ตำนาน พระพุธ

 
          
           พระพุธ(๔) 

     พระพุธถือเป็นเทพเจ้าแห่งวาจาและพาณิชย์ แต่เรื่องกำเนิดพระพุธก็ยุ่งยากอย่างเดียวกับเทพองค์อื่นๆ นั่นแหละ คือบางตำนานก็ว่าเป็นโอรสของ พระจันทร์ กับนางดารา ซึ่งได้เล่าแล้วตอนว่าด้วยพระพฤหัสบดี บางตำนานก็ว่าเป็นบุตรของ พระจันทร์ เกิดกับนาง โรหิณี ซึ่งเป็นชายาคนโปรดของพระจันทร์เอง ดังที่ได้เล่าไว้ในเรื่องพระจันทร์แล้ว บางตำนานว่าพระอิศวรเป็นเจ้าสร้างพระพุธขึ้นจากช้าง ๑๗ ตัว เอามาป่นแล้วประพรมด้วยน้ำอมฤต ก็บังเกิดเป็นองค์เทพบุตรคือพระพุธ สีกายเป็นสีแก้วมรกต บางทีก็ว่าสีโมรา มีวิมานเป็นสีมณี และมีช้างเป็นพาหนะ

     ในหนังสือ เฉลิมไตรภพ ซึ่งเป็นหนังสือหาอ่านยากมากครับ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

    สั่งสุวกำเลือกสรร        สิบเจ็ดคชพันธุ์
มาพลันยังโรงพิธี
เลือกสรรฉัททันต์อันดี      เชื้อวงศ์พงพี
นุภาพเรี่ยวแรงแหงหาญ
ครบทั้งสิบเจ็ดคชสาร       ถวายองค์ทรงญาณ
โองการพระเวทศักดา
ลมกรดพัดต้องกายา        สิบเจ็ดคชา
นั้นแหลกละเอียดอณู
ห่อผ้าสีแดงงามตรู          น้ำทิพย์พรมพรู
อณูเป็นองค์เทพา
ทรงเครื่องรุ่งเรืองกายา     สีแก้วโมรา
นามว่าพระพุธพุทโฒ

     กล่าวกันว่า ชนชาติอริยกะเป็นพวกที่สนใจในเรื่องดาราศาสตร์มาก เดิมได้จัดดาวเคราะห์เป็น ๕ เรียกว่า ปัญจนาคา คือ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ ต่อมาจัด พระอาทิตย์ พระจันทร์ รวมเข้าไปด้วย ก็รวมเป็น ๗ เรียกว่า “สัปตนาคา” แล้วจึงเอามาตั้งเป็นนามวัน คือเป็นวันอาทิตย์ วันจันทร์ ฯลฯ

    ส่วนฤดูกาลนั้น พวกอริยกะจัดเป็น ๖ ฤดู แล้วก็มอบหน้าที่ให้ดาวพระเคราะห์มีหน้าที่รักษา กล่าวคือ

พระจันทร์  รักษาฤดูศารท (ใบไม้ร่วง)
พระอังคาร  รักษาฤดูวรรษ (ฝน)
พระพุธ  รักษาฤดูเหมันต์ (หนาว)
พระพฤหัสบดี  รักษาฤดูศิศิระ (หนาว)
พระศุกร์  รักษาฤดูครีษมะ (ร้อน)
พระเสาร์  รักษาฤดูวสันต์ (ดอกไม้ผลิ) 

     ข้างต้นนี้ ผมเก็บความจากหนังสือ พจนะ-สารานุกรม ของ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร แต่ในหนังสือ เทวกำเนิด ของ พระยาสจจาภิรมย์ ว่าต่างไปอีก คือเป็นดังนี้

พระจันทร์  รักษาฤดูวรรษ (ฝน)
พระอังคาร  รักษาฤดูครีษมะ (ร้อน)
พระพุธ  รักษาฤดูศารท (ใบไม้ร่วง)
พระพฤหัสบดี  รักษาฤดูเหมันต์ (หนาวต้น)
พระศุกร์ รักษาฤดูวสันต์ (ใบไม้ผลิ)
พระเสาร์  รักษาฤดูศิศิระ (หนาวปลาย)

ก็ออกจะแตกต่างกันครับ ไม่รู้ว่าอะไรจะถูกแน่หรือต่างกระแสต่างตำนานต่างคัมภีร์กันก็ไม่รู้ได้ ความจริงในอินเดียนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอธิบายไว้ใน อภิธานศกุนตลา ไว้ว่ามีเพียง ๔ ฤดู เท่านั้น คือมีความตอนหนึ่งว่า

     วสันต์-ฤดูดอกไม้ผลิ ตรงกับที่อังกฤษเรียกว่าสปริง (Spring) ในเมืองเรามักเข้าใจผิดกันเสียว่าเป็นฤดูฝน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอันเกิดจากความรู้น้อย รู้จักฤดูเพียงสาม คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาว นามแห่งฤดูทั้ง ๓ นี้เรียกตามสันสกฤต คือ ๑. ครีษมะ=ร้อน ๒. วรรษา=ฝน ๓. เหมันต์=หนาว แต่ข้างมัธยมประเทศและประเทศที่เหนือๆ มักแบ่งฤดูเป็น ๔ คือ ๑. วสันต์=ใบไม้ผลิ ๒. ครีษมะ=ร้อน ๓. ศารท=ใบไม้ร่วง ๔. เหมันต์=หนาว

     เรื่องพระพุทปรากฎในคัมภีร์รามยณะเหมือนกัน กล่าวคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “บ่อเกิดรามเกียรติ์” อยู่ในอุตรกัณฑ์ และ พระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) นำมาแต่งเป็นเรื่อง อิลราชคำฉันท์ ซึ่งถือเป็นวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ผมก็เลยขอเล่าเรื่องย่อของเรื่องนี้เสียเลย

     ขอแถลงเรื่องพระนารายณ์อวตารลงเป้นพระรามจันทร์ เมื่อทรงปราบเหล่าพาลเสร็จแล้ว ประชาชนแห่งนครศรีอยุธยาอันเป็นนครหลวงก็มีแต่ความร่มเย็น พระองค์ทรงดำริจะสมโภชพระนครด้วยพิธีราชสูยะ พระภรตผู้อนุชาทรงทูลคัดค้านพระลักษณ์ทรงเสริมว่า ควรประกอบพิธีอัศวเมธ และทรงอ้างเรื่องราวว่า เมือพระอินทร์ทรงปราบพฤตาสูร ก็ทรงประกอบพิธีอัศวเมธนี้ พระรามจันทร์ทรงเห็นชอบด้วยและทรงเล่าเรื่องท้าวอิลราชให้พระอนุชาได้สดับ

     ยังมีกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าท้าวอิลราช ทรงครองเมืองพลหิทรงเป็นโอรสพระกรรทมปชาบดีพรหมบุตร ท้าวอิลราชเสด็จประพาสป่า ทรงเพลิดเพลินกับธรรมชาติจนหลงเข้าไปที่ลับเฉพาะของพระอิศวรกับพระอุมา ซึ่งขณะนั้นพระอิศวรกับพระอุมาทรงประทับอยู่ และพระอิศวรทรงหยอกล้อพระอุมา โดยทรงจำแลงพระกายเป็นหญิง ด้วยอำนาจพระเวทของพระองค์ทำให้บรรดาสัตว์ต่างๆ ในบริเวณนั้นกลายเป็นตัวเมียหมด ท้าวอิลราชกลายเป็นนางอิลา มีความตกใจเป็นอันมาก ได้เสด็จเข้าเฝ้าพระอิศวรเพื่อขออภัยโทษ พระอิศวรกริ้ว พระอุมาทรงมีพระเมตตาผ่อนผันโทษ โดยให้เป็นชาย ๑ เดือน หญิง ๑ เดือน สลับกันไป และขณะที่เป็นชายก็ให้ลืมเรื่องราวตอนที่เป็นหญิง ขณะที่เป็นหญิงก็ลืมเรื่องราวที่เป็นชาย ส่วนที่เป็นหญิงก็มีความงามเป็นเลิศ

     ต่อมานางอิลาและคณานางทั้งหลายหลงทางไปยังที่พระพุธบำเพ็ยพรตอยู่ พระพุธเห็นความงามของนางอิลาตบะก็แตก พานางไปในอาศรมและได้นางอิลาเป็นชายา ซึ่งตอนนี้นางอิลาก็สลับเพศเดือนต่อเดือน แต่ไม่ทราบเรื่องราวอะไร จนนางอิลาตั้งครรภ์ และมีโอรสชื่อท้าวปุรุรพ ต่อมาพระพุธได้ช่วยกับบรรดาฤาษีชีพราหมณ์ประกอบพิธีอัศวเมธล้างบาปของนางอิลา พระอิศวรพอพระทัยทรงประทานโทษให้นางอิลาก็เป็นท้าวอิลราชตามเดิม ต่อมาท้าวอิลราชทรงมอบเมืองพลหิให้ท้าวกัสพินท์โอรสองค์ใหญ่ปกครอง และสร้างเมืองปฏิฐานหรือเมืองประดิษฐานให้ท้าวปุรุรพซึ่งเป็นโอรสของพระองค์ขณะเป็นนางอิลาเกิดกับพระพุธปกครอง พระปุรุรพนับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งจันทรวงศ์ เมืองประดิษฐานนี้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมนา ตรงข้ามกับเมืองอาลาฮาบัดในปัจจุบัน ตามตำนานว่าเมืองนี้ต่อมาได้แยกเป็นสองวงศ์ อีกวงศืหนึ่งไปครองนครใหม่ชื่อหัสดินปุระ และเกิดแย่งอำนาจกัน เกิดสงครามใหญ่โตเรียกว่ามหาภารตยุทธ

     ครับ เห็นจะต้องแทรกศัพท์อะไรไว้หน่อย เพราะในวรรณคดีไทยมีกล่าวอยู่หลายเรื่อง คือ พิธีราชสูยะ และ พิธีอัศวเมธ

     พิธีราชสูยะ  มีอธิบายในหนังสือเรื่องพระศุนหเศปของ ร.๖ ดังนี้ พิธีราชสูยะนั้นใช้สำหรับงานเถลิงรัชแห่งพระราชาธิบดี ผู้ที่ได้ทรงมีชัยชำนะฤาได้ทรงแผ่อานุภาพโดยอาการอื่น จนได้เป็นใหญ่เหนือบรรดาพระราชาทั้งปวง คือเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พิธีนี้ก็คล้ายพิธีราชาภิเษก ซึ่งพระราชากระทำทุกๆ องค์ แต่เป็นพิธีใหญ่กว่า และมักจะมีงานอยู่ปีหนึ่งเต็ม บางทีก็หลายปีกว่าจะเสร็จการ ในระหว่างนั้นมักกระทำพลีกรรมและยัญพิธีต่างๆ ซึ่งเป็นลัทธิฤาประเพณีสำหรับชนบทต่างๆ ที่จะได้มารวมอยู่ในราชอาณาจักรแห่งพระราชาธิบดีผู้กระทำพิธีราชสูยะนั้น และชนต่างพรรณต่างภาก็ได้มีโอกาสมาพบปะสมาคมกันในระหว่างเวลาที่มาช่วยงาน

     พิธีอัศวเมธ  มีอธิบายทั้งในเรื่องศุนหเศป บ่อเกิดรามเกียรติ์และเรื่องลิลิตนารายณ์สิบปาง ของ ร. ๖ จะขอเก็บความจากเรื่องหลังเท่านั้น พิธีอัศวเมธเป็นพิธีสำคัญอันมีกำหนดไว้ว่า ให้ทำเพื่อขอพรพระเป็นเจ้าในเมื่อปรารถนาอะไรสำคัญมากๆ พิธีอัศวเมธนี้เฉพาะแต่พระราชาธิบดีจึงจะทำได้ และในโบราณกาลสมัยเป็นพิธีขอลูกเท่านั้น แต่ต่อๆ มากลายเป็นพิธีแผ่อำนาจไป เริ่มต้นลงมือทำพิธีเรียกว่า “อัคนิษโฎม” คือพิธีบูชาไฟ และฉลองม้าตัวสำคัญ แล้วปล่อยม้านั้นให้เดินทางไปในแคว้นต่างๆ มีกองทัพตามไปด้วย เมื่อม้าไปถึงแห่งใด ผู้ครองแว่นแคว้นนั้นต้องกระทำการเคารถ หรือมิฉะนั้นก็ต้องสู้รบกับกองทัพที่ตามม้านั้นไป เมื่อม้าได้เที่ยวครบหนึ่งปีแล้วจึงพากลับพระนคร และพระราชาผู้เป็นเจ้าของม้าทำพิธีฉลองเป็นการใหญ่ แล้วฆ่าม้าสำคัญนั้นบูชายัญ พระอัครมเหสีของพระราชาต้องเป็นผู้ลงมือฆ่าม้า แล้วต้องเผาศพม้าอยู่ตลอดคืน พร้อมด้วยมเหสีรองและพระสนมกำลัล เช้าขึ้นจึงสรงชำระพระกายแล้วขึ้นเฝ้าพระราชสามี ทางไสยศาสตร์นิยมกันว่า ถ้าพระราชาองค์ใดกระทำพิธีอัศวเมธได้ร้อยครั้งจักได้เป็นพระอินทร์ ครอบครองเทวดาแลมนุษย์ทั่วไป

     ครับ ผมอดแทรกเรื่องวรรณคดีเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อผู้อ่านที่กำลังเรียนอยู่ครับ ได้จังหวะเหมาะตอนใดผมก็จะแทรกละ คงไม่เป็นไรนักหนาไม่ใช่หรือ   เอาละ หันมาเรื่องพระพุธต่อ พระพุธมีลักษณะเป็นรูปฤาษี มีสีกายเขียวอย่างแก้วมรกต มีรัศมีเป็นสีขาวดุจปรอท มือข้างหนึ่งถือขอช้าง และมีช้างเป็นพาหนะ



    ขอขอบคุณที่มา : รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร                           : https://www.silpathai.net/%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9e%e0%b8%b8%e0%b8%98%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%9e%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2/






   #คุณยายกลิ่นโสม  102100142 141450
   #เรียนดวงไทยฟรีที่บ้านคุณยายกลิ่นโสม323
   #โหราศาสตร์ไทยเรียนด้วยตนเอง ได้ที่ #htthttp://www.baankhunyai.com 322141
     -----------------------   
   ดูดวงติดต่อ : baankunyai 102100

  
Visitors: 171,204