรุปใจความได้ดังนี้
 

 


ดาราศาสตร์โบราณ
วิชาดาราศาสตร์โบราณ เป็นวิชาเกี่ยวข้องกับจักรวาล ท้องฟ้า ดวงดาว และวันเวลา รวมเรียกว่า โชติศาสตร์ หมายถึงศาสตร์ว่าด้วยดวงดาว คำว่าโหราศาสตร์เป็นคำที่ใช้ขึ้นภายหลัง มาจาก อโห-ราตฺร หมายถึง วันและคืน เนื้อหาของดาราศาสตร์โบราณ เน้นหนักไปที่ดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ ที่โคจรไปบนท้องฟ้าอย่างสม่ำเสมอ เช่น ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกทุกวัน จึงสามารถกำหนดเป็นเวลา ๑ วัน ดวงจันทร์มีมืดสว่างทุกเดือน กำหนดเป็นเวลา ๑ เดือน ดาวพฤหัสบดี โคจรย้ายราศีทุกปี กำหนดเป็นเวลา ๑ ปี ซึ่งสัมพันธ์กับวงรอบฤดูกาลของโลก หรือความสัมพันธ์ของดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ที่โคจรมาพบกันทุกๆ ๒๐ ปี จึงนำมากำหนดเป็นปฏิทินจีน (ลักจับกะจือ) อันเป็นที่มาของปฏิทินแม่กาบใจของล้านนาและนามปีที่นักษัตรใช้อยู่ในปัจจุบัน ผู้ศึกษาวิชาดาราศาสตร์ จึงเป็นบุคคลผู้มีความสามารถพิเศษ สามารถสอบค้นเหตุการณ์ในอดีต และสามารถกำหนดเวลาปรากฏการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ การบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลาต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยเวลา จึงจำเป็นและทำกันมาอย่างต่อเนื่อง


ร่องรอยของดาราศาสตร์โบราณแห่งชมพูทวีป
ได้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์พระเวท ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพระพุทธกาล และยังมีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกในสมัยพุทธกาล แนวคิดหลักของดาราศาสตร์มีปรากฏในหลายพระสูตรเช่นกัน ซึ่งโดยมากกล่าวถึงหัวข้อแต่ไม่ลงรายละเอียด เพราะถือว่าเป็นเดรัจฉานวิชาประเภทหนึ่งที่ไม่เกื้อหนุนต่อพระนิพพาน รวมถึงพยากรณ์ศาสตร์อันเกี่ยวเนื่องด้วย ตัวอย่างเช่น การโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว การเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา อุกกาบาต ดาวหาง แผ่นดินไหว เป็นต้น แต่มีพุทธานุญาตให้เรียนเรื่องทางนักษัตรและทิศเพื่อป้องกันโจรภัย การแบ่งส่วนของกลางวันเป็น ๖ ส่วน การกำหนดนักษัตรดาวฤกษ์สำหรับการเข้าพรรษา การนับอายุเพื่อการอุปสมบทของพระภิกษุ เป็นต้น ส่วนในระบบวรรณะ พระมหากษัตริย์ผู้บริหารราชการแผ่นดิน ต้องศึกษาศาสตร์ ๑๘ ประการ ในคัมภีร์ธรรมนิติ รวมถึงความรู้ในเรื่องระบบเวลาจากพราหมณ์ด้วยเช่นกัน



ร่องรอยดาราศาสตร์ในราชสำนัก
ภูมิปัญญาทางดาราศาสตร์ของคนไทยในอดีตที่ผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือพระมหากษัตริย์ ในฐานะผู้ทรงใช้ดาราศาสตร์แบบดั้งเดิมและในฐานะองค์อุปถัมภ์ดาราศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งปรากฏหลักฐานเด่นชัดตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัยสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคก่อนสมัยสุโขทัยนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากพราหมณ์และพระภิกษุในพุทธศาสนา ปรากฏอยู่ในคัมภีร์โลกศาสตร์ ซึ่งแต่งและบันทึกขึ้นระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๖–๒๔ ประกอบด้วย โลกบัญญัติ อรุณวดีสูตร ไตรภูมิพระร่วง จันทสุริยคติทีปนี โลกสัณฐานโชตรตนคัญฐี ฯลฯ ซึ่งคัมภีร์เหล่านี้อย่างเช่น โลกสัณฐานโชตรตนคัญฐีนั้น ว่าด้วยเรื่องการก่อตัวและการเสื่อมสลายของจักรวาล ภูเขาหิมพานต์ อธิบายเรื่องอสงไขย และยังกล่าวถึงการโคจรของพระจันทร์และพระอาทิตย์ในทวีปทั้ง ๔ ทำให้มีเวลาไม่ตรงกัน เรื่องของพระจันทร์ และพระอาทิตย์ ที่โคจรไปใน ๑๒ ราศี ทำให้เกิดเป็น วัน เดือน ปี และฤดูต่างๆ เรื่องของกลุ่มดาวนักษัตร ๒๗ กลุ่มที่โคจรไปในจักรราศี เป็นต้น

ศาสตราจารย์ John Christopher Eade แห่งวิทยาลัยเอเซียและแปซิฟิก ได้ค้นพบหลักฐานในประเทศไทย พบศิลาจารึกที่มีข้อมูลดวงชาตา อันเป็นระบบดาราศาสตร์โบราณในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๔ มากกว่า ๑๐๐ หลัก มาตรวัดเวลาในการแบ่งส่วนต่างๆ ของวัน วิธีวัดความยาวของเงาแดด ตั้งแต่สมัยโบราณ ดังปรากฏใน “จารึกวัดพระยืน” ว่า ปีระกา เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ วันไทย วันกัดเรา วันเม็งพารศุกร์ ดูฉายาเมื่อตะวันขึ้น ๑๕ ฝ่าตีนได้จิตรฤก ซึ่งเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ใช้อยู่ทั่วโลก ดังเช่นที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก เมื่อเสร็จการอุปสมบทแล้ว พึงทำตามพุทธานุญาตต่อไป คือวัดเงาแดด ในทันที เพื่อจะได้ตรวจสอบความอาวุโสของภิกษุที่อุปสมบทในวันเดียวกัน

ในพงศาวดารล้านนา ปรากฏหลักฐานว่าพญามังราย เจ้าผู้ครองหิรัญนครเงินยาง ได้ทอดพระเนตรชัยภูมิระหว่างดอยสุเทพด้านตะวันตกกับแม่น้ำปิงด้านตะวันออก ทรงพอพระทัย จึงเชิญพระสหายร่วมสำนัก คือพ่อขุนรามคำแหงสุโขทัย (พญาร่วง) และพ่อขุนงำเมือง (พญางำเมือง) แห่งเมืองพะเยา มาร่วมปรึกษาหารือการสร้างเมืองใหม่ ให้นามว่าเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ปรากฏหลักฐานเป็นศิลาจารึกที่วัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่ ในศิลาจารึกปรากฏภาพดวงชาตา พร้อมด้วยศักราชมาสเกณฑ์ อวมาน หรคุณ กัมมัชพล อุจพล ฤกษ์ นาทีฤกษ์ และนาทีดิถี ซึ่งเป็นเนื้อหาของคัมภีร์สุริยยาตร์อันเป็นคัมภีร์หลักวิชาดาราศาสตร์โบราณ เมื่อทำการคำนวณแล้วตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ ๑๘๓๙ ในระบบปฏิทินจูเลียน จารึกหลักนี้นับเป็นจารึกสำคัญที่ปรากฏข้อมูลดาราศาสตร์โบราณในประเทศไทย

สำหรับราชวงศ์สุโขทัย มีจารึกวัดป่ามะม่วงภาษาเขมร ด้านที่ ๑ ได้กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๑ หรือ “พญาลิไท” ว่าพระองค์เป็นผู้สนพระทัยและมีความสามารถในวิชาดาราศาสตร์

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการคำนวณตำแหน่งดาวในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งรวบรวมขึ้นจากจดหมายเหตุของโหร ที่จดบันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้ในปูมโหรเป็นรายปี นำมาประมวลเข้ากับจดหมายเหตุในหอหนังสือ และพระราชศาวดารเก่าตั้งแต่กรุงศรีอยุธยารวมกัน ความว่า “ศักราช ๙๖๖ มะโรงศก พ.ศ. ๒๑๔๗ วันพฤหัสบดีเดือน ๒ แรม ๖ ค่ำ เสด็จพยุหยาตราจากป่าโมก โดยทางชลมารค และฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช ตั้งทัพชัยตำบลพระหล่อ วันนั้นเป็นวันอุนและเป็นวันสงกรานต์พระเสาร์ไปราศีธนูเป็นองศาหนึ่ง ครั้งนั้นเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองหลวงตำบลทุ่งดอนแก้ว” ข้อมูลทางดาราศาสตร์โบราณที่ปรากฏคือสงกรานต์พระเสาร์หมายถึงดาวเสาร์โคจรย้ายจากราศีกันย์ไปราศีตุลย์คือการย้ายราศีของดาวเคราะห์ สอบทานแล้วเป็นการคำนวณตำแหน่งดาวเคราะห์ด้วยคัมภีร์มานัตต์ ซึ่งโหรในราชสำนักสยามใช้ควบคู่กับคัมภีร์สุริยยาตร์ในการจัดทำปฏิทินโหร” ในสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฮอลันดาและได้รับเครื่องราชบรรณาการเป็นกล้องดูดาว

ปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับพระราชพิธีลบศักราช ซึ่งมีชื่อของเลขเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณตำแหน่งดาวด้วยคัมภีร์สุริยยาตร์และคัมภีร์สารัมภ์ ในคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติพระสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททองของพระมหาราชครูมเหธร ซึ่งมีการเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่นั้นเพียงรัชกาลเดียว กาลล่วงมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็กลับไปใช้ปีนักษัตรตามลำดับเดิม

ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดการศึกษาดาราศาสตร์สมัยใหม่ครั้งแรกในกรุงสยามโดยในช่วงปลายรัชสมัย พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งกรุงฝรั่งเศส ได้ส่งเมอร์ซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ เดินทางเข้าสู่สยามในฐานะเอกอัครราชทูต พร้อมด้วยคณะบาทหลวงเจซูอิต เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงสยาม แต่ประการสำคัญคือการขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทำแผนที่โลก จึงได้มีการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับประเทศสยามทางด้านต่างๆ ได้ถึง ๒ เล่มสมุดฝรั่ง หนึ่งในนั้นคือคัมภีร์สุริยยาตร์ซึ่งเป็นตำราดาราศาสตร์ของสยาม โดย ลาลูแบร์ มอบให้กับนักดาราศาสตร์หลวงแห่งรัฐสภาวิทยาศาสตร์ ฝรั่งเศส ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสอังกฤษและแปลกลับมาเป็นภาษาไทยตามลำดับ ขั้นตอนและวิธีการคำนวณไม่แตกต่างกับคัมภีร์ที่ใช้ในการคำนวณปฏิทินโหรในปัจจุบัน

 ลา ลูแบร์ ได้เล่าว่าชาวสยามโดยทั่วไปไม่มีความรู้ในวิชาเรขาคณิตเลย และวิชากลศาสตร์ก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน เพราะเขาอาจผ่านมันไปเสียได้โดยไม่ต้องใช้ และวิชาดาราศาสตร์เท่าที่พวกเขาศึกษากันก็เพียงเพื่อว่าอาจใช้ในเชิงพยากรณ์ได้เท่านั้น เขามีความรู้ทางภาคปฏิบัติเล็กน้อยและไม่พยายามที่จะเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงเหตุผล แต่ใช้ในการผูกดวงชาตาบุคคลและในการทำปฏิทินโหร ดูเหมือนเขาจะได้ปฏิรูปปฏิทินของเขา ๒ ครั้ง โดยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำให้ตารางราศี ดาวนพเคราะห์สถิตมีความบริบูรณ์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งได้กำหนดศักราชขึ้น ๒ อย่างตามอำเภอใจ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าบังเอิญเข้ากันได้สนิทไม่ค่อยพลาดจากวิธีโครงโคจรของดาวนพเคราะห์ในปฏิทิน เมื่อได้ตั้งโยกเกณฑ์ขึ้นโดยเลขจำนวนหนึ่งแล้ว ก็ใช้วิธีบวกลบคูณหารเพื่อแจ้งไว้เป็นรหัสว่าในปีต่อไป ดาวพระเคราะห์จะสถิตอยู่ในราศีใด เกือบจะใกล้เคียงกับเราที่ตรวจหาจำนวนวันทางสุริยคติของแต่ละปีได้โดยการบวกเกณฑ์ ๑๑ เท่ากับจำนวนวันทางจันทรคติของปีก่อนฉะนั้น

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงประทับที่เมืองละโว้ (ลพบุรี) และเสด็จฯ ทอดพระเนตรปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่พระที่นั่งไกรสรสีหราชหรือพระที่นั่งเย็น ถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกทอดพระเนตรจันทรุปราคาในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ โดยเป็นการสังเกตการณ์เพื่อหาพิกัดทางภูมิศาสตร์ของลพบุรีเทียบกับกรุงปารีส และครั้งต่อมาคือทอดพระเนตรสุริยุปราคาบางส่วนวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๒๓๑ โดยทั้ง ๒ ครั้ง มีคณะบาทหลวงเจซูอิต คอยถวายคำบรรยาย และมีออกญาวิชาเยนทร์ ทำหน้าที่ล่าม ทรงให้สร้างวัดสันเปาโลที่มีหอดูดาวริมคูเมืองชั้นในด้านทิศตะวันออกของพระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์พระราชทานให้แก่คณะบาทหลวงเจซูอิต เพื่อการค้นคว้าทางดาราศาสตร์


           
เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นอัจฉริยะกษัตริย์ที่มีพระปรีชาญาณ ทรงศึกษาวิชาดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง ทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทยผู้ยิ่งใหญ่ ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำได้ด้วยพระองค์เอง ล่วงหน้าถึง ๒ ปี ว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยเส้นศูนย์ของสุริยุปราคาจะอยู่ระหว่างแลตติจูด ๑๑ องศา ๓๘ ลิปดาเหนือ กับลองติจูด ๙๙ องศา ๓๙ ลิปดาตะวันออก บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดจะอยู่ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จากเกาะจานขึ้นมาถึงปราณบุรีและลงไปถึงชุมพร ทั้งยังทรงระบุเวลาที่เงาของดวงจันทร์เริ่มเข้าบดบังดวงอาทิตย์ เวลาที่จับเต็มดวง จนเวลาที่คลายออกทั้งหมด (ซึ่งฝ่ายการคำนวณของกรีนิซนั้น แสดงเฉพาะแนวศูนย์กลางของการพาดผ่านของเงามืดเพียงเส้นเดียว) และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เซอร์แฮรี ออด ผู้สำเร็จราชการสิงคโปร์ของอังกฤษ นายเฮนรี อาลาบาสเตอร์ รักษาการกงสุลอังกฤษประจำสยาม คณะทูตานุทูต นักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส และแขกต่างประเทศ อื่นๆ ที่ทรงเชิญมาร่วมสังเกตการณ์และเป็นประจักษ์พยาน รวมถึงข้าราชบริพารไทย ครั้นพอถึงเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๖ นาที ๒๐ วินาที ของวันอังคารที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สุริยุปราคาก็อุบัติขึ้น ดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังมิดดวงอยู่นานถึง ๖ นาที ๔๖ วินาที ตรงตามวัน เวลา และสถานที่ ทุกประการ อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง และตรงกับการคำนวณด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้ พระองค์ทรงคำนวณได้แม่นยำกว่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสถึง ๒ วินาที ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศสได้มากันเป็นคณะใหญ่ มีกล้องมาด้วยถึง ๕๐ ตัว อันที่จริงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคามาแล้วหลายครั้ง แต่การเชิญชาวต่างชาติมาชมสุริยุปราคาในครั้งนั้น เป็นกุศโลบายให้เห็นว่าสยามประเทศมีความเจริญ และเป็นโอกาสที่ชาวต่างชาติจะได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ทำความคุ้นเคยกับพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการสยามมากขึ้น พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่เลื่องลือขจรขจาย ปวงชนชาวไทยถวายพระราชสมัญญานามทรงเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และเป็นที่มาของการสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ ต.หว้ากอ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่พระองค์

นอกจากวิชาดาราศาสตร์แล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความรู้เรื่องโหราศาสตร์เป็นอย่างดี ทรงคิดแบบวิทยาศาสตร์ไม่ทรงเชื่อตามตำราทั้งหมด และไม่ทรงเชื่อเรื่องดาวหางให้โทษ ทรงสนพระทัยเรื่องดาวหางมาก จนถึงกับทรงสร้างหอดูดาวขึ้น ชื่อว่าหอชัชวาลเวียงชัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ากระโจมแก้ว ที่เขาวัง (พระนครคีรี) จ.เพชรบุรี เมื่อดาวหางจะปรากฏก็โปรดให้ประกาศเตือนประชาชนไม่ให้เชื่ออย่างงมงาย ทรงนิพนธ์ประกาศฉบับแรกแจ้งแก่ประชาชน ชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก” เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๓ พระองค์ทรงเชี่ยวชาญและสามารถคลี่คลายปัญหาสำคัญทางพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับวันข้างขึ้น ข้างแรม วันพระ วันโกน ทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ในหนังสือพระบรมราชาธิบาย เรื่องอธิกมาส อธิกวารและปักขคณาวิธี ทรงแต่ง “ตำราตรีภพ” หรือ “จอมตรีภพ” ซึ่งเป็นตำราโหราศาสตร์ที่มีชื่อมาก เนื่องจากเข้าใจง่ายและมีความแม่นยำ เล่ากันว่า พระองค์ทรงใช้ในการพิเคราะห์ขุนนางหรือบ่าวไพร่อย่างกว้างๆ เรียกชื่อตำรานี้ต่างกันไปว่า “ตำราเศษของพระจอมเกล้าฯ” ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น "พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย” อีกด้วย อีกทั้งโปรดเกล้าฯ ให้โหรคำนวณสอบสวนดูดวงชาตาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นกัน เป็นดวงชาตาวันประสูติ วันตรัสรู้ และปรินิพพาน สำหรับจารึกแผ่นศิลาบรรจุพระเจดีย์โดยใช้คัมภีร์สุริยยาตร์และมานัตต์ในการคำนวณ ให้อัญชนะศักราช ซึ่งพระอัยกาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งไว้ เมื่อศักราชกลียุคได้ ๒๔๑๑ ก่อนพุทธศักราช ๑๔๗ ปี โดยทั้งสามพระชาตานั้นพบในกรอบไม้ปิดทองมีเลข ๕ ในกรอบวงกลมด้านบนเขียนสีเดินเส้นทองบนแผ่นหินอ่อนสีขาว ประดิษฐานอยู่เบื้องขวาขององค์พระพุทธชินราชจำลอง วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม


            
นอกจากนี้ในการศึกษาดาราศาสตร์โบราณนั้นยังมีโจทย์ที่ใช้ในการทดสอบเชาวน์ปัญญาทางคณิตศาสตร์แบบต่างๆ ด้วย เช่น การให้ตีตารางจัตุรัสให้ด้านกว้างและด้านยาวสามช่องให้ใส่เลข ๑–๙ ลงไปในช่องต่างๆ ให้ผลบวกของช่องในแนวดิ่งแนวขวางหรือแนวทะแยงเท่ากัน ซึ่งก็คือโจทย์จัตุรัสกล ถ้าใครทำได้หมายถึงมีเชาวน์ปัญญาดีก็สมควรเรียนเลขคณิตในระดับที่สูงขึ้นต่อไป ซึ่งโหราศาสตร์อันถือว่าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ระดับสูงนั้นมีขั้นตอนการศึกษาแบ่งออกเป็นหลายภาค กล่าวโดยสรุปคือ

ภาคคำนวณ การที่จะเริ่มต้นศึกษาวิชาโหราศาสตร์ก็จะต้องเข้าใจถึงรายละเอียดแห่งจักรราศีและดวงดาวต่างๆ ว่าสถิตอยู่ที่ใดเสียก่อน กรมโหรสมัยก่อนนั้น มีกฎบังคับให้ข้าราชการทุกคนเรียนคัมภีร์สุริยยาตร์ เพราะถือว่าเป็นการทดสอบเชาวน์ปัญญาและต้องท่องจำได้มิคลาดเคลื่อน เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการคำนวณ ถ้าใครคำนวณได้เร็วถูกต้องก็แสดงว่ามีสติปัญญาดี

ภาคพยากรณ์ เมื่อฝึกฝนการคำนวณจนผ่านเกณฑ์กำหนด ผู้ที่มีสติปัญญาดีจะผ่านการคัดเอาไว้เป็นหัวหน้าฝ่ายพยากรณ์ทั้งในระดับบุคคล ได้แก่การพยากรณ์ดวงชาตาบุคคลต่างๆ มีพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ เช่น ดวงพระราชสมภพ เป็นต้น และในระดับมหภาค ได้แก่ การพยากรณ์ดวงสงกรานต์และดวงพระนคร

ภาคบ้านเมือง คือการศึกษาคัมภีร์ต่างๆ ได้แก่ พระนครฐานว่าด้วยการสร้างและการลงเสาหลักพระนคร กำหนดวางฤกษ์สร้างเมืองบริวารต่างๆ การพยากรณ์ดวงเมืองต่างๆ ตามนัยของคัมภีร์จุฬามณีและโสฬสพระนคร การพยากรณ์เกณฑ์ธัญญาหารตามคัมภีร์สงกรานต์ การกำหนดพระฤกษ์จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การกำหนดพระฤกษ์ออกทัพ เป็นต้น
            
ภาคพิธีกรรม ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเลขศาสตร์ นิมิตแห่งลางยาม ดิถี ธาตุ การทำพิธียัญกรรม การสะเดาะเคราะห์เมือง การบรรจุดวงชาตาบูชาพระประทีป การบรรจุดวงชาตาบูชาไม้ค้ำพระศรีมหาโพธิ์ การสร้างและบูชาพระนิพพาน การสร้างและบูชาดวงพิชัยสงคราม การตั้งและผลัดนาม การสวดบูชาเทพยดานพเคราะห์ และการรับ–ส่งดาวเสวยอายุ ฯลฯ
            
ภาคนิมิตและฤกษ์ ต้องเรียนรู้ถึงสภาพและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบนท้องฟ้า ดังที่ชนชาติทางตะวันตกเรียกว่า Phenomenon

การศึกษาดาราศาสตร์โบราณหรือโหราศาสตร์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกฝนวิธีการทางคณิตศาสตร์จนชำนาญ และจำต้องเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์ให้ถ่องแท้เสียก่อนเพราะดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นหลักในการพยากรณ์ที่แม่นยำ

หลังจากสุริยุปราคาที่หว้าก้อ ๗ ปี ก็ได้เกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเหนือฟากฟ้าสยามอีกครั้งในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๘ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่แหลมเจ้าลาย จ.เพชรบุรี โดยกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔) ทรงคำนวนถวายด้วยตำรายุโรป สรรพคราสครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้คณะนักดาราศาสตร์อังกฤษ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ และเซอร์แฮรี ลอร์ด ผู้ว่าราชการสิงคโปร์เข้าร่วมสังเกตปรากฎการณ์ด้วย


            
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้เกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเสด็จฯ โดยชลมารคประทับเรือพระที่นั่งจักรี จากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ก่อนวันเกิดคราส ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมค่ายนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษและชาวเยอรมัน
 

​​​​​​​            


          ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีปรากฎการณ์สุริยุปราคา ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ มีคณะนักดาราศาสตร์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาทำการสำรวจและวิจัยโดยตั้งกล้องที่พระราชวังบางปะอิน โดยมีสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ กรมหลวงสงขลาราชนครินทร์ เสด็จทอดพระเนตรปรากฎการณ์ในครั้งนี้ด้วย สรรพคราสครั้งต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) เสด็จฯ ทอดพระเนตร ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีหน่วยวิจัยดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปตั้งกล้องสังเกตการณ์ สำรวจและวิจัยด้วย พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้าอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการตื่นตัวด้านวิทยาศาสตร์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลทำให้รัฐบาลได้จัดตั้งองค์การมหาชนด้านดาราศาสตร์ขึ้น ชื่อสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เพื่อค้นคว้าศึกษาวิจัยปรากฏการณ์บนท้องฟ้าและดวงดาว ทั้งยังเสด็จฯ ทอดพระเนตรปรากฏการณ์บนท้องฟ้าในทุกโอกาส หากไม่ทรงติดพระราชภารกิจ

นับเป็นโชคของคนไทยอย่างหาที่สุดมิได้ ที่มีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินที่ทรงสนพระทัยศาสตร์บนท้องฟ้ามาหลายยุคหลายสมัย เหนืออื่นใดทรงนำพสกนิกรไทยให้ใส่ใจเรียนรู้ ศึกษา พัฒนาความคิด ต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปอย่างไม่มีสิ้นสุด


ที่มาข้อมูล : วารสารวัฒนธรรม ฉบับที่ ๒ ปี ๒๕๖๒
https://magazine.culture.go.th/2019/2/index.html
#คุณยายกลิ่นโสม
#ยายกลิ่นเล่าเรื่องจากเรือนดาว
#โหราศาสตร์ไทยเรียนง่ายกว่าที่คิด
#เรียนโหราศาสตร์ไทยสไตล์คุณยายกลิ่นฯ
#อ่านดวงไทยสบายสบาย ตามสไตล์คุณยายกลิ่นโสม
#โหราศาสตร์ไทยเรียนด้วยตนเองฉบับคุณยายกลิ่นโสม   
#เรียนโหราศาสตร์ไทยฟรี ที่เวปนี้นะ:: htthttp://www.baankhunyai.com
  --------------------  
 
Visitors: 171,938