ตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ

[ความรู้เรื่องปักขคณนา ตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ: ว่าด้วย Review หนังสือ]


 
วันนี้ วันกาบสัน พฤหัสบดีที่ ๒๗ เมษายน
เดือน ๖ (วิสาขมาส) ขึ้น ๒ ค่ำ พุทธศักราช ๒๕๖๐
ปีระกา นพศก เมืองเร้า จุลศักราช ๑๓๗๙
รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๖
ปีที่ ๒ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ

อิทานิ สตฺตมีภูเต
มหนฺเตเยว สมฺพฺยุเห
จตุตฺถสฺเสว พฺยุหสฺส
อนฺติเม สมุเห อยํ
ปจฺฉิมสฺเสว วคฺคสฺส
ปกฺเข ปฐมสญฺหิเต
ปวตฺตติ ปจฺจุปฺปนฺโน
กาโล กลฺยูปลกฺขิโตติฯ

ขึ้นเดือนหกทั้งที แต่ผมก็ยังไม่ค่อยจะมีประเด็นนำเสนอในที่นี้เสียเท่าไหร่ครับ ก็ขออนุญาตทุกท่านมา Review หนังสือเกี่ยวกับปฏิทินไทยที่น่าสนใจบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

ตามหัวข้อที่ยกมาเลยครับ หนังสือ "ความรู้เรื่องปักขคณนา ตำราการคำนวณปฏิทินทางจันทรคติ" มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) และพระเทพวิสุทธิญาณ (อุบล นนฺทโก) เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒

หนังสือเล่มนี้ ผมบอกได้เลยครับว่าเป็นหนังสือตำรา "ต้องอ่าน" สำหรับใครก็ตามที่สนใจเรื่องของปฏิทินจันทรคติไทย เพราะหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมข้อเขียนสำคัญ ๆ จากปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิทินจันทรคติไทยหลายพระองค์และหลายท่าน ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และคู่ควรแก่การศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงอย่างยิ่งครับ

ในส่วนของ "พระบรมราชาธิบาย อธิกมาศ อธิกวาร และปักขคณนาวิธี" ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หนังสือเล่มนี้ก็ได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์มาตีพิมพ์ถึงสามบทด้วยกันครับ บทแรก "ตำราอธิกมาศ อธิกวาร แลปักขคณะนา" ถึงแม้ว่าจะเป็น "พระบรมราชาธิบาย" ถึงที่มาที่ไปของอธิกมาส อธิกวาร นำไปสู่ปักขคณนาที่ทรงสร้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็น "พระราชวิจารณ์" หลักเกณฑ์ว่าด้วยปฏิทินจันทรคติที่มีอยู่ ทั้งในพระวินัย รวมไปถึงในทางโหราศาสตร์ที่(เข้าใจว่า)มีการใช้ในเวลานั้นด้วย บทที่สอง "วิธีทำปักขคณนา" และบทที่สาม "วิธีปักขคณนา" โดยเนื้อหาสาระแล้วไม่ได้ต่างกันมาก เป็นพระราชนิพนธ์อธิบายวิธีการคำนวณปักขคณนา พร้อมที่มาที่ไปว่าตั้งต้นมาจากไหน อาจจะมีแตกต่างในรายละเอียดบ้าง เช่นตัวอย่างบทปักขคณนาวิธานคาถา ที่ทุกท่านเห็นของปักข์ปัจจุบันด้านบนนี้ ก็มาจากพระราชนิพนธ์ในบท "วิธีปักขคณนา" หรือในบท "วิธีทำปักขคณนา" ที่มีการกล่าวถึงความคลาดเคลื่อนระหว่างปักขคณนาและปฏิทินจันทรคติฝ่ายบ้านเมือง เป็นต้นครับ

ซึ่งในเล่มเดียวกันนี้ ก็ยังมีบท "ขยายความแห่งพระบรมราชาธิบาย" ซึ่งเขียนโดยอาจารย์พิพัฒน์ สุขทิศ ให้คำอธิบายถึงที่มาที่ไป เบื้องลึกเบื้องหลัง กว่าจะมาเป็นพระบรมราชาธิบายในรัชกาลที่ ๔ ทั้งสามบท พร้อมตัวอย่างการคำนวณ ที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจพระบรมราชาธิบายดั้งเดิมได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ข้อเขียน "หลักการวางอธิกมาสและอธิกวาร" ของพระยาบริรักษ์เวชชการ ก็เป็นอีกหนึ่งบทความที่น่าสนใจ สำหรับใครที่ต้องการทำความเข้าใจหลักการวางอธิกมาสและอธิกวารในปฏิทินจันทรคติไทยครับ ถ้าจะกล่าวไปแล้ว บทความนี้ก็เหมือนเป็นการ "ชำแหละ" กลไกของปฏิทินไทยออกมา ทั้งในเรื่องของอธิกมาสและอธิกวาร ว่ามีที่มาอย่างไร กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ใช้ได้จริงหรือไม่ ยังไม่นับรวมสถิติอธิกมาสอธิกวารกว่า ๒๐๐ ปี ที่ท่านผู้เขียนได้รวบรวมมาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์อีก ต้องบอกว่า "ห้ามพลาด" เลยทีเดียวครับ

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลาย ๆ บทความ หลาย ๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น "ปักษ์คณนาสำเร็จ" ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ใช้ปักขคณนาในรัชกาลที่ ๔ ที่บูรพาจารย์ได้คำนวณล่วงหน้า ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๓๙ ล่วงหน้าไปถึง ๒๐๐ ปี หรือจะเป็น "ปฏิทินปูมปักขคณนา" ของนายฉิ่ง แรงเพชร ที่รวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวกับการคำนวณทางโหราศาสตร์ ประกอบกับตัวอย่างปักขคณนาปีพุทธศักราช ๒๔๗๙ เพิ่มเติมเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับปักขคณนาได้ดียิ่งขึ้นไปครับ

สำหรับใครที่สนใจหนังสือเล่มนี้ ทางสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับห้องสมุดหนังสืออนุสรณ์งานศพ วัดบวรนิเวศวิหาร ก็ได้จัดทำหนังสือเล่มนี้ไว้ในรูปแบบ E-book ซึ่งทุกท่านสามารถเข้าไปอ่าน Online ได้ที่ archive.org/details/unset0000unse_d6m6 ครับ

ที่มา : https://www.facebook.com/SiamPratidin
#คุณยายกลิ่นโสม
#ยายกลิ่นเล่าเรื่องจากเรือนดาว
#โหราศาสตร์ไทยเรียนง่ายกว่าที่คิด
#เรียนโหราศาสตร์ไทยสไตล์คุณยายกลิ่นฯ
#อ่านดวงไทยสบายสบาย ตามสไตล์คุณยายกลิ่นโสม
#โหราศาสตร์ไทยเรียนด้วยตนเองฉบับคุณยายกลิ่นโสม   
#เรียนโหราศาสตร์ไทยฟรี ที่เวปนี้นะ:: htthttp://www.baankhunyai.com
  --------------------  
 
Visitors: 171,287